Skip to main content

ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

 
อย่างที่ใครๆ พูดกันคือ ฉากฮิตเลอร์เป็นเพียงฉากเล็กๆ และอยู่ในบริบทเดียวกันกับการปูพื้นตัวละครเอกคือเด็กที่ด้านหนึ่งเขาคงมีความสามารถสูงแต่อีกด้านคือความสำเร็จของเขามาจากการมีแม่ขี้โกงคอยอุปถัมภ์ ในแง่นี้ก็พออนุโลมได้ว่า ฮิตเลอร์เป็นสัญลักษณ์ด้านลบในหนังเรื่องนี้
 
เพียงแต่ที่เรื่องฮิตเลอร์เป็นประเด็นคือ การสื่อความคิดและพฤติกรรมด้านลบของเด็กคนนี้ด้วยภาพฮิตเลอร์เพียง 2-3 วินาทีนั้น ต้องการจงใจสื่อถึงอะไรหรือใครกันแน่ และแม้การจงใจที่จะสื่อถึงใครคนนั้นก็ตาม มันเหมาะสมหรือไม่ มันแสดงถึงการรับรู้และถ่ายทอดเรื่องฮิตเลอร์อย่างถูกต้องหรือไม่ หากหนังเรื่องนี้มุ่งที่การให้การศึกษา ก็จะต้องคิดถึงความละเอียดอ่อนของการใช้สัญลักษณ์ "ฮิตเลอร์" ให้มากกว่านี้
 
เอาล่ะ ผมจะขอข้ามประเด็นนี้ไป เพราะเถียงกันหลายที่แล้ว แต่ที่อยากกล่าวถึงคือ แม้จะตัดฉากฮิตเลอร์ออกไปเลยก็ตาม โดยรวมๆ แล้วหนังเรื่องนี้บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยส่วนหนึ่งบ้าง
 
ประเด็นใหญ่ของหนังเรื่องนี้คือเรื่องการเมืองอย่างตรงไปตรงมา แต่แสดงความสับสนทางการเมืองของสังคมไทยขณะนี้ หนังเรื่องนี้ขึ้นต้นมาก็โปรยคำว่า "เรียนรู้ อธิปไตย ของประชา" คือตั้งใจจะสื่อเรื่องการเมืองโดยตรง ถ้าพยายามอ่านตามหนัง "อธิปไตย" จะหมายความว่าอำนาจอะไร "ประชา" คือใคร แล้วหนังเรื่องนี้แสดงปัญหาความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไร
 
ข้อแรกคือ "ชนชั้น" ทำไมหนังต้องดำเนินเรื่องใน "สังคมไฮโซ" จะสื่อว่า สังคมไฮโซเต็มไปด้วยคนโกงหรืออย่างไร ก็ไม่ใช่ เพราะเด็กที่เป็นตัวแทนความดีคือ "เด็กแขก" ในเรื่อง ก็อยู่ในสังคมไฮโซ ที่ผมมีคำถามนี้คือ หากฉายหนังเรื่องนี้ในหมู่บ้าน (ซึ่งผมไม่ได้จะบอกว่าชนบทไทยยังเป็นสังคมเกษตรดั้งเดิมยากจนแร้นแค้น) หนังเรื่องนี้จะสร้างค่านิยมที่ดีๆ ให้กับสังคมไทยบนฉากหลังของสังคมที่ห่างไกลกับผู้ชมส่วนใหญ่ขนาดนี้ได้อย่างไร
 
ผมนึกไม่ออกว่าชาวบ้านที่ผมไปสัมภาษณ์ในจังหวัดชัยภูมิ นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี เชียงใหม่ หรือแม้แต่นครปฐม จะจินตนาการการโกงของตนเองในการทำโครงงานส่งครูในโรงเรียนอย่างไร ผมนึกไม่ออกว่าเด็กบ้านนอกที่ภาคการศึกษาต่อไปโรงเรียนกำลังจะถูกยุบหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ จะจินตนาการตนเองในห้องเรียนสองภาษาอย่างไร 
 
หากจะสร้างสังคมในจินตนาการเพื่อให้การศึกษา ผมว่าสู้สร้างหนังด้วยตัวละครไดโนเสาหรือหนังเทพนิยายไปเลยยังดีกว่าเอาสังคมไฮโซมาตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยปัจจุบัน ถ้านี่คือความหมายของคำว่า "ประชา" ที่หนังพยายามสื่อถึง ผมว่าหนังนี้ก็ล้มเหลวที่จะพูดถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
 
ข้อต่อมา เรื่อง "ชาติพันธ์ุ" และนี่ก็คืออีกปัญหาหนึ่งของการให้ความหมาย "ประชา" ของหนังเรื่องนี้ การให้ "เด็กแขก" เป็นตัวละครที่เป็นลูกไล่ของ "เด็กหน้าขาวชื่อฝรั่งมีแม่หน้าฝรั่ง" นั้น แสดงค่านิยมที่ควรปรับปรุงไม่น้อยไปกว่าค่านิยม 12 ประการที่รัฐบาลต้องการสั่งสอนสังคมไทย หนังสั้นๆ แค่ 10 นาทีนี้ยังผลิตซ้ำความคิดที่ว่า ความสำเร็จและความล้มเหลวของสังคมดูได้จากเชื้อชาติ ลูกหน้าขาว (แม่หน้าฝรั่ง) ไม่ว่าจะดีหรือเลว ก็ยังคงเหนือลูกแขก 
 
จะว่าหน้าเด็กไม่สำคัญก็ไม่ได้ เพราะหนังสื่อชัดเจนโดยให้เด็กตัวละครเอกเรียกเพื่อนว่า "แขกตี้" (ซึ่งเมื่อผวนกลับยิ่งแย่) ส่วนตนเองนั้นก็พอกหน้าจนขาวจั๊วลอยเด่นเห็นชัดจนขัดกับเด็กแขกหน้าผิวสี แล้วอย่างนี้จะว่าสังคมไทยไม่ racist ไม่คลั่งเชื้อชาติได้อย่างไร เมื่อก่อนก็พยายามเกลียดจีนกันกระทั่งผู้นำที่เป็นลูกจีนเองก็ยังต้องเกลียดเชื้อชาติตนเอง แต่ขณะนี้เมื่อลูกจีนและอำนาจของจีนขึ้นเป็นใหญ่ ก็เถลิงความเป็นจีนหน้าข้าวขาวขึ้นเหนือแขกหน้าหมองคล้ำที่ยังคงมีฐานะทางชาติพันธ์ุต่ำอยู่เช่นเดิม 
 
คำถามต่อมาคือเรื่อง "อธิปไตย" ปมของหนังคือการโกงของแม่เพื่อความสำเร็จของลูก นั่นคือสิ่งที่ไม่ดี อธิปไตยคือการไม่โกง การทำตามกติกาที่สังคมกำหนดร่วมกันอย่างนั้นหรือ ในหนัง แม่โกงจะๆ ชัดๆ สองครั้ง ครั้งแรกคือหักไม้จิ้มฟันหลอกเพื่อนของเด็กหน้าขาว อีกครั้งคือเอาโมเดลที่ซื้อมาให้ลูกไปส่งแทนทำโครงงานเอง การโกงสองครั้งนี้ไม่เหมือนกัน ครั้งที่สองคือการโกงผิดกติกาของครู แต่ครั้งแรกคือการโกงผิดกติกาของแม่เองที่เขียนกติกาขึ้นมาแล้วโกง
 
ตกลงอธิปไตยคืออะไร คืออย่าโกง อย่าละเมิดกติกา ไม่ว่าจะเป็นกติกาที่ตนเองตั้งหรือกติกาที่สังคมตั้งขึ้นมา หรืออธิปไตยคือตัวกติกา ต้องเคารพกติกา แสดงว่าหนังเรื่องนี้ก็กำลังจะสื่อว่า รัฐประหารคือการโกง เพราะล้มกติกาที่เขียนกันขึ้นมาเอง อย่างนั้นหรือเปล่า คงไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้น การโกงของคนบางคนเท่านั้นที่ไม่ดีอย่างนั้นหรือ การโกงของ "คนดี" ถือว่าไม่โกงอย่างนั้นสินะ
 
ประเด็นสุดท้าย "การปรองดอง" ผมว่านี่เป็นประเด็นที่หนังสื่อได้สับสนมาก หรืออีกนัยหนึ่งคือการสะท้อนความสับปลับของสังคมไทยมาก หนังจบลงด้วยการที่เพื่อนคืนดีกัน แต่ปมสำคัญคือใครคือคนที่ยอมรับผิดก่อน ทั้งๆ ที่หนังพยายามสื่อว่าการโกงของแม่คือการผิดกติกา แต่สุดท้าย คนที่ยอมรับผิดกลับกลายเป็นคนที่ถูกละเมิดกติกา
 
ถ้ากติกาคืออธิปไตย คนถูกยึดอำนาจอธิปไตยคือคนที่ควรยอมรับผิดอย่างนั้นหรือ สังคมไทยควรให้อภัยคนที่ทำผิดกติกาอย่างนั้นหรือ สังคมไทยควรให้อภัยคนฉีกกติกา แล้วหันกลับมารักกัน เพื่อสังคมจะได้เดินหน้าต่อไป อย่างนั้นหรือ
 
หนังเรื่องนี้ล้มเหลวในการสื่อเรื่องใหญ่ๆ อย่างอธิปไตยและประชา แม้จะตัดปัญหาเรื่องฮิตเลอร์ออกไป ก็ยังแสดงความสับสนของสังคมไทย ว่าไม่เด็ดขาดในการยอมรับกติกา เอาคนโกงล้มกติกามาสอนกติกา เอาคนที่เชิดชูความเหลื่อมล้ำของชนชั้นมาสอนประชาชน ยกความรับผิดชอบให้คนถูกโกงต้องเริ่มการปรองดอง อย่างนี้จะมาสอนให้คนเรียนรู้อธิปไตยของประชาได้อย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร