Skip to main content

ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 

แต่มาปีนี้ ผมเองชักจะเบื่อกับการถามเรื่องการเมือง ผมก็เลยละเว้นไม่ถามทัศนะทางการเมือง แล้วไปถามเรื่องบาางเรื่องที่ก็น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน แม้ว่าจะสัมภาษณ์เพียงไม่กี่คน ก็ชวนให้คิดว่ามีอะไรบางอย่างที่ไม่เปลี่ยนแปลง และอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลง 

อย่างแรก สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ หากถามว่าคุณชอบเรียนวิชาอะไร ถ้านักศึกษาตอบว่าชอบวิชาประวัติศาสตร์ ผมก็มักจะถามต่อว่า ประวัติศาสตร์ไทยช่วงไหนที่ประทับใจมากที่สุด เกือบร้อยทั้งร้อยก็มักจะตอบว่า ชอบสมัยอยุธยา สนใจเรื่องการเสียกรุงทั้งสองครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งครั้งแรก ชอบสมัยพระนเรศวร 

เมื่อได้คำตอบแบบนี้ ผมก็จะถามต่อว่า แล้วคุณไปสนใจอะไรกับการเสียกรุงทั้งสองครั้ง นักศึกษาก็เริ่มงงว่าผมจะมาไม้ไหน ผมก็เลยถามต่อว่า คุณเป็นญาติกับพระนเรศวรเหรอ ไม่ทันให้นักศึกษาได้คิด ผมก็มักจะยิงคำถามต่อว่า ดูหน้าคุณแล้ว ผมเดาว่าบรรพบุรุษทั้งฝ่ายพ่อและแม่คุณน่าจะมาจากเมืองจีน แล้วทำไมคุณจะไปแคร์อะไรกับการเสียกรุงทั้งสองครั้ง มันไม่ใช่เรื่องของคุณสักหน่อย ไม่ใช่เรื่องของผมด้วย เพราะบรรพบุรุษผมส่วนมากก็มาจากเมืองจีนเช่นกัน 

แล้วผมก็จะฉวยโอกาสที่พวกเขาปฏิเสธไม่ได้สำทับไปว่า นักเรียนไทยและนักศึกษาไทยส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ที่เป็น "ศาสตร์" แต่สนใจประวัติศาสตร์ที่เป็นนิยายหรือนิทานมากกว่า ประวัติศาสตร์ที่เรียนกันส่วนใหญ่เป็นนิทานหลอกเด็กมากกว่าที่จะเป็นศาสตร์เกี่ยวกับอดีต 

บางอย่างที่ปีนี้มีอะไรใหม่ๆ คือ มีนักเรียนจำนวนอย่างน้อย 30% ของที่ผมสัมภาษณ์นั้นเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีแต่เพียงพ่อหรือแม่ ส่วนใหญ่เป็นแม่มากกว่า โครงสร้างครอบครัวลักษณะนี้อาจจะกำลังกลายเป็นครอบครัวที่ปรากฏจริงมากขึ้นเรื่อยๆ 

เมื่อเกือบสิบปีก่อนที่ผมกลับจากอเมริกา พ่อผมเคยถามว่า ทำไมดูหนังอเมริกันแล้วครอบครัวในหนังมักมีการหย่าร้างแยกทางกัน ผมตอบไม่ได้เพียงแต่มันเป็นข้อเท็จจริงที่สังคมอเมริกันมีครอบครัวหย่าร้างมาก แต่ในขณะนี้ สังคมไทยก็อาจจะมีครอบครัวในลักษณะนั้นมากขึ้นก็ได้ 

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีนักศึกษาคนหนึ่ง มาจากภาคอีสาน เขาพูดถึงจังหวัดเขาในน้ำเสียงชื่นชมความเป็นคนท้องถิ่นของเขา เขาไม่ใช่คนในเมือง ต่างกับนักศึกษาจำนวนมากที่แม้อยู่อีสานเหนือหรือใต้แต่ก็ไม่สามารถพูดภาษาถิ่นได้ แต่ที่น่าประหลาดใจคือ เมื่อผมถามนักศึกษาคนนี้ว่า คุณพูดลาวได้ไหม เขารีบตอบสวนกลับมาทันทีว่าเขาพูดอีสานได้ แต่พูดลาวไม่ได้ แล้วเขาก็รีบอธิบายว่า ภาษาอีสานกับภาษาลาวต่างกัน และภาษาอีสานถิ่นต่างๆ ก็ต่างกัน ผมก็เลยสะกิดใจว่า ทำไมเขาจึงต้องรีบปฏิเสธความเป็น "ลาว" ของเขาอย่างร้อนรนขนาดนั้น  

ผมค่อยๆ ตะล่อมถามเขาว่า เวลาคุณเรียกคนภาคกลาง คุณเรียกว่าอะไร เขาตอบว่า ก็คนภาคกลาง ผมถามต่อว่า บางทีคุณเรียกคนภาคกลางว่าคนไทด้วยหรือเปล่า เขาตอบว่า "ใช่ครับ" ผมก็เลยบอกเขาว่า ถ้าอย่างนั้นคุณก็ยังเรียกตัวเองว่า "ลาว" นั่นแหละ ไม่เห็นจะต้องปฏิเสธเลย ไม่เห็นจะเสียหายตรงไหนเลยที่จะเรียกตนเองว่าลาว 

เรื่องนี้ผมว่าน่าแปลก เพราะในสมัยผม ผมเจอเพื่อนคนอีสาน เขาก็ไม่ได้จะต้องปกป้องความเป็นลาวของเขา สงสัยว่าสมัยหลังๆ นี้การเรียกตนเองโดยอิงกับภาคกลางของประเทศไทยด้วยคำว่าอีสานนี้ กลายเป็นบรรทัดฐานในการเรียกตนเองของคนลาวในประเทศไทยไปแล้วหรือย่างไร หรือเมื่อเผชิญหน้ากับคนต่างถิ่น พวกเขาจะพยายามปรับตัวตนของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น มากกว่าจะแสดงความเป็นตนเองออกมาอย่างชัดเจน หรือเพราะตัวตนความเป็นลาวมันถูกทำให้ถดถอยขนาดเจ้าของตัวตนเองยังต้องพยายามลบลืมมัน 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ปีนี้นักเรียนที่สอบ admission ได้คณะที่ผมสอนมารายงานตัวกันน้อยกว่าเปิดรับจริงถึง 15% ถามเพื่อนๆ อาจารย์บางคณะในมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ กลางเมืองกรุงเทพฯ ก็เป็นทำนองเดียวกัน นอกจากนั้น เพื่อนๆ อาจารย์ที่สัมภาษณ์นักเรียนด้วยกันวันนี้ก็กล่าวทำนองเดียวกันว่า ปีนี้มี "เด็กซิ่ว" คือย้ายที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัยอื่นค่อนข้างมาก ผมเองก็มีสัก 20% ได้  

ปรากฏการณ์นี้จะบอกได้หรือไม่ว่า การที่มหาวิทยาลัยไทยเปิดหลักสูตรใหม่ๆ เปิดมากเสียจนนักเรียนนักศึกษาเลือกเรียน เปลี่ยนที่เรียนกันได้มากขึ้นหรืออย่างไร และก็ไม่แน่ใจว่าทางเลือกมากๆ อย่างนี้จะดีต่อสุขภาพจิตนักศึกษาและผู้ปกครองมากขึ้นหรือเปล่า 

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตว่าเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ยิ่งเมื่อเทียบกับยุคสมัยที่ผมเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยคือ การที่นักศึกษาใหม่หลายคนลงทะเบียนเรียนนิติศาสตร์หรือสาขาอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงกัน ผมสงสัยว่าอาจจะเป็นเพราะ หนึ่ง สาขาวิชาที่เขาสอบแอดมิตชันได้นั้น มักเป็นสาขาวิชาที่ไม่ใช่วิชาชีพ อย่างสาขาที่ผมสอนอยู่ พวกเขาจึงไปเรียนวิชาชีพอย่างนิติศาสตร์เพื่อเป็นหลักประกันอนาคตเขา และสอง แทนที่พวกเขาจะมุ่งไปเรียนนิติศาสตร์รามฯ เลย เขาก็คงเสียดายและอยากเก็บสถานภาพความเป็นคน "สอบติด" มหาวิทยาลัยเอาไว้ แม้ว่ามันจะไม่ใช่สาขาวิชาที่พวกเขาอยากเรียนมากนักก็ตาม 

ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาใหม่ของปีนี้ ไม่ว่าคุณจะสอบได้ที่ไหน สำหรับคนที่สอบได้ส่วนหนึ่ง แม้ว่าค่าเล่าเรียนในขณะนี้และหลังจากที่มหาวิทยาลัย "ออกนอกระบบ" เป็นดั่งธุรกิจเอกชนมากขึ้น แล้วค่าเรียนจะแพงขึ้น หากแต่การศึกษาที่พวกคุณคนที่สอบติดก็จะยังคงราคาต่ำกว่าคนการศึกษาที่สอบไม่ติดแล้วต้องเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนเต็มตัวอยู่ดี สังคมส่วนที่ "สอบไม่ติด" และส่วนที่ไม่ได้มีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัย ก็จะยังต้องแบกรับภาระภาษีเลี้ยงดูผู้ที่ "สอบติด" ต่อไป คนที่สอบติดก็ควรสำนึกบุญคุณและตอบแทนสังคมคืนบ้างเมื่อมีโอกาส

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง