Skip to main content

วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน


นึกย้อนถึงตนเองวัยเด็ก ผมจำแทบไม่ได้แล้วว่าพ่อแม่หรือน้าๆ ที่ชอบพาผมกับพี่สาวเที่ยว พาพวกเราไปไหน จำไม่ได้ว่าได้ไปเที่ยวชมพวกอาวุธยุทโธปกรณ์หรือไม่ อาจมีบ้าง แต่ไม่ใช่สิ่งที่จำฝังใจอะไร ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเด็ก ก็แค่สังเกตจากตนเองแล้วคิดว่า ความฝันของเด็กๆ คงพัฒนาไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าสิ่งที่ปลูกฝังกันตอนเด็กๆ ก็อาจจะไม่ได้ฝังใจเด็กมากนักหรอก เมื่อเด็กโตแล้วก็เปลี่ยนใจเลิกเชื่อตามที่ถูกปลูกฝังมาได้

แต่เมื่อได้มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างไปมากอย่างทุกวันนี้ และได้มีเวลา มีสายตาพอที่จะสังเกตสังกาชีวิตทางสังคมรอบตัวมากขึ้น ผมก็รู้สึกขึ้นมาว่า บางทีผมอาจจะเป็นคนส่วนน้อยที่สอนไม่จำ ไม่เชื่อสิ่งที่ผู้ใหญ่ปลูกฝังอยู่อย่างนั้นง่ายๆ ผมคงขี้สงสัยมากไป ดูอย่างเพื่อนผมส่วนใหญ่สิ ก็ไม่ได้เป็นแบบผม ถ้าอย่างนั้น การจัดวางสภาพแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ และการปลูกฝังค่านิยมสำหรับเด็ก ก็มีความหมายอย่างยิ่งจริงๆ นั่นแหละ เพราะคนส่วนใหญ่เติบโตมาตามกรอบของระบบคุณค่าที่สังคมสั่งสอนจริงๆ

ในสหรัฐอเมริกา อย่างน้อยเท่าที่ผมได้สัมผัส การปลูกฝังค่านิยมเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย มีสูงมาก โดยเฉพาะในสถานที่สาธารณะอย่างพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมักออกแบบให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ร่วมกับผู้ใหญ่ ผมเห็นค่านิยมเหล่านี้บรรจุอยู่เต็มไปหมด เช่น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชิคาโก มีห้องหนึ่งจัดแสดงเรื่องเสรีภาพโดยเฉพาะเลย พูดเรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิสตรีที่เริ่มจากการเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 (ประเด็นนี้มักพบในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่นี่) สิทธิชาวเอเชียน และพูดเรื่องการค้าทาสและการเหยียดผิว

นิทรรศการหมุนเวียนเรื่อง ปี 1968 ก็นำเสนอค่านิยมแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างชัดเจน นับตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้าไปเลย เด็กๆ จะได้เข้าใจถึงปัญหาของสงครามเวียดนาม ปัญหาการละเมิดสิทธิคนผิวสี ประเด็นเรื่องเสรีภาพทางเพศ และเสรีภาพในการแสดงออกไม่ว่าจะทางร่างกายหรือการแสดงความคิดเห็น 

ในพิพิธภัณฑ์เด็กของเมืองแมดิสันเป็นอีกแหล่งปลูกฝังคุณค่าอย่างแนบเนียน แล้วเด็กก็ชอบมากด้วย นี่เป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็กอย่างแท้จริง เด็กๆ มาพร้อมกับพ่อแม่ ครอบครัว แล้วเล่นๆๆ บางทีก็เล่นกับพ่อแม่ผู้ปกครอง บางทีก็เล่นกันเองเต็มไปหมด เขาออกแบบให้เด็กเรียนรู้จากการเล่นในบริบทต่างๆ ตามประเด็นใหญ่ๆ หลักๆ คือ ห้องธรรมชาติ ก็ออกแบบสภาพแวดล้อมให้เด็กทั้งได้เห็นและสัมผัสกับความเป็นธรรมชาติ ห้องวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี เขาก็ออกแบบให้เด็กได้เข้าใจวิทยาศาสตร์และเล่นกับเทคโนโลยีได้ง่ายๆ และห้องศิลปะกับการสร้างสรรค์ เขาก็ให้เด็กทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง ตั้งแต่ตัดกระดาษ วาดรูป ปั้นดิน ทำเซรามิก

แต่ก็มีบางมุมเล็กๆ ที่น่าสนใจคือชั้น "ตุ๊กตาประชาธิปไตย" (Dolls for Democracy) เขานำเอาบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสหรัฐอเมริกามาแสดง มีทั้งคนดำและคนขาว ที่จำได้แน่ๆ คือมีมาณืติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิคนดำจนถูกสังหารในปี 1968 ยินเคียงข้างตุ๊กตาจอนห์ เอฟ เคเนดีอยู่ด้วย

 


 

ผมไม่ได้บอกว่าสหรัฐอเมริกาขณะนี้ปลอด racism, socio-economic class discrimination และ religious discrimination แล้ว เพราะแม้จะสอนถึงความเลวร้ายของสงครามเวียดนาม แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็หาเหตุที่จะก่อสงครามในประเทศอื่นมาได้เสมอจนทุกวันนี้ แม้จะสอนให้เคารพคนต่างสีผิว แต่เมื่อเร็วๆ นี้ตำรวจก็ยิงคนผิวดำที่ไม่มีอาวุธ แม้จะเคารพเสรีภาพทางความเห็นและการแสดงออก แต่การจ้องจับผิดประชาชนผ่านการดักฟังโทรศัพท์ก็ยังมีอยู่

รวมทั้งเพื่อน "ขาวๆ" ของผมหลายคนที่การศึกษาสูง ก็ยังมีความคิดแบ่งแยกและดูถูกคนที่สีผิว ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา และศาสนาอยู่ดี ความคิดแบบนี้ยังมีมากจนกระทั่ง หลายครั้งผมอึดอัดที่จะคุยกับเพื่อนๆ แล้วต้องเปลี่ยนเรื่องสนทนาไปเลยก็มี 

ถึงกระนั้นก็ตาม ค่านิยมเรื่องสิทธิ เสรีภาพ สันติภาพ และประชาธิปไตย ก็เป็นสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังอย่างเข้มข้น โดยนัยแล้ว นี่คือการที่สาธารณชนอเมริกันพยายามที่จะปลูกฝังให้สังคมเขาเดินไปตามทิศทางนี้ นี่คือสิ่งที่สังคมเขาต้องการเป็นในอนาคต นี่คือสิ่งที่เขาพยายามใช้เพื่อต่อสู้กับชุดความคิดเหยียดคนไม่เท่ากัน ต่อสู้กับชุดความคิดที่ยอมให้การละเมิดสิทธิถูกเพิกเฉยที่ยังดำเนินไปในสังคม 

เด็กที่เที่ยววันเด็กในประเทศไทยวันพรุ่งนี้จะเรียนรู้อะไร หากผู้ใหญ่ไปเที่ยวงานวันเด็กบ้างก็คงจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ผู้ใหญ่ก็ควรถามตนเองด้วยว่า คุณค่าเหล่านั้นหรือคือคุณค่าที่เราอยากปลูกฝังให้เด็กไทย มีทางเลือกอื่นไหมที่เราจะปลูกฝังคุณค่าอื่นๆ หากไม่มี คุณจะอธิบายเด็กๆ อย่างไร คุณจะต่อสู้กับคุณค่าที่เด็กไทยถูกยัดเยียดอยู่ทุกวันนี้อย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ