Skip to main content

บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ

 
ก่อนเข้าเรื่อง บางคนอาจสงสัยว่าทำไมผมไม่เขียนเรื่องการประกันคุณภาพ ทำไมไม่เขียนถึงพวก TQF หรือ มคอ. อะไรพวกนั้น ที่ไม่เขียนเพราะเรื่องเหล่านั้นผมเขียนมามากแล้ว ถ้าใครรู้จักผมก็จะรู้ว่าผมและเพื่อนนักวิชาการมากมายทั้งสู้ทั้งทะเลาะกับเรื่องนี้มามากแล้ว แต่ก็ไม่เกิดผล ผมสรุปว่านั่นก็เพราะการบริหารการอุดมศึกษาเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้เป็นการบริหารแบบ "แบ่งกันรวบอำนาจ" ระหว่าง สกอ. กับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ส่วนคณาจารย์ บุคคลากร นักศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองน่ะ ก้มหน้าก้มตาทำงานและจ่ายเงินเลี้ยงระบบต่อไป 
 
ดูอย่างเรื่อง มคอ. นั่นปะไร ทุกวันนี้ 80-90% ของ มคอ. ที่กรอกๆ กันอยู่น่ะเถื่อนนะครับ (ยกเว้นสถาบันที่ขยันสร้างระบบประเมินของตนเองอย่างจุฬาฯ) ถ้าไม่เถื่อนก็ต้องมี มคอ. 1 ครับ ผมถามอาจารย์มหาวิทยาลัยสาขาสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์หน่อยครับว่า พวกท่านเคยเห็น มคอ. 1 ของสาขาวิชาท่านไหมครับ ไม่มีหรอก หัวไม่มี มีแต่หางเอาไว้รัดคอพวกท่านอยู่ทุกวันนี้แหละ เพราะอะไร แล้วจะมีไหม เอาไว้มีโอกาสเมื่อไหร่ค่อยเล่าก็แล้วกันครับ
 
กลับมาที่เรื่องที่ตั้งใจจะเขียนวันนี้ดีกว่า ในโลกวิชาการสากล ขอยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาอีก (หันมาทางนี้บ่อย เพราะเราอยากมีชื่อในลำดับมหาวิทยาลัยต้นๆ ไม่ใช่หรือ แล้วการประเมินพวกนั้นน่ะ ส่วนใหญ่ชื่ออันดับต้นๆ ก็มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ทั้งนั้น ถ้าไม่อยากให้อ้างสหรัฐฯ ก็เลิกสนใจการจัดอันดับพวกนั้นเสียสิ) การเริ่มงานในมหาวิทยาลัยวิจัยนั้น ถ้าได้งานที่มีตำแหน่งแน่นอน เขาเรียก tenure track คือเดินบนเส้นทางที่จะได้ "ครองตำแหน่ง" ก็จะได้ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ หรือ ผศ. ทันที
 
เมื่อเริ่มเส้นทางแล้ว นอกจากงานสอนปีละสัก 3-4 วิชาและช่วยงานบริหารตามสมควรแล้ว ที่สำคัญคือต้องพิมพ์งาน ต้องพิมพ์บทความในวารสารชั้นนำระดับนานาชาติ 5-6 ชิ้นภายในระยะ 4-5 ปี หรือหากโชคดีได้พิมพ์หนังสือก็จะยิ่งได้เป็นรองศาสตราจารย์เร็ว เป็น รศ. เมื่อไหร่ก็คือได้ "ครองตำแหน่ง" นั้น เมื่อมีผลงานอีกระยะหนึ่ง โดยมากนับจากการพิมพ์หนังสืออีกเล่มหนึ่ง หรือพิมพ์บทความจำนวนหนึ่งที่ได้รับการประเมินค่าสูง ก็จะได้เป็นศาสตราจารย์เต็มภาคภูมิ
 
แต่ในประเทศไทย เส้นทางเป็นอย่างนี้ครับ เริ่มเข้าทำงานก็เป็นอาจารย์เฉยๆ หากจบปริญญาเอก หลังทำงาน 3 ปีจึงจะขอ ผศ. ได้ ต้องส่งบันทึกการสอน 1 วิชา ต้องมีงานวิจัย ต้องพิมพ์บทความวิชาการ เมื่อได้ ผศ. แล้ว ต้องทำงานอีก 3 ปีจึงขอ รศ. ได้ ผลงานคือ บันทึกการสอน 1 วิชา งานวิจัยใหม่ที่พิมพ์เผยแพร่ พิมพ์หนังสือหรือตำราหนึ่งเล่ม จากนั้นอีก 2 ปีจึงจะขอตำแหน่ง ศ. ได้ โดยต้องทำวิจัยใหม่แล้วพิมพ์ ต้องพิมพ์ตำราหรือหนังสืออีกเล่ม ที่เขาย้ำเสมอคือ งานเหล่านี้ห้ามเอาวิทยานิพนธ์มาทำนะครับ
 
นี่ผมสรุปเกณฑ์ง่ายๆ นะครับ มีรายละเอียดอื่นๆ อีก เช่น ต้องได้ผลการประเมินระดับเท่าไหร่ หากจะขอข้ามขั้น ก็มีเกณฑ์ต่างหากอีก อย่างที่บางคนทำผลงานสะสมไว้แล้วขอ ศ. ทีเดียวเลย ยังมีรายละเอียดอีกว่า อะไรคือตำรา อะไรคืองานวิจัย อะไรคือหนังสือ รายละเอียดพวกนี้หาเอกสารดาวน์โหลดมาอ่านได้ไม่ยากนะครับ เกณฑ์เหล่านี้โดยทั่วไปเหมือนกัน เพราะอยู่ใต้อำนาจของ สกอ. เหมือนกันทั้งสิ้น 
 
ใครจะกินอุดมการณ์บอกว่า ทำงานวิชาการไม่ได้หวังตำแหน่งทางวิชาการอะไรก็ตามสบายนะครับ ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่ใช่ ตำแหน่งทางวิชาการไม่ใช่เพียงมีบรรดาศักดิ์ติดข้างหน้าให้ยิ่งใหญ่อะไร แต่มันหมายถึงความมั่นคงในชีวิตทางกายภาพ แต่ละตำแหน่งมีค่าตำแหน่งตอบแทน และหากไม่ขอตำแหน่งทางวิชาการ ระดับเงินเดือนก็จะตัน ผมไม่ได้มีทรัพย์สมบัติอะไรติดตัวมากมายมายพอที่จะจะเก็บค่าเช่ากินไปได้ มีแต่แรงสมองเท่านั้นที่ขายกินอยู่ทุกวันนี้ อีกอย่าง ปัจจุบันระบบพนักงานจะยิ่งบีบให้อาจารย์ต้องขอตำแหน่งตามกำหนดเวลา 
 
ย้อนกลับไปดูเกณฑ์นะครับ ถ้าใครทำได้ตามนั้น หลังจบ ดร. แล้ว ก็ใช้เวลาเพียง 8 ปี ก็จะได้เป็นศาสตราจารย์ แต่ใครจะทำได้ครับ ทำงานอย่างไรกันครับ ทั้งทำวิจัยใหม่่ 3 งานวิจัย และพิมพ์หนังสือ 3-4 เล่ม พร้อมๆ กับสอนหนังสือปีละ 6-7 วิชา ภายใน 8 ปีใครจะทำได้ครับ นี่ยังไม่นับว่าแต่ละคนยังต้องช่วยทำงานบริหารกันบ้างอีก แม้จะไม่ถึงกับบ้าอำนาจอยากได้ตำแหน่งบริหารก็เถอะ สำหรับในสหรัฐอเมริกา ในสาขาทางสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ผมเห็นส่วนใหญ่เขาใช้เวลากันประมาณ 10 ปีทั้งนั้น เร็วกว่านี้แทบเป็นไปไม่ได้ แถมของเรายังยากกว่าเพราะต้องทำวิจัยใหม่เอี่ยมทุกๆ 2-3 ปี
 
ข้อสำคัญที่น่าสังเกตคือ ความแตกต่างกันระหว่างระบบของสหรัฐฯ กับระบบของไทยมีสองประการสำคัญคือ หนึ่ง ของไทยไม่ให้ความสำคัญกับการพิมพ์ผลงานในวารสารทางวิชาการ และสอง ของไทยไม่ให้นำเอาผลงานวิทยานิพนธ์มาต่อยอดเพื่อทำเป็นผลงานวิชาการ แต่ของสหรัฐฯ และผมว่าในอังกฤษและประเทศมหาอำนาจทางวิชาการอื่นๆ ก็เป็นอย่างนั้น เขาให้ความสำคัญกับการพิมพ์งานในวารสารและยินดีให้พัฒนางานจากวิทยานิพนธ์ไปเป็นหนังสือเล่มเพื่อใช้ขอผลงาน
 
แน่ล่ะที่คุณภาพวารสารทางวิชาการของไทยเทียบกันไม่ได้กับวารสารทางวิชาการในโลกสากล อย่างเช่นในโลกภาษาอังกฤษ แต่ถึงอย่างนั้น ถึงนักวิชาการไทยคนไหนจะพิมพ์บทความในวารสารวิชาการชั้นนำของโลกได้ ซึ่งยากเย็นมาก ต้องแก้กันไม่ต่ำกว่า 3 รอบ บางวารสารต้องเสียเงินเพื่อขอให้เขาอ่านประเมินให้ซึ่งก็อาจจะไม่ผ่าน แต่ก็ไม่ใช่ไม่เคยมีคนไทยได้พิมพ์งานระดับนั้นนะครับ มีอยู่บ่อยไป แต่ผลงานของเขาก็จะไร้ค่าในโลกวิชาการไทย ไม่สามารถนำมาขอตำแหน่ง รศ. หรือ ศ. ได้ จะใช้ขอ ผศ. ได้ก็แค่่ชิ้นเดียวพอ ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องพิมพ์ยากขนาดนั้นด้วย 
 
แล้วอย่างนี้ใครจะอยากเขียนบทความพิมพ์ในวารสารล่ะครับ ยิ่งต้องบากบั่นอดทนเขียนภาษาอังกฤษ ต้องทนคำวิจารณ์โหดๆ จากนักวิชาการในโลกที่เราก็แทบจะไม่รู้จัก เพื่อจะได้ตีพิมพ์งานในวารสารวิชาการระดับโลกที่ชาวโลกเขาจะได้อ่านกัน ยิ่งไม่รู้จะทำไปทำไม เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไรกับอนาคตทางวิชาการ แถมยังเปลืองตัวเปลืองเวลา เสียโอกาสที่จะไปผลิตงานวิจัยถูๆ ไถๆ เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการแม้ไม่มีชาวโลกที่ไหนอ่านกันไม่ดีกว่าหรือ 
 
ส่วนงานวิทยานิพนธ์ เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมอาจารย์ที่จบจากต่างประเทศมาส่วนมากไม่พิมพ์วิทยานิพนธ์กัน ส่วนหนึ่งคงเพราะอายที่ผลงานไม่ดีพอ แต่ผมว่านั่นไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงหรอกครับ บางคนคิดว่า คงเพราะอาจารย์มีงานมาก ไม่มีเวลา อาจารย์ผมพร่ำถามตลอดว่า ทำไมไม่อยากพิมพ์งานล่ะ อาจารย์ในต่างประเทศก็ไม่เข้าใจว่า วิทยานิพนธ์ที่ทุ่มเททำกันแทบตาย ทำไมไม่พิมพ์ล่ะ ก็ลองกลับไปดูการประเมินขอตำแหน่งทางวิชาการสิครับ มันเหมือนกับโลกสากลเขาเสียเมื่อไหร่ล่ะ
 
วิทยานิพนธ์ ทั้งที่ทำในมหาวิทยาลัยไทยและทำในมหาวิทยาลัยต่างประทเทศจำนวนมากเป็นงานที่มีคุณภาพดีไม่ด้อยไปกว่างานวิจัยของอาจารย์ ลองคิดดูว่า หากนักศึกษามีความสามารถเป็นนักวิจัยที่ดี เขาจะได้เปรียบอาจารย์มากแค่ไหน เขาไม่ต้องสอน ไม่ต้องทำงานบริหาร ส่วนใหญ่ยังอายุน้อย มีภาระส่วนตัวน้อย ยังมีกำลังวังชาดี ทำงานหามรุ่งหามค่ำได้ เดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก ส่วนมากบ้าบิ่นเพราะยังไม่มีห่วงมาก 
 
เมื่อเทียบกับงานวิจัยของอาจารย์ วิทยานินพธ์จึงมีโอกาสดีได้มากกว่า และหากวิทยานิพนธ์ได้รับการสานต่อ พัฒนาขึ้น เพิ่มงานวิจัย เพิ่มการวิเคราะห์ให้แหลมคม ขัดเกลาจากการไปลองเสนอเป็นบทความเวทีระดับชาติ ระดับนานาชาติ แบบที่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในโลกเขายอมรับกัน ผลงานวิชาการไทยจะดีขึ้นกว่านี้แน่นอน แล้วทำไมสังคมไทยไม่ลงทุนกับคนเหล่านี้ล่ะครับ ทำไมลงทุนกับคนชราแล้วสูญเสียเงินวิจัยไปโดยที่ไม่มีใครสามารถไปเก็บหนี้ได้ล่ะ ทำไมโลกวิชาการไทยไม่ยอมรับผลงานจากวิทยานิพนธ์ล่ะ
 
แต่ระบบวิชาการในประเทศนี้มันบ้าขนาดไหนผผมจะเล่าต่อ ใครที่ทำงานวิชาการอยู่ก็คงรู้อยู่แล้วว่า ทุกวันนี้ระบบประกันคุณภาพเรียกร้องอะไรบ้าง ตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญคือการพิมพ์งานในวารสารที่ได้มีคะแนนสูงๆ คือวารสารอะไรล่ะ ก็ต้องวารสารนานาชาติใช่ไหมครับ วนกลับไปอ่านข้างบนสิครับ อาจารย์จะอยากทำไหมครับ แต่คณะถูกบีบและเรียกร้องอาจารย์ลงมาอีกทีตลอดนะครับ 
 
อีกตัวชี้วัดคือการถูกอ้างอิงในวารสารที่มีคะแนนสูงๆ ก็วารสารอะไรอีกล่ะครับ ต้องวารสารนานาชาติใช่ไหมครับ แล้วถ้าอาจารย์ไทยมุ่งพิมพ์หนังสือภาษาไทย พิมพ์ตำราภาษาไทย แล้วชาวโลกที่ไหนเขาจะมาอ่านกันล่ะครับ งานคุณต้องดีเด่นขนาดไหนกันเชียวที่ชาวโลกเขาจะมายอมแปลไปอ่านกันหรือยอมมาทนอ่านจากภาษาไทยกัน
 
บางมหาวิทยาลัยไทยมีเงินอัดฉีดให้นะครับ แต่จะพิมพ์งานระดับนานาชาติเพื่อมาบากหน้าให้กรรมการของมหาวิทยาลัยประเมินเพื่อขอเงินอัดฉีดไปทำไม่ล่ะครับ พิมพ์งานในวารสารนานาชาติดีๆ สักชิ้นน่ะ ใช้เวลาเป็นปีนะครับ สู้เอาเวลาไปทำวิจัยอะไรสักเรื่องแล้วพิมพ์ภาษาไทย แล้วซุกใต้ถุนตึกไว้ แล้วทำสำเนาส่งไปขอตำแหน่งทางวิชาการไม่ดีกว่าเหรอครับ นี่ไงครับ มันบ้าขนาดไหนระบบของไทยทุกวันนี้น่ะ
 
แต่บางมหาวิทยาลัยไทยก็ดูฉลาดแต่ก็เหมือนเอาเปรียบนักศึกษานะครับ ให้นักศึกษาส่งวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษ แต่เมื่อแต่ละคนจบไปแล้วก็ไม่สามารถเขียนอะไรเป็นภาษาอังกฤษได้อีกเลย เพราะเรียนก็ใช้ภาษาไทย พอต้องส่งวิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษจะทำอย่างไร ก็จ้างคนแปลสิครับ ผมไม่โทษนักศึกษาหรอก แต่โทษความกลวงของโลกวิชาการไทยมากกว่า ตบตาเก่งกันจนติดอันดับมหาวิทยาลัยโลกหลักหลายร้อยก็ยังดีขอให้มีชื่อว่าติดก็พอ
 
การทำงานวิชาการในมหาวิทยาลัยก็ต้องหวังที่จะสร้างความรู้ใหม่ๆ เป็นหลัก หากแต่กระบวนการสร้างความรู้แบบไหนที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาของความรู้ในสังคมไทยและสังคมโลก พร้อมๆ กับที่จะทำให้อาจารย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ระบบของการประเมินค่าทางวิชาการก็จะต้องเกื้อหนุนสอดคล้องกันไปไม่ใช่หรือ 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้