Skip to main content

สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 

 
แรกเลยคือการได้พบเจอลูกๆ ของอาจารย์ที่เคยเรียนด้วย เด็กๆ พวกนี้เมื่อก่อนพวกเขาก็โผล่หน้าแว๊บไปแว๊บมาเมื่อเราไปหาอาจารย์บ้าง หาเพื่อนๆ บ้าง ได้เห็นกันก็แค่ผ่านๆ หรือจะได้กินอาหารด้วยกัน เมื่อพวกเขาอิ่มแล้ว 7 ปีก่อนตอนเขาเป็นวัยรุ่นหรือยังเป็นเด็กเล็กๆ พวกเขาก็จะหายหน้ากันไปเข้าห้อง ไม่ก็ดูทีวี หรือไปวิ่งเล่น แทบไม่ได้คุยกัน
 
แต่เมื่อโตขึ้นถึงวันนี้ คนหนึ่งกำลังจะทำงานบริษัท กินเงินเดือนมากกว่าแม่ที่เป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย คนหนึ่งเลือกเส้นทางอุดมการณ์ทำงานการเมืองผลักดันนโยบายเพื่อคนรุ่นใหม่ คนหนึ่งทำงานบริษัทการเงินใหญ่โต อีกคนกำลังเรียนการออกแบบวิดีโอเกมส์
 
อีกคนเจริญรอยตามพ่อเป็นนักล่า เรียนเรื่องการล่าสัตว์ ซึ่งพ่อก้าวหน้าไปไกลถึงขั้นสามารถฆ่าหมีด้วยธนูดอกเดียวมาแล้ว อีกคนเคยถีบจักรยานทั่วสหรัฐฯ เพื่อระดมทุนการกุศลแล้วขณะนี้เป็นครูประวัติศาสตร์ อีกคนพาแฟนบุคคลิกแปลกจากชาวนาวิสคอนซินมาแนะนำครอบครัว ส่วนเด็กอีกคนเมื่อ 7 ปีก่อนยังแบเบาะ ขณะนี้นี้โดตขึ้นมาเป็นเด็กดื้อเหลือขอ
 
ชีวิตของพวกเพื่อนเองก็เปลี่ยนแปลงกันไปไม่ใช่น้อย เพื่อนคนหนึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ เกษียณอายุแล้ว อายุ 70 กว่า ขณะนี้ย้ายจากบ้านขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กมีอาณาบริเวณในชุมชนที่ใครๆ ก็อยากอยู่ ไปอยู่อพาทเมนท์ผู้สูงอายุ แถมภรรยายังต้องไปอยู่อีกที่หนึ่ง เป็นที่สำหรับดูแลผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลพิเศษ 
 
เมื่อได้ไปเยี่ยมทั้งสองแล้ว ก็ให้สะท้อนใจกับชีวิต และคิดถึงจุดจบของชีวิตที่ยุ่งยากยิ่งขึ้นทุกวัน เมื่อโลกเทคโนโลยีพัฒนาไปเรื่อยๆ คนสูงวัยก็กังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเมื่อไหร่ตนจะหมดอายุขัยสักที
 
เพื่อนอีกคู่หนึ่งมีชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างเหลือเชื่อ คนสามีออกจากงานใชัแรงงานหนัก มาเป็นคนจัดแต่งกะบะไม้ประดับ รวมทั้งช่วยภรรยาที่ทำงานอดิเรกอย่างขะมักเขม้น คือการทำกระถางประดับ ที่ออกแบบเก๋ไก๋เฉพาะตัวแต่ละชิ้นไม่เหมือนกัน ขณะนี้กำลังรุ่งมาก เดินทางออกร้านตามงานอาร์ตแฟร์ตามรัฐต่างๆ ไม่เว้นแต่ละเดือน 
 
จนเร็วๆ นี้สองสามีภรรยานี้กำลังคิดจะขายบ้านไปอยู่คอนโดฯ ส่วนภรรยายจะออกจากงาน เพื่อกลายเป็นศิลปินเต็มตัว ยิ่งได้ไปดูสตูดิโอสองคนนี้แล้วก็ให้ทึ่งในความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกับนับถือในความกล้าหาญที่คิดจะเปลี่ยนแปลงชีวิตในวัยปลาย 50 แล้ว
 
อีกคู่หนึ่งเป็นคนไทยที่มาใช้ชีวิตที่นี่หลายสิบปีแล้ว ทั้งคู่ทำงานหนัก สามีขณะนี้อายุ 80 กว่า ภรรยา 60 กว่า จนขณะนี้เกษียณแล้ว ไปซื้อบ้านหลังใหญ่อยู่นอกเมืองแมดิสัน บ้านอยู่ริมน้ำ บรรยากาศงดงามเหมาะกับบั้นปลายชีวิต สองสามีภรรยาไม่คิดจะกลับเมืองไทย ผิดกับคนไทยหลายๆ คนที่ลงแรงเก็บเงิน ฝันว่าสักวันจะกลับไปสบายในบั้นปลายที่เมืองไทย 
 
น่านับถือในความมุ่งมั่นทำมาหากินเก็บหอมรอมริบ น่าทึ่งกับสังคมเศรษฐกิจอเมริกันที่เปิดโอกาสให้คนใช้แรงงานที่มีวินัย สามารถมีชีวิตที่ดีไม่ต่างจากหรืออาจจะดีกว่าคนที่ร่ำเรียนสูงๆ ได้ แต่ก็น่าเห็นใจพี่ๆ คนไทยทั้งสองคนนี้ที่อย่างไรเสียพวกเขาก็ยังคงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในฐานะทางสังคมของตนเอง จึงไม่ค่อยคบเพื่อนฝรั่งเท่าไหร่นัก
 
เพื่อนอีกคนเลือกเส้นทางชีวิตที่น่าทึ่งตั้งแต่เมื่อหลายปีที่แล้ว และจนบัดนี้ก็ยังยืนยันใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ เขาเลือกอยู่กินกับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีลูกกับสามีที่เลิกกับเธอไป เพื่อนคนนี้เลี้ยงลูกภรรยาราวกับลูกตนเอง ส่วนเด็กคิดอย่างไรกับเขานั้น พอจะเดาได้แต่ก็ไม่อยากกล่าอะไรให้เพื่อนช้ำใจนัก 
 
ชีวิตเพื่อนคนนี้น่าทึ่งตั้งแต่รู้จักกันมากว่า 10 ปีแล้ว เขาเป็นคนไนจีเรีย ถูกเลี้ยงดูโดยคนขาวในอังกฤษ พูดอังกฤษทั้งสำเนียงและลีลาการใช้ภาษาแบบชาวอังกฤษที่มีการศึกษาสูง มาเริ่มทำงานในสหรัฐฯ ในอาชีพเซลแมน แล้วค่อยๆ เรียนเป็นนักบิน จนปัจจุบันเป็นนักบินมือหนึ่งของสายการบินอเมริกันมานานเกือบ 10 ปีแล้ว บินทั้งภายในและต่างประเทศ น่าทึ่งที่สังคมนี้เปิดโอกาสให้คนที่ต่อสู้สามารถเปลี่ยนชีวิตได้มากขนาดนี้
 
ยากที่จะพูดคำส่งความสุขปีใหม่ปีนี้ แต่เมื่อได้เจอเพื่อนๆ และครูบาอาจารย์เก่าๆ ก็มีความสุขที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ถึงกับฉับพลันเลวร้ายนัก แต่ก็พอได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน สุดท้ายก็รู้สึกดีขึ้นมาบ้างที่ปีใหม่นี้ได้เข้าใจสังคมอเมริกันมากขึ้น และได้เรียนรู้ชีวิตมนุษย์มากขึ้น

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน