Skip to main content

สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 

 
แรกเลยคือการได้พบเจอลูกๆ ของอาจารย์ที่เคยเรียนด้วย เด็กๆ พวกนี้เมื่อก่อนพวกเขาก็โผล่หน้าแว๊บไปแว๊บมาเมื่อเราไปหาอาจารย์บ้าง หาเพื่อนๆ บ้าง ได้เห็นกันก็แค่ผ่านๆ หรือจะได้กินอาหารด้วยกัน เมื่อพวกเขาอิ่มแล้ว 7 ปีก่อนตอนเขาเป็นวัยรุ่นหรือยังเป็นเด็กเล็กๆ พวกเขาก็จะหายหน้ากันไปเข้าห้อง ไม่ก็ดูทีวี หรือไปวิ่งเล่น แทบไม่ได้คุยกัน
 
แต่เมื่อโตขึ้นถึงวันนี้ คนหนึ่งกำลังจะทำงานบริษัท กินเงินเดือนมากกว่าแม่ที่เป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย คนหนึ่งเลือกเส้นทางอุดมการณ์ทำงานการเมืองผลักดันนโยบายเพื่อคนรุ่นใหม่ คนหนึ่งทำงานบริษัทการเงินใหญ่โต อีกคนกำลังเรียนการออกแบบวิดีโอเกมส์
 
อีกคนเจริญรอยตามพ่อเป็นนักล่า เรียนเรื่องการล่าสัตว์ ซึ่งพ่อก้าวหน้าไปไกลถึงขั้นสามารถฆ่าหมีด้วยธนูดอกเดียวมาแล้ว อีกคนเคยถีบจักรยานทั่วสหรัฐฯ เพื่อระดมทุนการกุศลแล้วขณะนี้เป็นครูประวัติศาสตร์ อีกคนพาแฟนบุคคลิกแปลกจากชาวนาวิสคอนซินมาแนะนำครอบครัว ส่วนเด็กอีกคนเมื่อ 7 ปีก่อนยังแบเบาะ ขณะนี้นี้โดตขึ้นมาเป็นเด็กดื้อเหลือขอ
 
ชีวิตของพวกเพื่อนเองก็เปลี่ยนแปลงกันไปไม่ใช่น้อย เพื่อนคนหนึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ เกษียณอายุแล้ว อายุ 70 กว่า ขณะนี้ย้ายจากบ้านขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กมีอาณาบริเวณในชุมชนที่ใครๆ ก็อยากอยู่ ไปอยู่อพาทเมนท์ผู้สูงอายุ แถมภรรยายังต้องไปอยู่อีกที่หนึ่ง เป็นที่สำหรับดูแลผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลพิเศษ 
 
เมื่อได้ไปเยี่ยมทั้งสองแล้ว ก็ให้สะท้อนใจกับชีวิต และคิดถึงจุดจบของชีวิตที่ยุ่งยากยิ่งขึ้นทุกวัน เมื่อโลกเทคโนโลยีพัฒนาไปเรื่อยๆ คนสูงวัยก็กังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเมื่อไหร่ตนจะหมดอายุขัยสักที
 
เพื่อนอีกคู่หนึ่งมีชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างเหลือเชื่อ คนสามีออกจากงานใชัแรงงานหนัก มาเป็นคนจัดแต่งกะบะไม้ประดับ รวมทั้งช่วยภรรยาที่ทำงานอดิเรกอย่างขะมักเขม้น คือการทำกระถางประดับ ที่ออกแบบเก๋ไก๋เฉพาะตัวแต่ละชิ้นไม่เหมือนกัน ขณะนี้กำลังรุ่งมาก เดินทางออกร้านตามงานอาร์ตแฟร์ตามรัฐต่างๆ ไม่เว้นแต่ละเดือน 
 
จนเร็วๆ นี้สองสามีภรรยานี้กำลังคิดจะขายบ้านไปอยู่คอนโดฯ ส่วนภรรยายจะออกจากงาน เพื่อกลายเป็นศิลปินเต็มตัว ยิ่งได้ไปดูสตูดิโอสองคนนี้แล้วก็ให้ทึ่งในความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกับนับถือในความกล้าหาญที่คิดจะเปลี่ยนแปลงชีวิตในวัยปลาย 50 แล้ว
 
อีกคู่หนึ่งเป็นคนไทยที่มาใช้ชีวิตที่นี่หลายสิบปีแล้ว ทั้งคู่ทำงานหนัก สามีขณะนี้อายุ 80 กว่า ภรรยา 60 กว่า จนขณะนี้เกษียณแล้ว ไปซื้อบ้านหลังใหญ่อยู่นอกเมืองแมดิสัน บ้านอยู่ริมน้ำ บรรยากาศงดงามเหมาะกับบั้นปลายชีวิต สองสามีภรรยาไม่คิดจะกลับเมืองไทย ผิดกับคนไทยหลายๆ คนที่ลงแรงเก็บเงิน ฝันว่าสักวันจะกลับไปสบายในบั้นปลายที่เมืองไทย 
 
น่านับถือในความมุ่งมั่นทำมาหากินเก็บหอมรอมริบ น่าทึ่งกับสังคมเศรษฐกิจอเมริกันที่เปิดโอกาสให้คนใช้แรงงานที่มีวินัย สามารถมีชีวิตที่ดีไม่ต่างจากหรืออาจจะดีกว่าคนที่ร่ำเรียนสูงๆ ได้ แต่ก็น่าเห็นใจพี่ๆ คนไทยทั้งสองคนนี้ที่อย่างไรเสียพวกเขาก็ยังคงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในฐานะทางสังคมของตนเอง จึงไม่ค่อยคบเพื่อนฝรั่งเท่าไหร่นัก
 
เพื่อนอีกคนเลือกเส้นทางชีวิตที่น่าทึ่งตั้งแต่เมื่อหลายปีที่แล้ว และจนบัดนี้ก็ยังยืนยันใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ เขาเลือกอยู่กินกับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีลูกกับสามีที่เลิกกับเธอไป เพื่อนคนนี้เลี้ยงลูกภรรยาราวกับลูกตนเอง ส่วนเด็กคิดอย่างไรกับเขานั้น พอจะเดาได้แต่ก็ไม่อยากกล่าอะไรให้เพื่อนช้ำใจนัก 
 
ชีวิตเพื่อนคนนี้น่าทึ่งตั้งแต่รู้จักกันมากว่า 10 ปีแล้ว เขาเป็นคนไนจีเรีย ถูกเลี้ยงดูโดยคนขาวในอังกฤษ พูดอังกฤษทั้งสำเนียงและลีลาการใช้ภาษาแบบชาวอังกฤษที่มีการศึกษาสูง มาเริ่มทำงานในสหรัฐฯ ในอาชีพเซลแมน แล้วค่อยๆ เรียนเป็นนักบิน จนปัจจุบันเป็นนักบินมือหนึ่งของสายการบินอเมริกันมานานเกือบ 10 ปีแล้ว บินทั้งภายในและต่างประเทศ น่าทึ่งที่สังคมนี้เปิดโอกาสให้คนที่ต่อสู้สามารถเปลี่ยนชีวิตได้มากขนาดนี้
 
ยากที่จะพูดคำส่งความสุขปีใหม่ปีนี้ แต่เมื่อได้เจอเพื่อนๆ และครูบาอาจารย์เก่าๆ ก็มีความสุขที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ถึงกับฉับพลันเลวร้ายนัก แต่ก็พอได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน สุดท้ายก็รู้สึกดีขึ้นมาบ้างที่ปีใหม่นี้ได้เข้าใจสังคมอเมริกันมากขึ้น และได้เรียนรู้ชีวิตมนุษย์มากขึ้น

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ