Skip to main content

สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 

 
แรกเลยคือการได้พบเจอลูกๆ ของอาจารย์ที่เคยเรียนด้วย เด็กๆ พวกนี้เมื่อก่อนพวกเขาก็โผล่หน้าแว๊บไปแว๊บมาเมื่อเราไปหาอาจารย์บ้าง หาเพื่อนๆ บ้าง ได้เห็นกันก็แค่ผ่านๆ หรือจะได้กินอาหารด้วยกัน เมื่อพวกเขาอิ่มแล้ว 7 ปีก่อนตอนเขาเป็นวัยรุ่นหรือยังเป็นเด็กเล็กๆ พวกเขาก็จะหายหน้ากันไปเข้าห้อง ไม่ก็ดูทีวี หรือไปวิ่งเล่น แทบไม่ได้คุยกัน
 
แต่เมื่อโตขึ้นถึงวันนี้ คนหนึ่งกำลังจะทำงานบริษัท กินเงินเดือนมากกว่าแม่ที่เป็นศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย คนหนึ่งเลือกเส้นทางอุดมการณ์ทำงานการเมืองผลักดันนโยบายเพื่อคนรุ่นใหม่ คนหนึ่งทำงานบริษัทการเงินใหญ่โต อีกคนกำลังเรียนการออกแบบวิดีโอเกมส์
 
อีกคนเจริญรอยตามพ่อเป็นนักล่า เรียนเรื่องการล่าสัตว์ ซึ่งพ่อก้าวหน้าไปไกลถึงขั้นสามารถฆ่าหมีด้วยธนูดอกเดียวมาแล้ว อีกคนเคยถีบจักรยานทั่วสหรัฐฯ เพื่อระดมทุนการกุศลแล้วขณะนี้เป็นครูประวัติศาสตร์ อีกคนพาแฟนบุคคลิกแปลกจากชาวนาวิสคอนซินมาแนะนำครอบครัว ส่วนเด็กอีกคนเมื่อ 7 ปีก่อนยังแบเบาะ ขณะนี้นี้โดตขึ้นมาเป็นเด็กดื้อเหลือขอ
 
ชีวิตของพวกเพื่อนเองก็เปลี่ยนแปลงกันไปไม่ใช่น้อย เพื่อนคนหนึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ เกษียณอายุแล้ว อายุ 70 กว่า ขณะนี้ย้ายจากบ้านขนาดไม่ใหญ่ไม่เล็กมีอาณาบริเวณในชุมชนที่ใครๆ ก็อยากอยู่ ไปอยู่อพาทเมนท์ผู้สูงอายุ แถมภรรยายังต้องไปอยู่อีกที่หนึ่ง เป็นที่สำหรับดูแลผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลพิเศษ 
 
เมื่อได้ไปเยี่ยมทั้งสองแล้ว ก็ให้สะท้อนใจกับชีวิต และคิดถึงจุดจบของชีวิตที่ยุ่งยากยิ่งขึ้นทุกวัน เมื่อโลกเทคโนโลยีพัฒนาไปเรื่อยๆ คนสูงวัยก็กังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเมื่อไหร่ตนจะหมดอายุขัยสักที
 
เพื่อนอีกคู่หนึ่งมีชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างเหลือเชื่อ คนสามีออกจากงานใชัแรงงานหนัก มาเป็นคนจัดแต่งกะบะไม้ประดับ รวมทั้งช่วยภรรยาที่ทำงานอดิเรกอย่างขะมักเขม้น คือการทำกระถางประดับ ที่ออกแบบเก๋ไก๋เฉพาะตัวแต่ละชิ้นไม่เหมือนกัน ขณะนี้กำลังรุ่งมาก เดินทางออกร้านตามงานอาร์ตแฟร์ตามรัฐต่างๆ ไม่เว้นแต่ละเดือน 
 
จนเร็วๆ นี้สองสามีภรรยานี้กำลังคิดจะขายบ้านไปอยู่คอนโดฯ ส่วนภรรยายจะออกจากงาน เพื่อกลายเป็นศิลปินเต็มตัว ยิ่งได้ไปดูสตูดิโอสองคนนี้แล้วก็ให้ทึ่งในความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกับนับถือในความกล้าหาญที่คิดจะเปลี่ยนแปลงชีวิตในวัยปลาย 50 แล้ว
 
อีกคู่หนึ่งเป็นคนไทยที่มาใช้ชีวิตที่นี่หลายสิบปีแล้ว ทั้งคู่ทำงานหนัก สามีขณะนี้อายุ 80 กว่า ภรรยา 60 กว่า จนขณะนี้เกษียณแล้ว ไปซื้อบ้านหลังใหญ่อยู่นอกเมืองแมดิสัน บ้านอยู่ริมน้ำ บรรยากาศงดงามเหมาะกับบั้นปลายชีวิต สองสามีภรรยาไม่คิดจะกลับเมืองไทย ผิดกับคนไทยหลายๆ คนที่ลงแรงเก็บเงิน ฝันว่าสักวันจะกลับไปสบายในบั้นปลายที่เมืองไทย 
 
น่านับถือในความมุ่งมั่นทำมาหากินเก็บหอมรอมริบ น่าทึ่งกับสังคมเศรษฐกิจอเมริกันที่เปิดโอกาสให้คนใช้แรงงานที่มีวินัย สามารถมีชีวิตที่ดีไม่ต่างจากหรืออาจจะดีกว่าคนที่ร่ำเรียนสูงๆ ได้ แต่ก็น่าเห็นใจพี่ๆ คนไทยทั้งสองคนนี้ที่อย่างไรเสียพวกเขาก็ยังคงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในฐานะทางสังคมของตนเอง จึงไม่ค่อยคบเพื่อนฝรั่งเท่าไหร่นัก
 
เพื่อนอีกคนเลือกเส้นทางชีวิตที่น่าทึ่งตั้งแต่เมื่อหลายปีที่แล้ว และจนบัดนี้ก็ยังยืนยันใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ เขาเลือกอยู่กินกับผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีลูกกับสามีที่เลิกกับเธอไป เพื่อนคนนี้เลี้ยงลูกภรรยาราวกับลูกตนเอง ส่วนเด็กคิดอย่างไรกับเขานั้น พอจะเดาได้แต่ก็ไม่อยากกล่าอะไรให้เพื่อนช้ำใจนัก 
 
ชีวิตเพื่อนคนนี้น่าทึ่งตั้งแต่รู้จักกันมากว่า 10 ปีแล้ว เขาเป็นคนไนจีเรีย ถูกเลี้ยงดูโดยคนขาวในอังกฤษ พูดอังกฤษทั้งสำเนียงและลีลาการใช้ภาษาแบบชาวอังกฤษที่มีการศึกษาสูง มาเริ่มทำงานในสหรัฐฯ ในอาชีพเซลแมน แล้วค่อยๆ เรียนเป็นนักบิน จนปัจจุบันเป็นนักบินมือหนึ่งของสายการบินอเมริกันมานานเกือบ 10 ปีแล้ว บินทั้งภายในและต่างประเทศ น่าทึ่งที่สังคมนี้เปิดโอกาสให้คนที่ต่อสู้สามารถเปลี่ยนชีวิตได้มากขนาดนี้
 
ยากที่จะพูดคำส่งความสุขปีใหม่ปีนี้ แต่เมื่อได้เจอเพื่อนๆ และครูบาอาจารย์เก่าๆ ก็มีความสุขที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ถึงกับฉับพลันเลวร้ายนัก แต่ก็พอได้สัมผัสความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน สุดท้ายก็รู้สึกดีขึ้นมาบ้างที่ปีใหม่นี้ได้เข้าใจสังคมอเมริกันมากขึ้น และได้เรียนรู้ชีวิตมนุษย์มากขึ้น

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน