Skip to main content

เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น

คนรุ่นผมน่าจะเป็นรุ่นแรกๆ ที่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นในประเทศไทย คนก่อนรุ่นผมในประเทศไทยอาจจะยังไม่มีการ์ตูนให้อ่านดาดดื่นแบบที่เราเห็นกันในปัจจุบันเลยด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่การ์ตูนญี่ปุ่นเลย อุตสาหกรรมการ์ตูนทั้งอเมริกัน ญี่ปุ่น และไทย ก็น่าจะเริ่มที่มีคนรุ่นผมเป็นผู้บริโภคหลักนี่แหละ ในประเทศไทย การ์ตูนไม่ว่าจะสัญชาติอะไรก็ตามจึงมีภาพความเป็นเด็ก หรืออย่างน้อยก็เด็กกว่าคนรุ่นพ่อแม่ผมอยู่เสมอ พวกเขาจะไม่มีทางเข้าใจความเติบโตตามวัยของคนอ่านการ์ตูนได้เลย 

ถ้าบอกไปก็จะเป็นการฟ้องอายุเสียเปล่าๆ ว่าการ์ตูนญี่ปุ่นที่ผมอ่านเมื่อเริ่มเข้าสู่ทีนเอจน่ะ รุ่นแรกๆ เลยคือ "แคนดี้" แต่เนื่องจากการ์ตูนญี่ปุ่นราคาแพง ผมกับพี่สาวก็จะหาทางหารายได้พิเศษด้วยการเอาของจากแถวบ้านไปขายเพื่อนที่โรงเรียน เอากำไรนิดหน่อย แล้วเก็บเงินไปซื้อการ์ตูนมาแบ่งกันอ่าน พี่สาวผมเป็นคนคิดวิธีหารายได้แบบนี้ เธอหัวการค้ามาตั้งแต่เด็กๆ เราก็เลยได้อ่านแคนดี้กันแทบจะทุกเล่มตั้งแต่เมื่อหนังสือแต่ละตอนแปลวางแผงเลยทีเดียว 

นอกจากการ์ตูนญี่ปุ่น ผมก็ชอบอ่านการ์ตูนไทยเหมือนกัน "การ์ตูนเล่มละบาท" ที่เป็นการ์ตูนช่องแบบไทยๆ ลายเส้นและเรื่องเล่าแบบไทยๆ อย่างผลงานของ "เตรียม ชาชุมพร" นับเป็นแหล่งบันเทิงอันยิ่งใหญ่อ่านซ้ำไปซ้ำมาได้ไม่รู้เบื่อ หรือไม่อาจเบื่อได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อยามฤดูร้อนที่ต้องไปอาศัยอยู่กับยายในเขตชนบทของอยุธยา ซึ่งห่างไกลจากตัวเมืองมาก จะได้การ์ตูนสักเล่ม สองเล่ม ก็จะต้องรอว่าเมื่อไหร่พวกน้าๆ จะมาเยี่ยมแล้วพานั่งเรือหางยาวเข้าเมือง ผมก็เลยให้คุณค่ากับการพาหลานไปงานการ์ตูนด้วยเหตุนี้เช่นกัน 

ย้อนกลับมางานเมื่อวาน ผมกับหลานที่มีเพื่อนจากโรงเรียนเธอติดไปด้วยอีหนึ่งคน ไปถึงงานตั้งแต่เช้า คนยังมาไม่มาก ก็จึงได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้มาร่วมงานมากหน่อย ผมตื่นเต้นมากที่ได้พบว่า นี่มันเป็นงานนักเขียนการ์ตูนอินดี้รุ่นเยาว์เลยทีเดียว หากดูจากอายุแล้ว คนที่ผลิตการ์ตูนแล้วนำการ์ตูนมาขายเองในงานนี้ อย่างมากน่าจะอายุไม่เกิน 25 ปี ที่เด็กสุดอาจจะสัก 14-15 ปี ทั้งหมดเป็นเด็กไทย นักเขียนรุ่นเยาว์เหล่านี้เล่าว่า ปีนี้ไม่รู้เป็นอะไร งานแบบนี้จัดถี่มาก แทบจะเดือนละครั้ง พวกเขาก็คอยเอาผลงานไปขายตามงานเหล่านี้แหละ 

ภาพโต๊ะเล็กๆ เด็กวัยรุ่น ทั้งหญิงและชาย 2-5 คนนั่งเบียดเสียดกันหน้าหนังสือ รูปภาพ สมุด ที่พวกเขาผลิตกันขึ้นมาเองแล้วมาวางขายกัน รวมทั้งหมดได้สักเกือบร้อยแผง นับเป็นภาพตื่นตาตื่นใจผมเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง เป็นคนตัวเล็กๆ ที่หน้าตาและจิตใจสดใส แต่มีความซับซ้อนทั้งในวิธีคิดและจินตนาการ อย่างน้อยก็ในแบบที่เขาเข้าใจสิ่งต่างๆ แล้วกลั่นกรองมันออกมาเป็นถ้อยคำ ภาพเขียน สีสัน เส้นสาย ทำให้ผมคิดว่า สังคมการ์ตูนสมัยนี้ช่างห่างไกลจากสังคมการ์ตูนสมัยผมมากนัก สมัยก่อนผมก็ได้แต่การ์ตูนเก็บไว้อ่านคนเดียว หรือไม่ก็ให้เพื่อนดูไม่กี่คน 

นักเขียนการ์ตูนรุ่นเยาว์เหล่านี้ พวกเขาส่วนหนึ่งรู้จักกันและกันผ่านโลกออนไลน์ เช่น มีนักเขียนการ์ตูนเจ้าหนึ่ง หลังงานเริ่มได้เพียง 2 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่คนมางานยังไม่มาก คือน้อยกว่าคนที่เอาผลงานมาขายเสียอีก แต่ผลงานของเจ้านี้หมดแล้ว หลานผมรีบไปหาซื้อสมุดสเก็ตช์ภาพว่างๆ มีเพียงปกที่มีรูปลายเส้นของเขาพิมพ์อยู่ได้มาเป็นเล่มสุดท้ายพอดี เจ้าของผลงานจึงวาดการ์ตูนลายเส้นสดๆ ให้พร้อมแจกลายเซ็น ทำเอาหลานผมปลื้มไปเลย เธอบอกว่ารู้กันดีว่านักเขียนการ์ตูนรายนี้มีชื่อเสียง หลานผมเองเธอก็ชอบวาดการ์ตูนด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฝีมือใช้ได้พอสมควรทีเดียว แต่เธอหลงใหลลายเส้นของนักเขียนรายนี้มาก 

ผมได้คุยกับการ์ตูนนิสต์รุ่นเยาว์หลายคน มีเจ้าหนึ่ง นั่งกันอยู่ 5-6 คน พวกเขาจริงจังกับการเขียนนวนิยาย แล้ววาดภาพประกอบ แต่เขาคิดลูกเล่นส่วนตัวของสำนักพิมพ์เขาเองคือ การใช้ QR Code ติดแทนพิมพ์เป็นภาพประกอบลงไปในหนังสือนิยายแฟนตาซีพิมพ์กระดาษของพวกเขา แล้ว QR Code จะโยงผู้อ่านไปสู่ภาพประกอบที่ฝากไว้ในโลกออนไลน์ พวกเขาอธิบายว่าการทำภาพประกอบนิยายแบบนี้ช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าถึงภาพที่สวยงามกว่าภาพขาวดำ แล้วยังสามารถนำภาพไปพิมพ์ออกมาใช้ได้หากผู้อ่านชอบ พวกเขาอ้างว่าเป็นเจ้าแรกๆ ที่ใช้เทคนิคนี้ในการทำภาพประกอบนิยายแฟนตาซี 

ผมได้คุยกับอีกเจ้าหนึ่ง เป็นนักเขียนมังงะหรือการ์ตูนช่อง เธอมีผลงานหลายเล่มทีเดียว มักเลือกเขียนเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์หญิง-ชาย หรือบางเรื่องก็หญิง-หญิง พอผมเอื้อมมือไปหยิบเล่มหนึ่งที่หนาหน่อย แถมวางไว้หลายเล่ม แสดงว่าคงคาดว่าจะขายดี นักเขียนการ์ตูนตกใจใหญ่ เธอบอกว่า "อันนั้นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงค่ะ" ผมก็บอก "อ้าว ไม่รู้ครับ เห็นเล่มหนาๆ แค่อยากดู" แต่ผมดูก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดี เพราะเดี๋ยวนี้เขานิยมทำให้เปิดแบบหนังสือญี่ปุ่น เลยกลายเป็นว่าผมเปิดจากหลังมาหน้า ดูไม่รู้เรื่อง 

อีกคนที่น่าสนใจมานั่งขายอยู่คนเดียว หลานผมสนใจเข้าไปดูด้วย ก็เลยลองคุยกับเธอดู รายนี้เล่าว่าเธอเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เรียนวรรณกรรมเยาวชน ชอบเขียนเรื่องและภาพประกอบวรรณกรรมเยาวชน หนังสือเธอน่าสนใจที่ เธอวาดรูปและเล่าเรื่องในแนวหนังสือนิทานเด็กอายุไม่เกิน 5-6 ขวบ คือใช้ตัวหนังสือน้อย ขนาดตัวใหญ่ๆ แล้วมีรูปมากหน่อยเต็มหน้ากระดาษ ขนาดหนังสือก็ใหญ่หน่อย แต่รูปและเรื่องเป็นเรื่องแฟนตาซีแต่แฝงแนวคิดเชิงปรัชญา 

อีกกลุ่มหนึ่งที่ผมได้สนทนาด้วยนิดหน่อยคือนักวาดการ์ตูนในอีกห้องหนึ่ง พวกเขาและเธอ (ส่วนใหญ่ผู้หญิง) มานั่งวาด "ภาพเหมือน" แนวการ์ตูนญี่ปุ่น ตามสไตล์ของแต่ละคน ที่นั่งกันอยู่มีร่วม 50 คน แต่ละคนแสดงผลงานตนเอง เพื่อให้ผู้มาในงานได้สั่งภาพ ราคาก็ไม่แพง ถ้าเฉพาะลายเส้นก็ราวๆ 20 บาท ถ้าลงสีน้อยหน่อยก็ 50 บาท มากหน่อยก็อาจจะเป็น 100 -120 บาท แล้วแต่ขนาดของภาพด้วย แต่ส่วนมากก็ขนาดโปสการ์ดเล็กๆ หลานผมก็ร่วมมนุกด้วย เธอถ่ายภาพตัวเองลงโทรศัพท์มือถือของการ์ตูนนิสต์ 3 เจ้าด้วยกัน พอแต่ละเจ้าวาดเสร็จ เมื่อเอามาเปรียบเทียบกันก็เป็นคนละสไตล์จริงๆ ชวนให้เพลิดเพลินดี 

นักเขียนการ์ตูนเหล่านี้ส่วนมากเรียนมาทางศิลปะ จึงมีทักษะในการเขียนภาพค่อนข้างดี แถมพวกเขายังมีสไตล์ขของตัวเอง มีคนหนึ่งที่ผมชอบเลยเข้าไปคุยด้วย เป็นหนุ่มเรียนสถาปัตย์ ชอบวาดรูปโมโนโครม ลายเส้นแบบสถาปัตย์ คือมีการตัดขอบเส้นคมๆ ด้วยปากกา แต่อีกสไตล์ที่ผมชอบคือ เขาชอบวาดแนวพู่กันจีน เขาใช้พู่กันสมัยใหม่ที่บีบสีออกมาจากด้ามเลย แล้ววาดรูปลงน้ำหนักตามความจางหรือเข้มของนำ้หมึก แต่คงไม่มีใครชอบสไตล์เขานัก ผิดกับนักเขียนภาพผู้หญิง ที่วาดรูปกุ๊กกิ๊กน่ารัก บางคนลงสีแก้มการ์ตูนแดงเรื่อย แบบเดียวกับที่เธอแต่งหน้าตัวเอง สไตล์สีสันและลายเส้นหวานๆ ถูกจริตกับชาวการ์ตูนในงานนี้ที่มีเด็กผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เจ้าหนุ่มที่ผมชอบงานเขาก็เลยยังไม่มีคนจ้าง 

ก่อนจะกลับ ช่วงบ่ายต้นๆ คนเยอะขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาคนแต่ง "คอสเพล" เริ่มเดินกันขวั่กไขว่ ที่จริงหลานผมก็ขนชุดไปแต่งคอสเพลในงานเหมือนกัน แต่เป็นคอสเพลบ้านๆ เธอใส่ไม่นานแล้วถอดเสียก่อน ไม่ใช่เพราะอายหรอก แต่เพราะอยากถ่ายรูปให้นักเขียนการ์ตูนวาดมากกว่า  

งานนี้ทั้งงานเปิดหูเปิดตาผมมาก ไม่นึกมาก่อนเลยว่าสังคมของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งในบ้านเราพัฒนามาได้ถึงเพียงนี้ พวกเขามีโลกของตัวเอง มีแวดวงของตัวเอง มีความคิดความใฝ่ฝันของพวกเขาเอง เห็นเด็กกลุ่มนี้แล้วผมว่าโลกมีความหวังอย่างไรก็ไม่ทราบ ไม่ว่าพวกเขาจะเข้าใจโลกกว้างอย่างไร อย่างน้อยตัวหนังสือ ความคิด จิตนาการ เส้นสาย และสีสัน คงจะขัดเกลาให้พวกเขาเป็นคนที่มีคุณภาพและรู้จักรักเพื่อนมนุษย์มากยิ่งกว่าคนรุ่นพ่อรุ่นแม่พวกเขา และเผ็นพื้นฐานไปสู่การเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง เป็นระบบ ต่อไปได้อีกมาก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"