Skip to main content

ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 

แต่มาปีนี้ ผมเองชักจะเบื่อกับการถามเรื่องการเมือง ผมก็เลยละเว้นไม่ถามทัศนะทางการเมือง แล้วไปถามเรื่องบาางเรื่องที่ก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน แม้ว่าจะสัมภาษณ์เพียงไม่กี่คน ก็ชวนให้คิดว่ามีอะไรบางอย่างที่ไม่เปลี่ยนแปลง และอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลง 

อย่างแรก สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ หากถามว่าคุณชอบเรียนวิชาอะไร ถ้านักศึกษาตอบว่าชอบวิชาประวัติศาสตร์ ผมก็มักจะถามต่อว่า ประวัติศาสตร์ไทยช่วงไหนที่ประทับใจมากที่สุด เกือบร้อยทั้งร้อยก็มักจะตอบว่า ชอบสมัยอยุธยา สนใจเรื่องการเสียกรุงทั้งสองครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งแรก ชอบสมัยพระนเรศวร 

เมื่อได้คำตอบแบบนี้ ผมก็จะถามต่อว่า แล้วคุณไปสนใจอะไรกับการเสียกรุงทั้งสองครั้ง นักศึกษาก็เริ่มงงว่าผมจะมาไม้ไหน ผมก็เลยถามต่อว่า คุณเป็นญาติกับพระนเรศวรเหรอ ไม่ทันให้นักศึกษาได้คิด ผมก็มักจะยิงคำถามต่อว่า ดูหน้าคุณแล้ว ผมเดาว่าบรรพบุรุษทั้งฝ่ายพ่อและแม่คุณน่าจะมาจากเมืองจีน แล้วทำไมคุณจะไปแคร์อะไรกับการเสียกรุงทั้งสองครั้ง มันไม่ใช่เรื่องของคุณสักหน่อย ไม่ใช่เรื่องของผมด้วย เพราะบรรพบุรุษผมส่วนมากก็มาจากเมืองจีนเช่นกัน 

แล้วผมก็จะฉวยโอกาสที่พวกเขาปฏิเสธไม่ได้สำทับไปว่า นักเรียนไทยและนักศึกษาไทยส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ที่เป็น "ศาสตร์" แต่สนใจประวัติศาสตร์ที่เป็นนิยายหรือนิทานมากกว่า ประวัติศาสตร์ที่เรียนกันส่วนใหญ่เป็นนิทานหลอกเด็กมากกว่าที่จะเป็นศาสตร์เกี่ยวกับอดีต 

บางอย่างที่ปีนี้มีอะไรใหม่ๆ คือ มีนักเรียนจำนวนอย่างน้อย 30% ของที่ผมสัมภาษณ์นั้นเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีแต่เพียงพ่อหรือแม่ ส่วนใหญ่เป็นแม่มากกว่า โครงสร้างครอบครัวลักษณะนี้อาจจะกำลังกลายเป็นครอบครัวที่ปรากฏจริงมากขึ้นเรื่อยๆ 

เมื่อเกือบสิบปีก่อนที่ผมกลับจากอเมริกา พ่อผมเคยถามว่า ทำไมดูหนังอเมริกันแล้วครอบครัวในหนังมักมีการหย่าร้างแยกทางกัน ผมตอบไม่ได้เพียงแต่มันเป็นข้อเท็จจริงที่สังคมอเมริกันมีครอบครัวหย่าร้างมาก แต่ในขณะนี้ สังคมไทยก็อาจจะมีครอบครัวในลักษณะนั้นมากขึ้นก็ได้ 

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีนักศึกษาคนหนึ่ง มาจากภาคอีสาน เขาพูดถึงจังหวัดเขาในน้ำเสียงชื่นชมความเป็นคนท้องถิ่นของเขา เขาไม่ใช่คนในเมือง ต่างกับนักศึกษาจำนวนมากที่แม้อยู่อีสานเหนือหรือใต้แต่ก็ไม่สามารถพูดภาษาถิ่นได้ แต่ที่น่าประหลาดใจคือ เมื่อผมถามนักศึกษาคนนี้ว่า คุณพูดลาวได้ไหม เขารีบตอบสวนกลับมาทันทีว่าเขาพูดอีสานได้ แต่พูดลาวไม่ได้ แล้วเขาก็รีบอธิบายว่า ภาษาอีสานกับภาษาลาวต่างกัน และภาษาอีสานถิ่นต่างๆ ก็ต่างกัน ผมก็เลยสะกิดใจว่า ทำไมเขาจึงต้องรีบปฏิเสธความเป็น "ลาว" ของเขาอย่างร้อนรนขนาดนั้น  

ผมค่อยๆ ตะล่อมถามเขาว่า เวลาคุณเรียกคนภาคกลาง คุณเรียกว่าอะไร เขาตอบว่า ก็คนภาคกลาง ผมถามต่อว่า บางทีคุณเรียกคนภาคกลางว่าคนไทด้วยหรือเปล่า เขาตอบว่า "ใช่ครับ" ผมก็เลยบอกเขาว่า ถ้าอย่างนั้นคุณก็ยังเรียกตัวเองว่า "ลาว" นั่นแหละ ไม่เห็นจะต้องปฏิเสธเลย ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหนเลยที่จะเรียกตนเองว่าลาว 

เรื่องนี้ผมว่าน่าแปลก เพราะในสมัยผม ผมเจอเพื่อนคนอีสาน เขาก็ไม่ได้จะต้องปกป้องความเป็นลาวของเขา สงสัยว่าสมัยหลังๆ นี้การเรียกตนเองโดยอิงกับภาคกลางของประเทศไทยด้วยคำว่าอีสานนี้ กลายเป็นบรรทัดฐานในการเรียกตนเองของคนลาวในประเทศไทยไปแล้วหรือย่างไร หรือเมื่อเผชิญหน้ากับคนต่างถิ่น พวกเขาจะพยายามปรับตัวตนของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น มากกว่าจะแสดงความเป็นตนเองออกมาอย่างชัดเจน หรือเพราะตัวตนความเป็นลาวมันถูกทำให้ถดถอยขนาดเจ้าของตัวตนเองยังต้องพยายามลบลืมมัน 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ปีนี้นักเรียนที่สอบ admission ได้คณะที่ผมสอนมารายงานตัวกันน้อยกว่าเปิดรับจริงถึง 15% ถามเพื่อนๆ อาจารย์บางคณะในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ กลางเมืองกรุงเทพฯ ก็เป็นทำนองเดียวกัน นอกจากนั้น เพื่อนๆ อาจารย์ที่สัมภาษณ์นักเรียนด้วยกันวันนี้ก็กล่าวทำนองเดียวกันว่า ปีนี้มี "เด็กซิ่ว" คือย้ายที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัยอื่นค่อนข้างมาก ผมเองก็มีสัก 20% ได้  

ปรากฏการณ์นี้จะบอกได้หรือไม่ว่า การที่มหาวิทยาลัยไทยเปิดหลักสูตรใหม่ๆ เปิดมากเสียจนนักเรียนนักศึกษาเลือกเรียน เปลี่ยนที่เรียนกันได้มากขึ้นหรืออย่างไร และก็ไม่แน่ใจว่าทางเลือกมากๆ อย่างนี้จะดีต่อสุขภาพจิตนักศึกษาและผู้ปกครองมากขึ้นหรือเปล่า 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ยิ่งเมื่อเทียบกับยุคสมัยที่ผมเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยคือ การที่นักศึกษาใหม่หลายคนลงทะเบียนเรียนนิติศาสตร์หรือสาขาอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงกัน ผมสงสัยว่าอาจจะเป็นเพราะ หนึ่ง สาขาวิชาที่เขาสอบแอดมิตชันได้นั้น มักเป็นสาขาวิชาที่ไม่ใช่วิชาชีพ อย่างสาขาที่ผมสอนอยู่ พวกเขาจึงไปเรียนวิชาชีพอย่างนิติศาสตร์เพื่อเป็นหลักประกันอนาคตเขา และสอง แทนที่พวกเขาจะมุ่งไปเรียนนิติศาสตร์รามฯ เลย เขาก็คงเสียดายและอยากเก็บสถานภาพความเป็นคน "สอบติด" มหาวิทยาลัยเอาไว้ แม้ว่ามันจะไม่ใช่สาขาวิชาที่พวกเขาอยากเรียนมากนักก็ตาม 

ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาใหม่ของปีนี้ ไม่ว่าคุณจะสอบได้ที่ไหน สำหรับคนที่สอบได้ส่วนหนึ่ง แม้ว่าค่าเล่าเรียนในขณะนี้และหลังจากที่มหาวิทยาลัย "ออกนอกระบบ" เป็นดั่งธุรกิจเอกชนมากขึ้น แล้วค่าเรียนจะแพงขึ้น หากแต่การศึกษาที่พวกคุณคนที่สอบติดก็จะยังคงราคาต่ำกว่าคนการศึกษาที่สอบไม่ติดแล้วต้องเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนเต็มตัวอยู่ดี สังคมส่วนที่ "สอบไม่ติด" และส่วนที่ไม่ได้มีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัย ก็จะยังต้องแบกรับภาระภาษีเลี้ยงดูผู้ที่ "สอบติด" ต่อไป คนที่สอบติดก็ควรสำนึกบุญคุณและตอบแทนสังคมคืนบ้างเมื่อมีโอกาส

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ