Skip to main content

เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน


ภาคการศึกษานี้ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม : ทฤษฎีและชาติพันธ์ุนิพนธ์" ซึ่งก็เหมือนเป็นเวรเป็นกรรมเพราะเคยเบื่อที่จะสอนวิชานี้ไปนานแล้ว แต่ก็ดีที่จะได้ทบทวนการสอนวิชานี้อีกครั้ง แถมคราวนี้ต้องสอนให้นักศึกษานานาชาติ (ย้ำว่า นานาชาติ เพราะเดี๋ยวนี้มีนักเรียนเอเชียนมากจริงๆ) ก็ยิ่งน่าสนุกขึ้นมาบ้าง

ผมเคยสอนวิชานี้ตั้งแต่เมื่อจบปริญญาโทใหม่ๆ เริ่มทำงานสอนจริงจังก็สอนวิชานี้เลย ตอนนั้นสอนไปมึนไป เพราะการอ่านเมื่อคราวเป็นนักเรียนกับเมื่อต้องซดเนื้อหาหนักๆ เต็มๆ แล้วต้องยืนเวิ้งว้างหน้าชั้นเรียนเพื่ออธิบายทุกอย่างคนเดียวนี่ มันคนละอารมณ์กันเลย ภายหลังนักศึกษาที่เคยเรียนด้วยในปีแรกๆ ซึ่งตอนนี้เขาเป็นอาจารย์แล้ว มาบอกว่า "คนที่เข้าไปเรียนกันน่ะ เขาคิดว่่าคงมีอะไรใหม่ๆ แต่บอกเลยว่า เรียนกันไม่รู้เรื่องเลย" ตอนนั้นผมก็แอบคิดว่า สอนยากแล้วเท่ แต่จริงๆ เปล่าหรอก เพราะถ้านักเรียนไม่รู้เรื่องก็คืออาจารย์สอนไม่รู้เรื่องนั่นแหละ

อาจารย์ที่สอนหนังสือไม่รู้เรื่องนี่ ผมว่ามีสามแบบ หนึ่งคือ เนื้อหายากมาก ยากจนนักเรียนไม่รู้เรื่องเอง สอง อาจารย์ถ่ายทอดไม่เก่ง ก็เลยทำเรื่องยากให้เข้าใจไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วผมว่าอย่างที่สามคือ อาจารย์ไม่ได้เตรียมสอนหรือไม่ก็ไม่รู้เรื่องในสิ่งที่ตัวเองสอน ก็เลยสอนไม่รู้เรื่อง 

กลับเข้าเรื่องวิชาที่สอนเทอมนี้ดีกว่า เมื่อจบปริญญาเอกกลับไปเมืองไทย ผมก็รับหน้าที่สอนวิชานี้ที่ธรรมศาสตร์ ผมให้นักศึกษาอ่านหนังสือมหาศาล แต่นั่นก็แค่ในมาตรฐานขั้นต่ำเตี้ยของนักเรียนปริญญาตรีที่อเมริกา ก็คือ 70-100 หน้าต่อสัปดาห์ ผมพยายามหาเอกสารภาษาไทยให้อ่าน จะได้อ้างไม่ได้ว่าอ่านไม่ออก นักศึกษาก็อ่านบ้างไม่อ่านบ้าง จนสุดท้ายก็ไม่อ่านเลย ผลที่สุดผมก็ไม่แน่ใจว่านักศึกษาได้อะไรบ้าง รู้แต่ว่าหลายคนก็ทำงานส่งกันมาได้ดี

มาเทอมนี้ ผมนำวิธีการสอนและเนื้อหาของสองวิชามารวมกัน วิชาหนึ่งคือวิชาทฤษฎี อีกวิชาหนึ่งคือวิชาชาติพันธ์ุนิพนธ์ เนื้อหาเหล่านี้ผมได้มาจากอาจารย์หลายๆ ท่านผสมกัน ประกอบกับเนื้อหาจากประสบการณ์การสอนสองวิชานี้รวม 7 ปีทั้งชั้นเรียนระดับตรี โท เอก ก็เลยได้เป็นเค้าโครงตามนี้ 

ผมแบ่งเนื้อหาเป็น 5 ส่วน สี่ส่วนแรกกำหนดให้นักศึกษาอ่าน ทำบันทึก แล้วส่งบันทึกมาให้ทางอีเมลก่อนเข้าเรียน แต่ส่วนสุดท้าย จะต้องทำงานวิจัยของแต่ละคน นอกจากนั้น ผมยังกำหนดให้พวกเขาอ่านและเขียนบทวิจารณ์หนังสืออีกคนละสองเล่ม งานมากอย่างนี้กระมังที่ทำให้พวกเขาถอนกันไปนับสิบ

ส่วนแรกแนะนำวิชา ผมเคยลองใช้เอกสารหลายแบบ ถ้าเป็นระดับปริญญาเอก ผมไม่ใช้เวลาและเอกสารแค่นี้ แต่จะเพิ่มเป็นสองสัปดาห์ เพราะจะอ่านทั้งประวัติทฤษฎีและวิธีวิจัยทั้งของกระแสหลักและกระแสรองด้วย จะได้เห็นว่าความรู้ไม่ได้มาจากตะวันตกอย่างเดียว เพียงแต่ก่อนนี้เราไม่ค่อยเรียนกำเนิดและพัฒนาการความรู้จากทิศทางอื่นๆ กัน

ส่วนที่สอง ผมเดินตามขนบแบบมานุษยวิทยาดั้งเดิม คืออ่านงานที่เป็นบรรพบุรุษของมานุษยวิทยา ไล่มาจากทฤษฎีวิวัฒนาการ แล้วก็งานของนักทฤษฎีสังคมสำคัญ 3 คนคือ มาร์กซ เวเบอร์ เดอร์กไคม์ ถึงสัปดาห์นี้ก็เพิ่งเรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการ ส่วนที่สาม จะเข้าเรื่องแนวทฤษฎีหลักๆ ของมานุษยวิทยา ไล่มาจาก "โครงสร้าง-การหน้าที่" ไปจนถึง "สัญลักษณ์และการตีความ" แล้วส่วนที่สี่ก็ต่อด้วยแนวทฤษฎีร่วมสมัย ซึ่งเมื่อถามอายุนักศึกษาแล้ว ก็พบว่า ที่ว่า "ร่วมสมัย" น่ะ ก็ยังมีอายุมากกว่านักศึกษาปริญญาตรีปี 3 เสียอีก

ส่วนที่น่าจะทำให้นักศึกษากังวลและถอนกันไปมากคือส่วนสุดท้าย ซึ่งเท่าที่ผมสืบย้อนไปได้ ก็ยังไม่เคยมีอาจารย์คนไหนที่นี่สอนแบบนี้กันมาก่อนในรายวิชานี้ นั่นก็คือให้นักศึกษาทำวิจัยแล้วเขียน "บันทึกภาคสนาม" ส่งแต่ละสัปดาห์ แต่ละคนจะต้องมีโครงการวิจัยส่วนตัว แล้วเก็บข้อมูล จดบันทึกข้อมูล นำมาให้เพื่อนอ่านและวิจารณ์กันในชั้นเรียน ใครที่เคยเรียนวิชา "ชาติพันธ์ุนิพนธ์" กับผม ซึ่งก็คือที่มาของการเปิดเพจนี้ ก็คงระลึกได้ดีว่าสนุกสนานอลม่านกันขนาดไหน

แต่ละภาคการศึกษา ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เสมอ แม้ว่าเทอมนี้จะประหม่านิดหน่อยเมื่อเริ่มต้นเพราะต้องสอนนักศึกษาปริญญาตรี จึงเกร็งที่จะต้องพูดมาก จะต้องพยายามทำให้พวกเขาเข้าใจเรื่องยากๆ แต่เมื่อผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว ผมก็เริ่มตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากมุมมอง คำถาม และประสบการณ์ของนักศึกษา จากการอ่านเอกสารที่เคยอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า และจากการหาคำอธิบายใหม่ๆ ให้กับความรู้เดิมๆ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน