Skip to main content

วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน


นึกย้อนถึงตนเองวัยเด็ก ผมจำแทบไม่ได้แล้วว่าพ่อแม่หรือน้าๆ ที่ชอบพาผมกับพี่สาวเที่ยว พาพวกเราไปไหน จำไม่ได้ว่าได้ไปเที่ยวชมพวกอาวุธยุทโธปกรณ์หรือไม่ อาจมีบ้าง แต่ไม่ใช่สิ่งที่จำฝังใจอะไร ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเด็ก ก็แค่สังเกตจากตนเองแล้วคิดว่า ความฝันของเด็กๆ คงพัฒนาไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าสิ่งที่ปลูกฝังกันตอนเด็กๆ ก็อาจจะไม่ได้ฝังใจเด็กมากนักหรอก เมื่อเด็กโตแล้วก็เปลี่ยนใจเลิกเชื่อตามที่ถูกปลูกฝังมาได้

แต่เมื่อได้มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ต่างไปมากอย่างทุกวันนี้ และได้มีเวลา มีสายตาพอที่จะสังเกตสังกาชีวิตทางสังคมรอบตัวมากขึ้น ผมก็รู้สึกขึ้นมาว่า บางทีผมอาจจะเป็นคนส่วนน้อยที่สอนไม่จำ ไม่เชื่อสิ่งที่ผู้ใหญ่ปลูกฝังอยู่อย่างนั้นง่ายๆ ผมคงขี้สงสัยมากไป ดูอย่างเพื่อนผมส่วนใหญ่สิ ก็ไม่ได้เป็นแบบผม ถ้าอย่างนั้น การจัดวางสภาพแวดล้อมสำหรับการเรียนรู้ และการปลูกฝังค่านิยมสำหรับเด็ก ก็มีความหมายอย่างยิ่งจริงๆ นั่นแหละ เพราะคนส่วนใหญ่เติบโตมาตามกรอบของระบบคุณค่าที่สังคมสั่งสอนจริงๆ

ในสหรัฐอเมริกา อย่างน้อยเท่าที่ผมได้สัมผัส การปลูกฝังค่านิยมเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ประชาธิปไตย มีสูงมาก โดยเฉพาะในสถานที่สาธารณะอย่างพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมักออกแบบให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ร่วมกับผู้ใหญ่ ผมเห็นค่านิยมเหล่านี้บรรจุอยู่เต็มไปหมด เช่น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ชิคาโก มีห้องหนึ่งจัดแสดงเรื่องเสรีภาพโดยเฉพาะเลย พูดเรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิสตรีที่เริ่มจากการเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 (ประเด็นนี้มักพบในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่นี่) สิทธิชาวเอเชียน และพูดเรื่องการค้าทาสและการเหยียดผิว

นิทรรศการหมุนเวียนเรื่อง ปี 1968 ก็นำเสนอค่านิยมแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างชัดเจน นับตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้าไปเลย เด็กๆ จะได้เข้าใจถึงปัญหาของสงครามเวียดนาม ปัญหาการละเมิดสิทธิคนผิวสี ประเด็นเรื่องเสรีภาพทางเพศ และเสรีภาพในการแสดงออกไม่ว่าจะทางร่างกายหรือการแสดงความคิดเห็น 

ในพิพิธภัณฑ์เด็กของเมืองแมดิสันเป็นอีกแหล่งปลูกฝังคุณค่าอย่างแนบเนียน แล้วเด็กก็ชอบมากด้วย นี่เป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับเด็กอย่างแท้จริง เด็กๆ มาพร้อมกับพ่อแม่ ครอบครัว แล้วเล่นๆๆ บางทีก็เล่นกับพ่อแม่ผู้ปกครอง บางทีก็เล่นกันเองเต็มไปหมด เขาออกแบบให้เด็กเรียนรู้จากการเล่นในบริบทต่างๆ ตามประเด็นใหญ่ๆ หลักๆ คือ ห้องธรรมชาติ ก็ออกแบบสภาพแวดล้อมให้เด็กทั้งได้เห็นและสัมผัสกับความเป็นธรรมชาติ ห้องวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี เขาก็ออกแบบให้เด็กได้เข้าใจวิทยาศาสตร์และเล่นกับเทคโนโลยีได้ง่ายๆ และห้องศิลปะกับการสร้างสรรค์ เขาก็ให้เด็กทำกิจกรรมหลายๆ อย่าง ตั้งแต่ตัดกระดาษ วาดรูป ปั้นดิน ทำเซรามิก

แต่ก็มีบางมุมเล็กๆ ที่น่าสนใจคือชั้น "ตุ๊กตาประชาธิปไตย" (Dolls for Democracy) เขานำเอาบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของสหรัฐอเมริกามาแสดง มีทั้งคนดำและคนขาว ที่จำได้แน่ๆ คือมีมาณืติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิคนดำจนถูกสังหารในปี 1968 ยินเคียงข้างตุ๊กตาจอนห์ เอฟ เคเนดีอยู่ด้วย

 


 

ผมไม่ได้บอกว่าสหรัฐอเมริกาขณะนี้ปลอด racism, socio-economic class discrimination และ religious discrimination แล้ว เพราะแม้จะสอนถึงความเลวร้ายของสงครามเวียดนาม แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็หาเหตุที่จะก่อสงครามในประเทศอื่นมาได้เสมอจนทุกวันนี้ แม้จะสอนให้เคารพคนต่างสีผิว แต่เมื่อเร็วๆ นี้ตำรวจก็ยิงคนผิวดำที่ไม่มีอาวุธ แม้จะเคารพเสรีภาพทางความเห็นและการแสดงออก แต่การจ้องจับผิดประชาชนผ่านการดักฟังโทรศัพท์ก็ยังมีอยู่

รวมทั้งเพื่อน "ขาวๆ" ของผมหลายคนที่การศึกษาสูง ก็ยังมีความคิดแบ่งแยกและดูถูกคนที่สีผิว ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา และศาสนาอยู่ดี ความคิดแบบนี้ยังมีมากจนกระทั่ง หลายครั้งผมอึดอัดที่จะคุยกับเพื่อนๆ แล้วต้องเปลี่ยนเรื่องสนทนาไปเลยก็มี 

ถึงกระนั้นก็ตาม ค่านิยมเรื่องสิทธิ เสรีภาพ สันติภาพ และประชาธิปไตย ก็เป็นสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังอย่างเข้มข้น โดยนัยแล้ว นี่คือการที่สาธารณชนอเมริกันพยายามที่จะปลูกฝังให้สังคมเขาเดินไปตามทิศทางนี้ นี่คือสิ่งที่สังคมเขาต้องการเป็นในอนาคต นี่คือสิ่งที่เขาพยายามใช้เพื่อต่อสู้กับชุดความคิดเหยียดคนไม่เท่ากัน ต่อสู้กับชุดความคิดที่ยอมให้การละเมิดสิทธิถูกเพิกเฉยที่ยังดำเนินไปในสังคม 

เด็กที่เที่ยววันเด็กในประเทศไทยวันพรุ่งนี้จะเรียนรู้อะไร หากผู้ใหญ่ไปเที่ยวงานวันเด็กบ้างก็คงจะเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ผู้ใหญ่ก็ควรถามตนเองด้วยว่า คุณค่าเหล่านั้นหรือคือคุณค่าที่เราอยากปลูกฝังให้เด็กไทย มีทางเลือกอื่นไหมที่เราจะปลูกฝังคุณค่าอื่นๆ หากไม่มี คุณจะอธิบายเด็กๆ อย่างไร คุณจะต่อสู้กับคุณค่าที่เด็กไทยถูกยัดเยียดอยู่ทุกวันนี้อย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง