Skip to main content

หลายวันมานี้ มีนักคิดหลายๆ คนเสนอวิธีทำความเข้าใจสังคมไทยใหม่ๆ มากมาย หลายคนพยายามไม่ตัดสินว่านี่คือการถอยหลังหรือย้อนรอยกลับไปในอดีต เพราะนักศึกษาประวัติศาสตร์สังคมย่อมทราบดีว่า สังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ และในเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไป เราจะเข้าใจสังคมปัจจุบันอย่างไร ผมคนหนึ่งล่ะที่พยายามไม่คิดว่านี่เป็นการ "ถอยหลัง" หรือซ้ำรอยอดีตอย่าง deja vu 

 
หากพิจารณาอะไรหลายๆ อย่างในปัจจุบัน นักวิเคราะห์สังคมบางคนอาศัยคำอธิบายที่เคยใช้อธิบายสังคมไทยราวกับว่าจะใช้ได้อย่างตรงไปตรงมา เช่น คำเรียกกลุ่มการเมืองฝ่ายหนึ่งว่าอนุรักษ์นิยม อีกฝ่ายหนึ่งว่าก้าวหน้า/ประชาธิไตย/เสรีนิยม หรือแยกฝ่ายขวา-ฝ่ายซ้าย หรือบางคนมองสังคมไทยขณะนี้ว่าอยู่ในภาวะคล้ายยุคสงครามเย็น หรือแม้แต่ใช้คำว่าทุนสามานย์ กรอบนักการเมืองคอร์รัปชั่น กรอบคนส่วนใหญ่ไร้การศึกษาจึงยังเลือกตั้งไม่ได้ ฯลฯ นักวิชาการหลายคนระมัดระวังในการใช้คำว่าสถาบันกษัตริย์ ที่ต้องอธิบายกันให้เข้าใจอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
 
กรอบความคิดเหล่านี้โลดเแล่นเป็นคำอธิบายสังคมไทยปัจจุบัน ทั้งในฝ่ายที่ต้องการเน้นความสงบเหนือสิทธิเสรีภาพ และฝ่ายที่ต้องการเน้นสิทธิเสรีภาพพร้อมๆ กับความสงบ
 
ทั้งหมดนั้น ผมว่าเราใช้กันจนติดปาก เสมือนเป็นอุปลักษณ์ (metaphor) ใช้อธิบายสังคม ที่ว่าเป็นเหมือนอุปลักษณ์ก็เพราะ เมื่อเราหากรอบการทำความเข้าใจใหม่ยังไม่ได้ เราก็จะกลับไปหยิบกรอบที่คุ้นเคยมาใช้ในการอธิบายสังคม วิธีการแบบนี้ไม่ว่าจะนักวิชาการ นักการเมือง หรือใครต่อใครก็ใช้กันทั้งนั้น แต่สำหรับนักวิเคราะห์สังคม บางทีเราต้องคอยทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่า คำอธิบาย คำศัพท์ กรอบความคิดที่เราใช้นั้น ยังคงตามทันความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอยู่หรือไม่
 
เมื่อไม่กี่วันก่อน นักวิชาการรุ่นเยาว์คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า นักวิชาการรุ่นใหญ่คนหนึ่งชวนเสวนาเรื่องการเข้าใจสังคมไทยปัจจุบัน (ขอไม่เอ่ยชื่อทั้งหมดนั่นแหละ ผมไม่ได้ฟังมาเอง แล้วก็ไม่อยากอ้างชื่อเขาโดยเจ้าตัวไม่รู้เห็นได้ อีกอย่างคือ อยากปล่อยให้เป็นความเห็นล่องลอยไปอย่างนี้แหละ) เสนอว่า ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำคือ normalization (ที่จริงผมควรสงวนความคิดนี้ไว้ เพราะนักวิชาการคนนี้กำลังจะนำความคิดนี้ไปเสนอต่อเป็นงานวิจัย แต่ในเมื่อได้ยินมาแล้วผมก็พยายามคิดต่อ ก็ถือว่าฟังแล้วคิดต่อแล้วมาเล่าสู่กันฟังอีกต่อก็แล้วกัน อาจจะไม่ได้ตรงกับความคิดของเขานักก็ได้)
 
โดยที่ยังไม่ทันได้สนทนากับเขาโดยตรง และไม่ได้ถามรายละเอียดเพิ่มเติม ผมมานั่งนึกดูว่า "การทำให้เป็นปกติ" ที่ว่านั้น นักวิชาการคนนั้นกำลังหมายถึงอะไร
 
การสถาปนาอำนาจของคณะรัฐประหารนี้คือการอ้างอิงอยู่กับเรื่องใหญ่ 2 เรื่อง หนึ่งคือเรื่องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งผมขอละไว้ไม่กล่าวถึง ไม่ใช่เพราะกลัวหรือไม่เห็นความสำคัญ แต่เพราะมีคนรู้ดีอยู่แล้ว ไปอ่านที่เขาเขียนดีกว่า อีกเรื่องคือความสงบเรียบร้อย (ทหารไม่ค่อยใช้คำว่า "สันติภาพ" คงเพราะเป็นคำของฝ่ายประชาชนมากกว่า) ทั้งสองเรื่องอาจเป็นเรื่องเดียวกัน คือทหารถือว่าเป็นเรื่อง "ความมั่นคงของชาติ" ทั้งคู่ แต่ผมว่าทหารแยกความสงบเรียบร้อยของสังคมออกจากการปกป้องสถาบันกษัตริย์
 
ข้ออ้างเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นข้ออ้างเดียวกันกับการรัฐประหารครั้งก่อนหน้านี้ เพียงแต่ครั้งนี้แนบเนียนกว่าเพราะมีกลุ่มการเมืองที่สร้างความไม่สงบขึ้นมา (ก็กลุ่ม กปปส. กับพรรคพวกชื่อย่ออื่นๆ นั่นแหละครับ) เพื่อให้ทหารสถาปนาอำนาจขึ้นมาโดยนัยว่าเพื่อรักษาความสงบ ผมว่านี่เป็นข้ออ้างที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในการรัฐประหารครั้งนี้ จนกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อใดที่มีการโต้แย้งกันเรื่องการใช้อำนาจของทหาร คนที่สนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้ก็จะยังยืนยันว่า เป็นความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อย
 
ประเด็นคือ เมื่อไหร่สังคมไทยจะสงบเรียบร้อยโดยไม่ต้องมีทหาร โดยไม่ต้องมีอำนาจดิบเพื่อรักษาความสงบ ผมกำลังสงสัยว่าภาวะแบบนั้นจะไม่มีในหัวของทหาร สังคมไทยที่ทหารไม่ได้ปกครองจะเป็นสังคมไทยที่ "ไม่สงบเรียบร้อย" เสมอ จินตนาการทางสังคมที่ทหารกำลังสร้างขึ้นแล้วกล่อมเกลาให้สังคมยอมรับในขณะนี้ก็คือ การสร้างสภาวะวิกฤตวุ่นวายไร้ขื่อแปที่คุกกรุ่นอยู่ตลอดเวลา และดังนั้นหากไม่มีอำนาจปืนแล้ว สังคมก็จะไม่สามารถอยู่อย่างสงบสุขได้ ทหารกำลังสร้างภาพ (โดยไม่จำเป็นต้องลงมือให้เกิดความรุนแรงจริงๆ) ให้สังคมยอมรับว่า สภาวะวุ่ยวายคือสภาวะปกติ ทำให้ทหารต้องใช้อำนาจพิเศษอย่างเป็นปกติ
 
ความแยบยลของกระบวนการสร้างรัฐเผด็จการคือ การแปลงให้สภาวะยกเว้นกลายเป็นสภาวะปกตินี่แหละ การแปลงกฎอัยการศึกให้เป็น ม. 44 และคำอธิบายอย่างหน้าด้านๆ ของคณะรัฐประหารต่อประชาคมโลกก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนี้แหละ และเมื่อนานวันเข้า สังคมก็จะยอมรับได้ว่า ไม่ต้องมีเลือกตั้งก็ได้ ไม่ต้องมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ก็ได้ ไม่ต้องตรวจสอบวิจารณ์รัฐบาลก็ได้ ไม่ต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองก็ได้ ขอให้บ้านเมืองสงบสุขก็พอแล้ว อารมณ์นี้ไม่ใช่ไม่มีอยู่จริง ดูคำอธิบายของนักแต่งเพลงชื่อดัง กับนักร้องลูกครึ่งไทย-อังกฤษเชื้อเจ้าก็น่าจะสะท้อนอารมณ์นี้ของสังคมส่วนหนึ่งได้
 
หลายเดือนที่ผ่านมา ผมนั่งทบทวนเหตุการณ์ในประเทศไทยอยู่แทบทุกลมหายใจ แล้วเมื่อฟังการเสวนาทางวิชาการที่ไหนเรื่องใดก็ตาม ก็มักคิดเทียบเคียงกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน อย่างในประเทศเวียดนามที่ผมคุ้นเคย ผมเห็นกระบวนการในการสถาปนาอำนาจเผด็จการของคนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามายึดกุมอำนาจารัฐ (state ไม่ใช่ government) อย่างค่อยเป็นค่อยไป จนในที่สุด อำนาจเผด็จการนั้นจะสมบูรณ์เบ็ดเสร็จจนสังคมทั้งสังคม (civil society) ขยับตัวไม่ได้ มันจะใหญ่โตเป็นระบบเสียจนเมื่อสังคมรู้ตัวแล้วว่าถูกอำนาจนั้นครอบงำ สังคมก็แทบจะดิ้นรนหาทางออกไม่ได้อีกต่อไป
 
เมื่อกลับมาคิดในกรอบ state and civil society แล้ว นักทฤษฎีรัฐศาสตร์และสังคมวิทยาการเมืองคงขำว่า กลับมาใช้กรอบเก่านี้อีกแล้วหรือ ก็ไม่รู้สิครับ แต่ที่ผมนึกขำอีกต่อก็คือ คนที่เคยเทศนาเรื่อง "สังคมเข้มแข็ง" ในขณะนี้เขากลับไปช่วยเสริมสร้าง "รัฐเข้มแข็ง" เสียแล้ว รัฐไทยขณะนี้กำลังเข้มแข็งถึงขนาดเข้ามากำหนดวิธีการฉลองเทศกาลสงกรานต์กันแล้ว มีสมัยไหนกันบ้างที่รัฐจะก้าวก่ายกรอบทางวัฒนธรรมอย่างเข้มแข็งโดยไม่ยี่หระใครต่อใครมากเท่านี้ มีสมัยไหนกันที่ผู้นำรัฐบาลและผู้กุมอำนาจสูงสุดของรัฐอยู่ในตัวคนเดียวกัน มีสมัยไหนกันที่คนนี้นั้นจะหยาบคายกับสังคมผ่านการใช้ความกักขฬะกับสื่อมวลชนได้มากขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่สมัยเผด็จการเบ็ดเสร็จ 
 
คิดแล้วผมก็หนาวสะท้านขึ้นมา นึกถึงเพลง Dịt Mẹ Cộng Sản ที่วัยรุ่นเวียดนามเรียกกันติดปากว่า DMCS (หาดูวีดีโอได้ไม่ยาก) ที่ผมใช้วิเคราะห์สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมในโลกอินเทอร์เน็ตของเวียดนามเมื่อไม่กี่วันก่อน ว่าอีกหลายปีให้หลัง วัยรุ่นไทยคงตาสว่างแล้วแต่งเพลงทำนองนี้บ้าง แต่เมื่อถึงตอนนั้น ลุงป้าน้าอาที่ช่วยกันสร้างมรดกเผด็จการให้คนรุ่นหลังก็คงเฒ่าชราจนรับผิดชอบในความผิดพลาดของตนเองไม่ได้ หรือไม่ก็กลายไปเป็นผู้ครองอำนาจเผด็จการ กดทับลูกหลานตัวเองต่อไป ส่วนคนที่มีอำนาจอยู่ในขณะนี้ ก็ทยอยลงโลงหรือไม่ก็กลายเป็นผักดิบบนเตียงนอนกันไปหมด ทิ้งมรดกความสงบสุขใต้อำนาจเผด็จการให้ลูกหลานทุกข์ทรมาณอย่างเป็นปกติกันต่อไป
 
 
 
 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน