Skip to main content

กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 

1) หากยึดหลักว่าเสียงภาษาพม่าเรียกชื่อชนกลุ่มนี้อย่างไรก็ออกเสียงตามนั้นดังที่ราชบัณฑิตอ้างแล้วล่ะก็ หลักนี้ก็คงใช้กับเฉพาะประเทศพม่าหรืออย่างไร เพราะเพียงแค่ชื่อ อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ตรงกับการออกเสียงชื่อชนชาติของเจ้าของภาษาเองแล้ว คนไทยเคยใช้กันอย่างนี้มาจนเคยชินติดปากติดหูแล้ว หากจะให้พยายามไปออกเสียงและเขียนแบบเจ้าของภาษา ก็คงจะโกลาหล  

กรณีโรฮิงญาก็เหมือนกัน ผมเห็นด้วยกับที่มีคนแสดงความเห็นว่า น่าจะออกเสียงและเขียนตามที่เคยทำกันมาอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้สังคมไทยเขารู้จักชนกลุ่มนี้กันมากขึ้นแล้ว คงมีเพียงบางหน่วยงานของรัฐและราชบัณฑิตที่เพิ่งตื่นขึ้นมาสนใจเรื่องนี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ก็เลยเพิ่งสนใจว่าจะออกเสียงอย่างไร 

แต่หากจะยืนยันว่าต้องเรียกตามภาษาทางการของประเทศนั้นๆ ถ้าอย่างนั้น ก็คงจะต้องเปลี่ยนชื่อเรียกชนชาติอีกมากมายในโลกที่คนไทยเรียกอย่างเคยชินอยู่แล้วไปตามการออกเสียงของภาษาที่รัฐบาลใช้เรียกกันมากมาย เช่น ก็คงต้องเปลี่ยนชื่อเรียกชาวเย้าในเวียดนามตามรัฐบาลเวียดนามว่าชาว "ซาว" เรียกชาวไทในเวียดนามตามภาษารัฐบาลเวียดนามว่า "ถาย" ฯลฯ จะเอาอย่างนั้นก็คงจะวุ่นวายน่าดู 

2) อันที่จริง หากจะราชบัณฑิตจะแสดงบทบาทเป็นผู้รู้ของสังคม ก็ควรจะค้นคว้าดูว่า ชื่อเรียกชนชาตินี้ที่เจ้าของสังคมนี้หรือเจ้าตัวของคนในชนชาตินี้เองเขาเรียกน่ะ เขาเรียกตัวเขาเองว่าอย่างไร มากกว่าจะไปพยายามออกเสียงจากเสียงภาษาพม่า ข้อนี้เป็นประเด็นเรื่องการเมืองของชื่อเรียกชนชาติ  

หากราชบัณฑิตจะไม่สนใจอ่านเอกสารภาษาอังกฤษที่มีข้อเสนอเรื่องนี้มากมายจนลงตัวแล้ว ก็โปรดลองอ่านงานของจิตร ภูมิศักดิ์เรื่อง "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" (พิมพ์ครั้งแรกปี 2519) อ่านดูว่าชื่อเรียกชนชาติมีความเหลื่อมล้ำทางอำนาจแฝงอยู่อย่างไร อย่างชื่อ "ไท" กับชื่อ "สยาม" จิตรสันนิษฐานว่าชื่อแรกเป็นชื่อที่คนกลุ่มหนึ่งเรียกตนเองอย่างภูมิใจ แปลว่า "คน" ส่วนอีกชื่อหนึ่งน่าจะเป็นชื่อที่คนอื่น เช่นชาวจีน ชาวพม่า เรียกชนกลุ่มนี้ ซึ่งมักจะมีนัยเป็นลบ  

หากเราจะเรียกชื่อใครอย่างเคารพศักดิ์ศรีกัน ก็ควรเรียกชื่อที่เขาอยากให้เรียก มากกว่าจะเรียกชื่อที่คนมีอำนาจเหนือเขาและดูถูกเขาเรียกไม่ใช่หรือ การเมืองเรื่องชาวโรฮิงญาในพม่านั้นเป็นการเมืองของการไม่ยอมรับการมีอยู่อย่างเป็นทางการของกลุ่มชาติพันธ์ุนี้ และจึงมีทั้งการใช้ความรุนแรงจากสังคมและรัฐในการบีบบังคับให้ชาวโรฮิงญาไร้ตัวตน จนทำให้พวกเขาต้องหลบหนีออกนอกประเทศ เราควรเรียกชื่อคนที่ถูกรัฐบาลประเทศนั้นรังแกตามที่รัฐบาลนั้นเรียก หรือเรียกตามที่คนกลุ่มนั้นเขาเรียกตัวเองกันแน่ 

อันที่จริง ถ้ายึดตามหลักข้อนี้ ไม่ใช่เฉพาะชื่อกลุ่มชนในภาษาอื่น ในภาษาไทยเองก็มีชื่อที่เป็นปัญหา ไม่ใช่ชื่อที่เจ้าของชนชาติเขาเรียกตัวเองอยู่มาก เช่น ชื่อ เย้า เจ้าของชนชาติเองเขาจะเรียกตนเองว่า เมี่ยน มากกว่า ส่วนชื่อ แม้ว แม้จะไม่ใช้เรียกกันแล้ว แต่ก็ยังเห็นชอบใช้กันอยู่ในสังคม ชื่อ มูเซอ ก็ควรเปลี่ยนเป็น ล่าหู่  

3) ข้อที่ใหญ่กว่านั้นคือ ปัญหาที่ว่าราชบัณฑิตควรยอมรับบทบาทที่ตนเองเป็นได้เพียงทางเลือกของการใช้ภาษา ไม่ใช่บทบาทของการเป็นผู้บัญญัติกำกับวางหลักเกณฑ์ภาษา รวมทั้งหลักการใช้คำ การสะกด การเขียนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำศัพท์และภาษาสำเนียงต่างๆ เพราะนี่แสดงให้เห็นถึงการเปิดตัวเองเข้าสู่โลกของการใช้ภาษาที่มีชีวิตชีวา  

ปัญหาหนึ่งของการไล่ตามไม่ทันโลกคือการที่รัฐไทยไม่เข้าใจว่าในโลกนี้มีหลักการใช้ภาษาต่างกับภาษาไทยมากมาย เช่น ในประเทศเวียดนาม ไม่มีการระบุว่าภาษาเวียดนามสำเนียงใดเป็นภาษากลางหรือเป็นภาษามาตรฐาน ข้อนี้ต่างจากประเทศไทย ปัญหาคือเมื่อราชบัณฑิตไทยกำกับการเขียนภาษาเวียดนามในภาษาไทย ก็จะอิงสำเนียงหนึ่ง นั่นก็คืออิงสำเนียงภาษาเหนือ เพราะคงจะถือเอาตามความเคยชินอย่างประเทศไทยว่า ภาษาของคนกลุ่มที่มีอำนาจที่สุดก็น่าจะเป็นภาษามาตรฐาน  

แท้จริงแล้วการเมืองเรื่องภาษาถิ่นในเวียดนามนั้นเปิดกว้างกว่าประเทศไทย รัฐบาลเวียดนามไม่ได้ห้ามใช้ภาษาถิ่นอย่างเป็นทางการแบบประเทศไทย ผู้ประกาศข่าวหรือผู้ประกาศในทีวี วิทยุ ซึ่งทั้งหมดเป็นของรัฐ สามารถใช้ภาษาถิ่นได้เป็นปกติ ดังนั้นหากจะเคารพการออกเสียงแบบคนเวียดนามเอง ก็ควรจะยอมให้มีการเขียนถ่ายเสียงภาษาเวียดนามในภาษาไทยได้หลายสำเนียงของเวียดนามด้วย เพียงแต่ผู้ใช้ควรระบุก่อนว่าจะใช้สำเนียงใด 

แต่ที่ประหลาดคือ แม้ราชบัณฑิตไทยจะอ้างว่าใช้สำเนียงเวียดนามเหนือมาตลอด แต่ไม่ทราบว่าหูของนักภาษาศาสตร์ประจำราชบัณฑิตไทยที่วางกรอบการเขียนภาษาเวียดนามเป็นภาษาไทยจะไม่ดีหรือว่าท่านเหล่านั้นจะภาษาไทยไม่ดีก็ไม่ทราบได้ เพราะกฎการถ่ายเสียงภาษาเวียดนามเป็นภาษาไทยของราชบัณฑิตไทยเพี้ยนทั้งเสียงวรรณยุกต์และเสียงพยัญชนะอยู่หลายที่ทีเดียว อีกทั้งยังไม่คงเส้นคงวาในการออกเสียงว่าจะยึดสำเนียงใด  

ข้อนี้มีรายละเอียดที่ต้องเขียนถึงแยกต่างหากออกไป แต่ในที่นี้เพียงเพื่อต้องการยกตัวอย่างให้เห็นว่า เมื่อภาษาไทยกับภาษาต่างๆ ในโลกแลกเปลี่ยนปนเปกันแล้ว ภาษาไทยก็ไม่สามารถหยุดนิ่งหรืออยู่ใต้การกำกับขององค์กรใดอย่างตายตัวเท่านั้นได้ ซึ่งที่จริงนี่ก็ไม่ต่างอะไรกับโลกยุคโบราณ ที่ภาษาเปลี่ยนแปลงเสมอเช่นกัน คงมีเพียงยุคหนึ่งเท่านั้นที่ชนชั้นนำสยาม-ไทยพยายามที่จะจำกัด ตีกรอบ การใช้ภาษาให้ตายตัวมากขึ้น 

หากประเทศไทยจะสนใจปัญหาสิทธิมนุษยชน ให้ความสนใจคนกลุ่มชาติพันธ์ุที่ถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยหลักมนุษยธรรมในมาตรฐานของชาวโลกสากล การหาชื่อเรียกคนกลุ่มใดๆ ก็ควรจะหาชื่อที่คนกลุ่มนั้นยอมรับเอง ออกเสียงเอง ไม่ดีกว่าหรือ ไหนๆ ก็มีชาวโรฮิงญาอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยแล้ว ราชบัณฑิตจะใช้ความรู้ทางภาษาศาสตร์ กับความถ่อมตนทางมนุษยธรรม เดินไปถามพวกเขาเองสักสิบคนยี่สิบคนว่าเขาออกเสียงเรียกชื่อตนเองอย่างไร แล้วค่อยระบุว่าจะออกเสียงอย่างไร จะดีกว่าไหม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง