Skip to main content

ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 

ปัญหาการอพยพจากถิ่นฐานของชาว Rohingya จึงจำเป็นต้องเข้าใจภาพที่กว้างกว่าปัญหาชาว Rohingya นั่นคือต้องทำความเข้าใจกระบวนการที่ก่อให้เกิดกลุ่มสังคมที่ซ้อนทับอยู่ในสังคมการเมืองที่เรารู้จักกันว่ารัฐประชาชาติ (nation-state)  

ก่อนที่จะมีประเทศชาติแบบที่เรารู้จักกันว่าเป็นประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศพม่า ฯลฯ นั้น มีสังคมที่รวมตัวกันอยู่ตามกรอบของกลุ่มสังคมแบบต่างๆ กลุ่มสังคมเหล่านั้นรวมตัวกันโดยสำนึกว่ากลุ่มตนแยกแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ และจึงมีชื่อเรียกลัทธิธรรมเนียม ภาษา วิถีชีวิตเฉพาะของตนเอง เช่น ชาวม้ง ชาวเมี่ยน ชาวลาหู่ ฯลฯ 

ฉะนั้น นอกจากสังคมครอบครัว สังคมชุมชนหมู่บ้าน สังคมเครือข่ายการค้า สังคมนครรัฐ สังคมประเทศ และสังคมโลกแล้ว ยังมีสังคมที่เรียกว่าชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ (ethnic community) ซ้อนทับอยู่ด้วย 

 

มีผู้ให้คำจำกัดความของกลุ่มชาติพันธุ์ว่าหมายถึง กลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับความเชื่อที่เป็นอัตวิสัยว่าพวกเขามีบรรพบุรุษร่วมกัน เนื่องมาจากการมีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกันหรือมีประเพณีคล้ายคลึงกัน หรือมีทั้งสองอย่าง หรือเนื่องจากความทรงจำจากการถูกทำให้เป็นอาณานิคมหรือจากการอพยพ ความเชื่อนี้สำคัญต่อการชวนเชื่อเพื่อการก่อตัวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ในทางตรงกันข้าม ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์นี้ไม่จำเป็นที่ว่าจะต้องมีสายเลือดเดียวกันอย่างเป็นวัตถุวิสัยŽ (Max Weber. Economy and Society. Berkeley: University of California Press, 1978 [1968], p. 389.) 


สิ่งที่น่าสังเกตจากคำจำกัดความดังกล่าวนี้คือ (1) กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้จำเป็นต้องสืบเชื้อสายเดียวกันจริงๆ ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันจึงต่างจากความเป็นเครือญาติที่นับตามการสืบเชื้อสายได้ชัดเจนกว่า (2) ความคล้ายคลึงกันของวัฒนธรรมอาจจะทำให้คนบางกลุ่มนับว่าคนอีกกลุ่มที่มีวัฒนธรรมเหมือนๆ กับกลุ่มตน เป็นคนกลุ่มเดียวกับตน (3) ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้จำเป็นต้องสืบทอดต่อเนื่องกันมา เพราะอาจเกิดจากการกำหนดขึ้นของสังคมที่มีอำนาจมากกว่า เช่น รัฐอาณานิคม และที่สำคัญคือเกิดจากความทรงจำร่วมของสังคม ที่อาจจะรางเลือนหรือถูกกำหนดขึ้นมาภายหลัง 

สรุปแล้ว ที่เรียกกันทั่วไปว่าคนกลุ่มหนึ่งเป็นคนชนชาติเดียวกันจึงเป็นการสมมุติขึ้นมา อุปโลกน์กันขึ้นมาจากความเหมือนกันของรูปร่างหน้าตาผิวพรรณหรือเหมือนกันด้านวัฒนธรรมหรือทั้งสองอย่าง หรืออาจจะถูกกำหนดขึ้นมาจากกลุ่มคนที่มีอำนาจมากกว่า หรือจากความทรงจำเท่านั้นเอง

ดังนั้น เราจึงอาจจะพบตัวอย่างที่ซับซ้อนหลายตัวอย่าง เช่น ตัวอย่างง่ายๆ ในประเทศไทยคือความเป็นคนไทย ก็ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมาจากสายเลือด เพราะที่เรียกกันว่าคนไทยนั้น มีทั้งที่สืบเชื้อสายมาจากคนที่อพยพมาจากทางเหนือ (คนพูดภาษาตระกูลลาว/ไท/ไต) ผสมกับคนที่อาศัยอยู่ทางใต้ (คนพูดภาษาตระกูลมอญ-ขแมร์และภาษามลายู) ผสมกับคนอพยพจากประเทศจีนตอนใต้ และคนกลุ่มอื่นๆ อีกมากมาย ในบางกรณีสังคมสองสังคมอาจพูดภาษาเดียวกันชนิดที่เหมือนกันสนิท หากแต่แต่งกาย อยู่อาศัย และใช้ชื่อเรียกแตกต่างกันไปจากคนอีกกลุ่มที่พูดภาษาเดียวกันสำเนียงเดียวกัน กรณีแบบนี้พบได้เสมอๆ ไม่ว่าจะในประวัติศาสตร์อันยาวนาน หรือในสมัยปัจจุบัน 

ตัวอย่างเหล่านี้มีมากมาย เช่น ชาวไทดำและไทขาวของบางเมืองในประเทศเวียดนามปัจจุบัน ที่ใช้ชื่อเรียกชนชาติตนเองแตกต่างกัน มีวิถีชีวิตแตกต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อย หากแต่คนทั้งสองกลุ่มใช้ภาษาพูดสำเนียงเดียวกัน หรือในทางกลับกัน คนบางกลุ่มมีภาษาและวิถีชีวิตใกล้เคียงกันหรือส่วนใหญ่เหมือนกัน หากแต่มีสำนึกความเป็นกลุ่มชนชาติคนละกลุ่มกัน เช่น ชาวกิงญ์และชาวหง่วนในเวียดนามตอนกลาง ที่มีวิถีชีวิตคล้ายกัน ประชากรจำนวนมากใช้ภาษาเดียวกันคือภาษาเวียด แต่สำนึกความเป็นกลุ่มคนเป็นคนละกลุ่มกัน

กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่มีมาก่อนการมีรัฐประชาชาติ เมื่อเกิดสังคมรัฐประชาชาติขึ้นหลังการผละออกไปของอำนาจอาณานิคม ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างใหญ่หลวง จนก่อให้เกิดกลุ่มชาติพันธุ์ 3 ลักษณะด้วยกันดังนี้

กลุ่มแรก "ชนกลุ่มใหญ่"Ž ชนชาติพันธุ์ที่อุปโลกน์ว่าตนเป็นชนกลุ่มใหญ่ มักเข้าใจเอาเองว่าตนเองคือชนพื้นเมือง เป็นเจ้าถิ่น และมีจำนวนประชากรมากที่สุด เป็นชนที่มีพัฒนาการทางสังคมเหนือชนกลุ่มอื่นในประเทศ อันที่จริงการกล่าวว่าชนกลุ่มใดเป็นชนพื้นเมืองของพื้นที่ใดนั้นกล่าวได้ยากนัก เนื่องจากไม่มีทางระบุได้ว่านานแค่ไหนจึงจะเรียกได้ว่านานพอจะทำให้คนกลุ่มหนึ่งเป็นชนพื้นเมือง เพราะหากย้อนถอยไปนับล้านปี มนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ในปัจจุบันก็ล้วนเดินทางออกมาจากทวีปแอฟริกาทั้งสิ้น

หรือหากจะยึดเอาเฉพาะพื้นที่ในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้สันนิษฐานว่าเดิมทีดินแดนนี้เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชนดั้งเดิมที่สืบเชื้อสายจากมนุษย์ยุคแรกๆ ที่เดินทางออกจากแอฟริกามาตั้งถิ่นฐานเก็บของป่า-ล่าสัตว์ริมชายฝั่งทะเลและบนที่สูง จากนั้นจึงมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นชนกลุ่มใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันค่อยๆ อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานและทำการเกษตรในที่ลุ่มและที่สูงเมื่อสัก 7,000 ปีมานี้เอง เรียกว่าคนเชื้อสายมองโกเลียน (Mongolian) ซึ่งก็ไม่ได้เป็นชนกลุ่มเดียวกันทั้งหมด สังเกตได้จากภาษาที่แยกแตกออกไปถึง 5 ตระกูลภาษา 

ดังนั้น ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในส่วนหนึ่งจึงมีความเปลี่ยนแปลง ขาดตอน ไม่ได้สืบเนื่องยาวนานอย่างแท้จริง

แท้จริงแล้ว คนกลุ่มใหญ่เป็นเพียงชนที่มีอำนาจมากที่สุด ก็คือคนที่ยึดกุมอำนาจเศรษฐกิจและการเมือง เช่นในประเทศไทย คนที่เรียกตนเองว่าคนไทยภาคกลาง อาจจะหลงนึกว่าตนเองคือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศไทย แต่อันที่จริงหากสำรวจประชากรตามชาติพันธุ์จริงๆ แล้ว คนลาวŽ ที่ภายหลังถูกกำหนดให้เรียกว่าคนอีสาน น่าจะมีประชากรมากกว่าคนไทยภาคกลาง ในประเทศพม่า หากนับรวมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งมอญ ไท ปกากะญอ Rohingya ฉิ่น คะฉิ่นแล้ว ชนพม่าอาจจะมีจำนวนประชากรน้อยกว่าประชากรคนเหล่านั้นรวมกัน หากแต่คนไทยภาคกลางในประเทศไทยและคนพม่าในประเทศพม่าก็กลับเข้าใจตนเองว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ เพราะมองข้ามความสำคัญของคนกลุ่มอื่น และต้องการจำกัดอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจให้อยู่ภายในมือของคนกลุ่มตนเท่านั้น

กลุ่มที่สอง "ชนกลุ่มน้อย"Ž กลุ่มคนที่มีสถานะนี้ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีประชากรน้อย สังคมของพวกเขาก่อตัวเป็นสังคมขนาดเล็ก ที่ปัจจุบันอาจจะมีประชากรเหลือเพียงหลักร้อย พวกเขาอาจมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากแต่งงานแล้วผสมกลืนกลายไปเป็นชนกลุ่มอื่น อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้วมีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่ไม่ได้มีจำนวนประชากรเพียงเล็กน้อย หากแต่เป็นกลุ่มคนที่ถูกทำให้กลายเป็นชนกลุ่มน้อย ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้เคยเป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ที่กลุ่มตนเคยครองอำนาจอยู่มายาวนาน 

ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ ในศตวรรษที่ 19 ประชากรของกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่นั้นเป็นประชากรชาวจีนอพยพ ชาวกรุงเทพฯŽ ในอดีตจึงเป็นชาวจีนโดยกำเนิดทางเชื้อชาติ หากแต่คนเหล่านี้เปลี่ยนสำนึกตนเองให้เป็นชาวไทยไม่ได้ด้วยความสมัครใจ แต่ด้วยกฎหมาย ด้วยนโยบายสร้างความเป็นไทยและกดขี่ความเป็นจีนตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาต่างหาก ที่ทำให้คนจีนกรุงเทพฯ มีสำนึกความเป็นไทยขึ้นมา หรือในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ชาวมลายูที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เดิมทีและในขณะนี้พวกเขาก็ยังคงเป็นชนกลุ่มใหญ่ของท้องถิ่นนั้น หากแต่เมื่อดินแดนแห่งนั้นถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสยามในต้นศตวรรษที่ 20 แล้ว ชาวมลายูก็ถูกแปลงให้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศไทย

ในประเทศเวียดนาม มีชนกลุ่มใหญ่ในท้องถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่ยาวนานมากมายที่กลายเป็นชนกลุ่มน้อยเมื่อเกิดรัฐประชาชาติขึ้นมา เช่น ในภาคเหนือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงนั้นเรียกได้ว่าเป็นถิ่นที่อยู่เก่าแก่ของชาวเหวียด หรือคนที่เรียกตนเองว่าชาวกิงญ์ (Kinh) หากแต่บนที่สูงภาคเหนือของเวียดนาม มีคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ แต่คนกลุ่มใหญ่คือกลุ่มชาติพันธุ์ไต (หรือไท) ที่ก็แยกย่อยเป็นกลุ่มต่างๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ดี เมื่อประเทศเวียดนามเหนือก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1954 แล้ว คนไทถูกนับเป็นชนกลุ่มน้อย ต้องปรับวิถีชีวิตให้เข้าใกล้แบบแผนการดำเนินชีวิตของชาวกิงญ์มากขึ้น และต้องดำเนินชีวิตตามการกำหนดนโยบายที่ส่วนใหญ่แล้วกำหนดโดยชาวกิงญ์

กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่อยู่ในสถานะย่ำแย่ที่สุดคือ "กลุ่มชนที่ไม่มีอยู่"Ž คนกลุ่มนี้มีทั้งกลุ่มคนที่ได้รับการรับรองสถานภาพบางอย่างจากรัฐประชาชาติ เช่น กลุ่มคนที่ชื่อเรียกชนชาติของพวกเขาไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลของประเทศเขา เช่นชื่อ Rohingya นอกจากนั้นยังมีคนต่างด้าวแบบต่างๆ ที่แต่ละรัฐประชาชาติจะรับรองสถานะแตกต่างกันออกไป คนเหล่านี้แม้จะได้สถานภาพตามกฎหมาย หากแต่ด้วยการที่พวกเขาไม่มีสิทธิบางประการเท่าเทียมกับพลเมืองของประเทศนั้นๆ พวกเขาจึงอาจจะถูกละเมิดได้โดยง่าย นอกจากนั้นยังมีกลุ่มคนที่สถานะต่ำลงมา ได้แก่ ผู้อพยพในค่ายผู้อพยพและที่พักพิงชั่วคราว 

คนเหล่านี้นอกจากจะถูกกักบริเวณแล้วยังไม่สามารถประกอบอาชีพได้ คนที่ลำบากไม่น้อยไปกว่ากันในกลุ่มนี้ได้แก่คนไร้สัญชาติ ซึ่งกล่าวได้ว่าไม่ได้รับการรับรองจากรัฐประชาชาติใดๆ เลย แม้ว่าจะอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งในรัฐประชาชาติหนึ่งเป็นระยะเวลายาวนานแล้วก็ตาม

กรณีชาว Rohingya พวกเขามีสถานะแทบทุกอย่างของทุกกลุ่มคนข้างต้น ในระดับหนึ่ง พวกเขาเป็นคนกลุ่มค่อนข้างใหญ่ในรัฐยะไข่ที่ถูกทำให้กลายเป็นชนกลุ่มน้อยของรัฐประชาชาติพม่า ในอีกระดับหนึ่ง พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ต่อแดนระหว่างประเทศพม่ากับประเทศบังกลาเทศ จึงกลายเป็นคนที่ถูกไม่ไว้วางใจจากทั้งสองประชารัฐ จนถึงระดับที่สาม คือพวกเขาเป็นกลุ่มชนที่รัฐประเทศพม่าไม่ยอมรับการมีอยู่อย่างเป็นทางการ ยิ่งเมื่อพวกเขาเลือกที่จะหนีจากสภาพการถูกละเมิดอย่างรุนแรงในพม่า พวกเขาจึงอยู่ในสถานะกลุ่มชนพลัดถิ่นที่ไร้สถานภาพโดยสิ้นเชิง

อันที่จริงรัฐประชาชาติต่างๆ ล้วนเลือกบริหารจัดการกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยนโยบายที่ต่างกันออกไป ทั้งนี้ ขึ้นกับประวัติศาสตร์ ความซับซ้อนของกลุ่มชาติพันธุ์ และอำนาจต่อรองของกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐประชาชาติอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามนั้น เกิดขึ้นมาจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์หรือชนชาติสูงมาก จึงยังต้องคงความแตกต่างเอาไว้มากกว่า ส่วนรัฐประชาชาติอย่างประเทศไทยนั้น เลือกที่จะจำกัดสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างรุนแรง จึงกดขี่และกีดกันทางเลือกของกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 

ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นปัญหาที่จะยังคงไม่หมดสิ้นไปจากโลกนี้ได้ง่ายๆ จบปัญหาจากคนกลุ่มหนึ่ง ก็จะยังมีปัญหาใหม่ๆ ตามมาอีกเรื่อยๆ ตราบเท่าที่โลกนี้ยังแบ่งแยกกันเป็นรัฐประชาชาติดังในปัจจุบัน

 

(ที่มา:มติชนรายวัน 18 มิ.ย.2558)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้