Skip to main content

วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 

เรื่องแรกคือ วันนี้มีนักศึกษามาปิดภาคเรียนวิชานี้กัน 18 คนจากทั้งหมด 21 คน ผมถือว่าแค่นี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดีมากแล้ว เพราะตั้งแต่สอนหนังสือมา ส่วนใหญ่นักศึกษาปริญญาตรีจะไม่ใส่ใจวันสุดท้ายของการเรียนกัน วิชาที่ผมสอนส่วนใหญ่ไม่มีการสอบปลายภาค ฉะนั้นวันสุดท้ายจะไม่มีความหมายอะไรกับคะแนนของพวกเขา นอกจากว่าพวกเขาจะใส่ใจสนใจเรียนกันเอง ผมเลือกเชื่ออย่างนั้น

อาจจะเป็นการสบประมาทนักศึกษาที่เคยสอนในประเทศไทยบ้างหากจะบอกว่า นักศึกษาในห้องเรียนที่ผมเพิ่งสอนจบไปนี้เป็นห้องเรียนที่ดีที่สุดห้องหนึ่งที่เคยสอนมา ไม่ใช่ว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยสอนห้องเรียนไหนที่ดีเท่านี้ แต่หากเทียบคุณภาพนักศึกษาปริญญาตรี "ส่วนใหญ่" คือเกือบ 80% ของห้องนี้กับที่เมืองไทยแล้ว ผมว่านักเรียนที่นี่มีคุณภาพ "สูงกว่า" ที่เมืองไทย ในแง่ของความเอาใจใส่ต่อการเรียน ความตั้งใจทำงาน คุณภาพงานเขียน และการพัฒนาผลงานหลังจากได้รับคำแนะนำ

ไม่ใช่ว่านักศึกษาปริญญาตรีที่นี่จะเพียบพร้อมไปเสียทุกอย่างหรอก พวกเขายังต้องเรียนรู้การเขียน การอ่าน การอ้างอิงผลงาน การเรียบเรียงความคิด และการมีวินัยในการเรียน แต่โดยรวมๆ พวกเขาพัฒนากันเร็วและมีความตั้งใจสูงมากตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย

อีกเรื่องที่น่ายินดีคือ นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ผมได้รู้จักกับพวกเขามากขึ้น จากการให้พวกเขาทำงานวิจัยเล็กๆ คนละชิ้น นักศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาเรื่องใกล้ตัวที่ตนเองสนใจอยู่แล้ว ซึ่งก็สะท้อนตัวตนของแต่ละคนได้ค่อนข้างดี อย่างนักเรียนผิวสี ก็สนใจเรื่องวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับสีผิว นักเรียนเอเชียนก็มักสนใจเรื่องการปรับตัวทางวัฒนธรรมของสังคมหรือครอบครัวตนเอง นักเรียนหญิงสนใจเรื่องความเป็นหญิง คนชอบเล่นกีฬาก็สนใจเรื่องการเล่นกีฬา ซึ่งนี่ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับนักศึกษาที่เมืองไทยส่วนใหญ่

ที่แปลกออกไปก็มี เช่น นักเรียนอเมริกันผิวขาวคนหนึ่ง เคยไปเรียนมัธยมปลายที่อินโดนีเซียมาหนึ่งปี สามารถใช้ภาษา "บาฮาซา" ได้ และก็ยังคงสนทนาติดต่อกับเพื่อนที่อินโดฯ ก็เลยศึกษาเรื่องการใช้ภาษาของวัยรุ่นอินโดฯ ในโซเชียลมีเดีย อีกคนที่น่าสนใจคือนักเรียนอเมริกันที่ศึกษาการใช้พื้นที่ห้องสมุดในห้องสมุดหนึ่งของมหาวิทยาลัย ซึ่งว่ากันว่าเป็นห้องสมุดที่เงียบมากแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยนี้ ส่วนอีกคนศึกษากลุ่มคนที่ประท้วงการบริหารงานของรัฐวิสคอนซินโดยเดินเข้าไปร้องเพลงในที่ทำการรัฐทุกวันธรรมดาเวลาพักเที่ยงเป็นจำนวน 10-20 คน หนึ่งในนั้นคือพ่อของนักศึกษาคนนี้เอง

อีกคนที่น่าสนใจคือนักเรียนเวียดอเมริกันที่สัมภาษณ์คนชราที่เขาทำงานด้วย นักเรียนคนนี้ทำงานบริการ ทำความสะอาด ดูแลให้ความช่วยเหลือคนชราในบ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง เขาเล่าว่างานวิจัยเล็กๆ นี้ช่วยให้เขาได้พูดคุย ได้รู้จัก ได้เห็นแง่มุมความเป็นมนุษย์ของคนชราเหล่านี้มากขึ้น เขาบอกว่า จากที่เคยเห็นคนแก่เหล่านี้ว่าเป็นเพียง "งาน" ของเขา แต่เมื่อได้รู้ชีวิตเบื้องหลังแต่ละคนมากขึ้น ได้สังเกตรายละเอียดของชีวิตประจำวันมากขึ้น ได้รู้เกียรติประวัติหน้าที่การงานสำคัญของพวกเขาในอดีตมากขึ้น ได้เห็นความโดดเดี่ยวของพวกเขามากขึ้น แล้วที่สุดก็ทำให้เห็นคนชราเหล่านี้เป็นเพื่อนมนุษย์มากขึ้น

ผมให้นักศึกษาทำงานวิจัยเล็กๆ ของตนเองก็จริง แต่ก็ไม่ได้ให้ต่างคนต่างศึกษากันไปเงียบๆ อยู่คนเดียว ผมให้พวกเขาค่อยๆ พัฒนางาน ให้เขาได้เอางานเขียนมาแลกกันอ่าน ให้พวกเขาแนะนำวิจารณ์กันเองในกลุ่มย่อยๆ อยู่สัก 4 สัปดาห์ แล้วในสัปดาห์สุดท้ายของการเรียน ผมให้แต่ละคนนำเสนองานตัวเองสั้นๆ ให้ทุกคนได้ฟังได้สอบถามกัน

ที่น่ายินดีคือ วิธีนี้ทำให้พวกเขาได้เห็นมุมมอง ได้เห็นวิธีการตั้งคำถาม ได้เห็นแง่มุมของสังคม ได้รับรู้วิถีชีวิตที่แตกต่างออกไปจากตนเองจากที่แต่ละคนสนใจได้ดีมาก นักเรียนผิวขาวอเมริกันได้เรียนรู้เรื่องของนักเรียนม้ง นักเรียนไต้หวัน และนักเรียนเกาหลี นักเรียนอเมริกันภาคเหนือได้รู้จักมุมมอง ความสนใจ ของนักเรียนอเมริกันจากภาคใต้ นักเรียนผิวขาวได้รับรู้มุมมองของนักเรียนผิวดำ นักเรียนผิวดำได้รู้จักความสนใจของนักเรียนผิวขาว  

เรื่องที่ผมยินดีที่สุดในวันนี้คือ นักศึกษาคนหนึ่งที่แทบไม่เคยมาเรียนเลย แล้วไม่ได้ส่งงานเลยมาตลอดภาคการศึกษา ได้แวะมาหา ที่ผ่านมาผมเตือนให้เขาถอนวิชานี้เสีย แต่เขาอธิบายว่าเขาป่วยหนัก ต้องพักเรียนทุกวิชาหลายสัปดาห์แล้ว แต่จะต้องจบภาคการศึกษานี้ ขอความกรุณาให้ผมผ่อนปรนแล้วเขาจะมาเรียนให้ได้ แต่สุดท้ายเขาก็มาเรียนไม่ได้ วันนี้เขามาหา เอางานมาส่งครบ แล้วอธิบายความเจ็บป่วย เขายอมรับเงื่อนไขว่าเขาจะไม่มีทางได้เกรดสูงๆ ผมรับงานเขา แล้วบอกว่าจะให้โอกาสเขาเท่าที่พอจะทำได้

เสียดายแต่ว่านักศึกษาที่เรียนด้วยไม่ได้มาอ่านบันทึกนี้ แต่เอาไว้ผมจะเขียนไปเล่าให้พวกเขาอ่านว่าได้อะไรจากห้องเรียนนี้บ้าง ที่จริงผมอยากถามพวกเขาแบบที่มักจะถามนักศึกษาเมื่อปิดภาคการศึกษาเสมอๆ ว่า พวกเขาได้อะไรใหม่ๆ จากการเรียนวิชานี้บ้าง พวกเขามีอะไรแนะนำเพื่อการปรับปรุงวิชานี้บ้าง เสียดายที่เวลาไม่พอ สุดท้ายก็เฝ้ารอที่จะได้อ่านงานเขียนชิ้นสุดท้ายของพวกเขา หวังว่าจะได้อ่านงานเขียนดีๆ และได้เรียนรู้อะไรจากพวกเขาเพิ่มขึ้นอีก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน