Skip to main content

เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว

 
ชื่อนิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวางก็ด้วยมติชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิตยสารสำคัญคือ "ศิลปวัฒนธรรม" ผมคิดว่า "ศิลปวัฒนธรรม" และอาจารย์นิธิได้ร่วมกันสร้างความหมายหนึ่งให้กับ "วัฒนธรรม" ในสังคมไทย คือการทำให้วัฒนธรรมเป็นเรื่องร้อยแปดสารพัดอย่าง ไม่ใช่จะต้องเป็นเรื่อง "ความเจริญงอกงาม" ตามนิยามแบบเก่าเท่านั้น ผมว่าถ้าจะมีสำนัก cultural studies ของไทยขึ้นมาสักสำนัก อาจารย์นิธิและศิลปวัฒนธรรมนี่แหละที่จะเป็นขุมความรู้สำคัญของสำนักนี้
 
อาจารย์มานุษยวิทยาที่ผมเคารพมากท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า ในการสอบเข้านักศึกษาปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ที่ผ่านมานับสิบปี หากถามนักศึกษาว่าประทับใจงานเขียนทางวิชาการของใครบ้าง ชื่อนิธิ เอียวศรีวงศ์ก็มักจะเป็นชื่อแรกๆ ผมเองก็เคยเจอแบบนั้นบ่อยๆ และเมื่อถามนักศึกษาว่า แล้วคุณมีอะไรโต้เถียงหรือเห็นแย้งกับแนวคิดอาจารย์นิธิไหม นักศึกษาก็มักจะตอบว่า "ไม่มีหรอกครับ/ค่ะ เพราะนี่อาจารย์นิธิพูดนะครับ/คะ"
 
จะว่าไป อาจารย์นิธิน่าจะเป็นหนึ่งในเป้าใหญ่ของการทำงานทางวิชาการของนักวิชาการรุ่นหลังหลายๆ คนรวมทั้งผมเองก็อาศัยการถกเถียงกับงานเขียนของอาจารย์นิธิเพื่อเป็นฐานในการคิดต่อยอดไปสู่อะไรใหม่ๆ เรียกว่าหากพบอะไรที่อาจารย์นิธิยังไม่ได้คิด ยังไม่ได้เขียน แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกันประเด็นเดียวกันกับที่อาจารย์เขียนแล้วก็ตาม นั่นก็นับว่ามีวาสนาอย่างที่สุดแล้ว 
 
ในระยะหลังที่อาจารย์เขียนบทวิจารณ์การเมืองไทยมากขึ้น ทัศนะทางการเมืองของอาจารย์ก็ยิ่งมักถูกวิจารณ์ตรวจสอบอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ที่ทำให้ผมนับถืออาจารย์นิธิยิ่งขึ้นไปอีกไม่ใช่เพียงความกล้าหาญต่อกรกับผู้มีอำนาจผ่านการคิด การเขียน แต่อาจารย์ยังเป็นผู้ใหญ่ที่กล้าวิจารณ์ผู้ใหญ่ แบบซึ่งหน้า ตรงไปตรงมา บทความลง "มติชน" หลังรัฐประหารในแนวนี้หลายชิ้นนับเป็นชุดผลงานที่ต้องเก็บไว้ในทำเนียบประวัติศาสตร์ปัญญาชนสยามที่มีการเปิดวิวาทะอย่างเข้มข้นทีเดียว
 
ย้อนกลับมาที่งาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่น่ายินดีอีกอย่างคือ กองทัพไทยละเว้นไม่บุกรุกล้ำพื้นที่งานนี้ ต่างกับการจัดงานวิชาการในมหาวิทยาลัยขณะนี้ที่ต้องขออนุมัติจากทหารก่อน ต่างจากงานเวทีเสวนาของชาวบ้านในท้องถิ่นที่อาจถูกบุกเข้าไปให้ระงับได้ง่ายๆ ต่างจากงานระลึกโอกาสต่างๆ ของปัญญาชนฝ่ายประชาธิปไตย ที่ถูกทหารไปข่มขู่เสมอมา
 
นี่ก็แสดงว่า มติชนได้เข้ามาทำบทบาทเป็นสถาบันทางวิชาการแทนที่มหาวิทยาลัยที่เข้าไปรับใช้เผด็จการกันเต็มที่แล้ว งานที่มติชนเมื่อวานจึงกลายเป็นงานแสดงพลังเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นภายใต้กฎอัยการศึกงานเดียวกระมังที่ไม่มีเสียงข่มขู่คุกคามจากทหาร
 
ในด้านหนึ่ง นี่ก็นับเป็นความกล้าหาญของมติชน ในอีกด้านหนึ่ง ก็ชี้ให้เห็นว่าหากสื่อมวลชนยืนยันบทบาทการรักษาพื้นที่เสรีภาพทางความเห็น สังคมก็จะยิ่งยอมรับ และพร้อมกันนั้นก็น่าจะเป็นพลังต่อรองเพียงพอที่จะทัดทานการรุกล้ำพื้นที่ของสื่อมวลชน 
 
งาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" จึงเป็นทั้งหมุดหมายของวัฒนธรรมศึกษาแบบไทยและหมุดหมายของการสร้างพื้นที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์