Skip to main content

ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

 
อย่างที่ใครๆ พูดกันคือ ฉากฮิตเลอร์เป็นเพียงฉากเล็กๆ และอยู่ในบริบทเดียวกันกับการปูพื้นตัวละครเอกคือเด็กที่ด้านหนึ่งเขาคงมีความสามารถสูงแต่อีกด้านคือความสำเร็จของเขามาจากการมีแม่ขี้โกงคอยอุปถัมภ์ ในแง่นี้ก็พออนุโลมได้ว่า ฮิตเลอร์เป็นสัญลักษณ์ด้านลบในหนังเรื่องนี้
 
เพียงแต่ที่เรื่องฮิตเลอร์เป็นประเด็นคือ การสื่อความคิดและพฤติกรรมด้านลบของเด็กคนนี้ด้วยภาพฮิตเลอร์เพียง 2-3 วินาทีนั้น ต้องการจงใจสื่อถึงอะไรหรือใครกันแน่ และแม้การจงใจที่จะสื่อถึงใครคนนั้นก็ตาม มันเหมาะสมหรือไม่ มันแสดงถึงการรับรู้และถ่ายทอดเรื่องฮิตเลอร์อย่างถูกต้องหรือไม่ หากหนังเรื่องนี้มุ่งที่การให้การศึกษา ก็จะต้องคิดถึงความละเอียดอ่อนของการใช้สัญลักษณ์ "ฮิตเลอร์" ให้มากกว่านี้
 
เอาล่ะ ผมจะขอข้ามประเด็นนี้ไป เพราะเถียงกันหลายที่แล้ว แต่ที่อยากกล่าวถึงคือ แม้จะตัดฉากฮิตเลอร์ออกไปเลยก็ตาม โดยรวมๆ แล้วหนังเรื่องนี้บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยส่วนหนึ่งบ้าง
 
ประเด็นใหญ่ของหนังเรื่องนี้คือเรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมา แต่แสดงความสับสนทางการเมืองของสังคมไทยขณะนี้ หนังเรื่องนี้ขึ้นต้นมาก็โปรยคำว่า "เรียนรู้ อธิปไตย ของประชา" คือตั้งใจจะสื่อเรื่องการเมืองโดยตรง ถ้าพยายามอ่านตามหนัง "อธิปไตย" จะหมายความว่าอำนาจอะไร "ประชา" คือใคร แล้วหนังเรื่องนี้แสดงปัญหาความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไร
 
ข้อแรกคือ "ชนชั้น" ทำไมหนังต้องดำเนินเรื่องใน "สังคมไฮโซ" จะสื่อว่า สังคมไฮโซเต็มไปด้วยคนโกงหรืออย่างไร ก็ไม่ใช่ เพราะเด็กที่เป็นตัวแทนความดีคือ "เด็กแขก" ในเรื่อง ก็อยู่ในสังคมไฮโซ ที่ผมมีคำถามนี้คือ หากฉายหนังเรื่องนี้ในหมู่บ้าน (ซึ่งผมไม่ได้จะบอกว่าชนบทไทยยังเป็นสังคมเกษตรดั้งเดิมยากจนแร้นแค้น) หนังเรื่องนี้จะสร้างค่านิยมที่ดีๆ ให้กับสังคมไทยบนฉากหลังของสังคมที่ห่างไกลกับผู้ชมส่วนใหญ่ขนาดนี้ได้อย่างไร
 
ผมนึกไม่ออกว่าชาวบ้านที่ผมไปสัมภาษณ์ในจังหวัดชัยภูมิ นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี เชียงใหม่ หรือแม้แต่นครปฐม จะจินตนาการการโกงของตนเองในการทำโครงงานส่งครูในโรงเรียนอย่างไร ผมนึกไม่ออกว่าเด็กบ้านนอกที่ภาคการศึกษาต่อไปโรงเรียนกำลังจะถูกยุบหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ จะจินตนาการตนเองในห้องเรียนสองภาษาอย่างไร 
 
หากจะสร้างสังคมในจินตนาการเพื่อให้การศึกษา ผมว่าสู้สร้างหนังด้วยตัวละครไดโนเสาหรือหนังเทพนิยายไปเลยยังดีกว่าเอาสังคมไฮโซมาตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยปัจจุบัน ถ้านี่คือความหมายของคำว่า "ประชา" ที่หนังพยายามสื่อถึง ผมว่าหนังนี้ก็ล้มเหลวที่จะพูดถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
 
ข้อต่อมา เรื่อง "ชาติพันธ์ุ" และนี่ก็คืออีกปัญหาหนึ่งของการให้ความหมาย "ประชา" ของหนังเรื่องนี้ การให้ "เด็กแขก" เป็นตัวละครที่เป็นลูกไล่ของ "เด็กหน้าขาวชื่อฝรั่งมีแม่หน้าฝรั่ง" นั้น แสดงค่านิยมที่ควรปรับปรุงไม่น้อยไปกว่าค่านิยม 12 ประการที่รัฐบาลต้องการสั่งสอนสังคมไทย หนังสั้นๆ แค่ 10 นาทีนี้ยังผลิตซ้ำความคิดที่ว่า ความสำเร็จและความล้มเหลวของสังคมดูได้จากเชื้อชาติ ลูกหน้าขาว (แม่หน้าฝรั่ง) ไม่ว่าจะดีหรือเลว ก็ยังคงเหนือลูกแขก 
 
จะว่าหน้าเด็กไม่สำคัญก็ไม่ได้ เพราะหนังสื่อชัดเจนโดยให้เด็กตัวละครเอกเรียกเพื่อนว่า "แขกตี้" (ซึ่งเมื่อผวนกลับยิ่งแย่) ส่วนตนเองนั้นก็พอกหน้าจนขาวจั๊วลอยเด่นเห็นชัดจนขัดกับเด็กแขกหน้าผิวสี แล้วอย่างนี้จะว่าสังคมไทยไม่ racist ไม่คลั่งเชื้อชาติได้อย่างไร เมื่อก่อนก็พยายามเกลียดจีนกันกระทั่งผู้นำที่เป็นลูกจีนเองก็ยังต้องเกลียดเชื้อชาติตนเอง แต่ขณะนี้เมื่อลูกจีนและอำนาจของจีนขึ้นเป็นใหญ่ ก็เถลิงความเป็นจีนหน้าข้าวขาวขึ้นเหนือแขกหน้าหมองคล้ำที่ยังคงมีฐานะทางชาติพันธ์ุต่ำอยู่เช่นเดิม 
 
คำถามต่อมาคือเรื่อง "อธิปไตย" ปมของหนังคือการโกงของแม่เพื่อความสำเร็จของลูก นั่นคือสิ่งที่ไม่ดี อธิปไตยคือการไม่โกง การทำตามกติกาที่สังคมกำหนดร่วมกันอย่างนั้นหรือ ในหนัง แม่โกงจะๆ ชัดๆ สองครั้ง ครั้งแรกคือหักไม้จิ้มฟันหลอกเพื่อนของเด็กหน้าขาว อีกครั้งคือเอาโมเดลที่ซื้อมาให้ลูกไปส่งแทนทำโครงงานเอง การโกงสองครั้งนี้ไม่เหมือนกัน ครั้งที่สองคือการโกงผิดกติกาของครู แต่ครั้งแรกคือการโกงผิดกติกาของแม่เองที่เขียนกติกาขึ้นมาแล้วโกง
 
ตกลงอธิปไตยคืออะไร คืออย่าโกง อย่าละเมิดกติกา ไม่ว่าจะเป็นกติกาที่ตนเองตั้งหรือกติกาที่สังคมตั้งขึ้นมา หรืออธิปไตยคือตัวกติกา ต้องเคารพกติกา แสดงว่าหนังเรื่องนี้ก็กำลังจะสื่อว่า รัฐประหารคือการโกง เพราะล้มกติกาที่เขียนกันขึ้นมาเอง อย่างนั้นหรือเปล่า คงไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้น การโกงของคนบางคนเท่านั้นที่ไม่ดีอย่างนั้นหรือ การโกงของ "คนดี" ถือว่าไม่โกงอย่างนั้นสินะ
 
ประเด็นสุดท้าย "การปรองดอง" ผมว่านี่เป็นประเด็นที่หนังสื่อได้สับสนมาก หรืออีกนัยหนึ่งคือการสะท้อนความสับปลับของสังคมไทยมาก หนังจบลงด้วยการที่เพื่อนคืนดีกัน แต่ปมสำคัญคือใครคือคนที่ยอมรับผิดก่อน ทั้งๆ ที่หนังพยายามสื่อว่าการโกงของแม่คือการผิดกติกา แต่สุดท้าย คนที่ยอมรับผิดกลับกลายเป็นคนที่ถูกละเมิดกติกา
 
ถ้ากติกาคืออธิปไตย คนถูกยึดอำนาจอธิปไตยคือคนที่ควรยอมรับผิดอย่างนั้นหรือ สังคมไทยควรให้อภัยคนที่ทำผิดกติกาอย่างนั้นหรือ สังคมไทยควรให้อภัยคนฉีกกติกา แล้วหันกลับมารักกัน เพื่อสังคมจะได้เดินหน้าต่อไป อย่างนั้นหรือ
 
หนังเรื่องนี้ล้มเหลวในการสื่อเรื่องใหญ่ๆ อย่างอธิปไตยและประชา แม้จะตัดปัญหาเรื่องฮิตเลอร์ออกไป ก็ยังแสดงความสับสนของสังคมไทย ว่าไม่เด็ดขาดในการยอมรับกติกา เอาคนโกงล้มกติกามาสอนกติกา เอาคนที่เชิดชูความเหลื่อมล้ำของชนชั้นมาสอนประชาชน ยกความรับผิดชอบให้คนถูกโกงต้องเริ่มการปรองดอง อย่างนี้จะมาสอนให้คนเรียนรู้อธิปไตยของประชาได้อย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน