Skip to main content

วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการในภาคเช้าที่ผู้จัดเชิญชาวนาจากลพลุรี ชาวปกาเกอญอจากเชียงใหม่ เกษตรกรจากลำปาง เกษตรกรจากบุรีรัมยย์ และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจากกระบี่ แค่ฟังจากลีลาการพูดของแต่ละคนแล้วก็บอกได้เลยว่า แต่ละคนผ่านประสบการณ์การต่อสู้มายาวนาน โชกโชน จนตกผลึกเป็นคำพูดที่ชัดถ้อยชัดคำ ตรงไปตรงมา สะท้อนปัญหาพวกเขาเองโดยละเอียด ไม่อ้อมแอ้มอ้อมค้อมเหมือนอ่านงานวิชาการ  

เหนืออื่นใด ผมทึ่งที่พวกเขาสามารถเล่าความทุกข์ยากของตนเองด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม พวกเขาคงต่อสู้กับอำนาจมายาวนานจนกระทั่งสามารถยิ้มเยาะมันได้ คงมีแต่ความจริงใจกับการต่อสู้ของตนเองกระมังที่ทำให้พวกเขาเข้มแข็งขนาดนี้ หรือเพราะพวกเขาไม่ได้มีทางเลือกมากมาย ไม่ได้ถูกมองเห็นบ่อยนัก พวกเขาก็จึงต้องยืนหยัดและสืบต่อพลังของตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยรอยยิ้มหรือน้ำตา ผมเองเสียอีกที่แทบจะทนฟังพวกเขาไม่ได้ในหลายๆ ตอน 

หนุ่มบุรีรัมย์เล่าเรื่องการทำกินในที่ดินผืนป่า แล้วถูกไล่จากที่ทำกินและที่อาศัยจนต้องมาอาศัยอยู่ข้างถนน ซึ่งไม่มีที่ทำกินอีกต่อไป แถมเขายังถูกติดตามคุกคามจากทหาร พวกเขาเสียดายกระบวนการต่อรองกับรัฐเรื่องที่ทำกินและที่อยู่อาศัยที่ดำเนินมาเนิ่นนาน แต่กลับต้องหยุดลงและอาจจะต้องถูกล้มล้างไปเลยด้วยอำนาจของคณะรัฐประหาร ด้วยประกาศเพียงไม่กี่ประกาศที่ไม่เข้าใจความซับซ้อนและประวัติความเป็นมาของปัญหาในแต่ละท้องถิ่น 

ผู้นำชาวนาภาคกลางเล่าปัญหาการกดราคาข้าวลงของรัฐบาลนี้ แถมยังการบริหารจัดการน้ำอย่างไร้ประสิทธิภาพ หนุ่มใหญ่จากกระบี่เล่าถึงผลกระทบของโรงไฟไ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้น และยกรายละเอียดยิบย่อยที่ผ่านการศึกษามาอย่างจริงจังว่า การส้รางโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้ช่วยประโยชน์อะไรขึ้นมา แถมชาวกระบี่ยังมีข้อเสนอพลังงานทางเลือกที่เพียงพอต่อความต้องการของจังหวัด  

หนุ่มใหญ่ชาวปกาเกอญอกลั่นประสบการณ์การต่อสู้กับรัฐไทยมาหลายสิบปีว่า พวกเขาต่อสู้เพื่อคงวิถีชีวิตแบบพวกเขา ไม่ใช่แค่เพื่อรายได้หรือเพื่อการทำมาหากินทางเศรษฐกิจ เขาคนนี้มีคำคมมากมายให้ผู้ฟังทั้งรู้สึกเจ็บแสบและทึ่งกับระดับการเข้าใจปัญหาของเขา หนึ่งในนั้นคือคำกล่าวที่ว่า "พวกผมไม่ได้บุกรุกป่า พวกคนไทยต่างหากที่มาบุกรุกบ้านผม ที่ผมอยู่มานานก่อนพวกคุณจะมา"  

สาวมากพลังและรอยยิ้มสมาชิก อบต. จากลำปางบอกเล่าการต่อสู้กับความอยุติธรรมลำเอียงของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะทหารในขณะนี้ ที่ไล่พวกเธอออกจากชุมชนที่อยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่ป่าสงวน แต่รัฐกลับนำพื้นที่ทำกินของพวกเธอไปให้บริษัทเหมืองแร่ แล้วหลังการรัฐประหาร ทหารยังทำให้พวกเธอกลายเป็นคนผิด ตราหน้าว่าพวกเธอดื้อรั้น เธอประกาศว่า "ยังจะให้พวกเราเสียสละอะไรอีก คุณว่าพวกเราเห็นแก่ตัว แล้วพวกคุณล่ะเห็นแก่เราบ้างหรือเปล่า"  

อย่างไรก็ตาม ระหว่างพวกเขาเองก็มีข้อแตกต่างแฝงอยู่ในท่าทีต่อระบอบการเมืองของพวกเขา ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ฝ่าย  

ฝ่ายหนึ่งได้ข้อสรุปว่า การรัฐประหาร การอยู่ในอำนาจการปกครองของทหาร ปิดกั้นและยังคุกคามการนำเสนอปัญหาของพวกเขา แถมยังล้มล้างกระบวนการแก้ปัญหาชุมชนที่ดำเนินมาเนิ่นนาน อีกฝ่ายหนึ่งสรุปว่า ไม่ว่าจะรัฐบาลเลือกตั้งหรือรัฐบาลทหาร ก็คุกคามความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะผู้มีอำนาจเห็นแก่ประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น ส่วนอีกฝ่ายสรุปว่า เขาต่อสู้กับรัฐมาเนิ่นนาน เพราะฐานะที่ถูกผลักให้เป็นคนนอก คนที่ถูกลบเลือนของพวกเขา หากแต่พวกเขาไม่เคยต้องถูกคุกคามในการต่อสู้มากเท่าการต่อสู้กับอำนาจรัฐในรัฐบาลนี้ 

นอกจากเปิดหูเปิดตาคนเมืองอย่างผมแล้ว ประโยชน์หนึ่งของงานวันนี้คือการที่ผู้ประสบภัยจากนโยบายเฉพาะหน้าของรัฐบาลนี้ได้มาเล่าปัญหาจากที่ต่างๆ ให้พวกเขาได้รับฟังกันเอง ไม่ใช่เฉพาะจากภาคต่างๆ และจังหวัดต่างๆ แต่พวกเขายังมาจากระบบนิเวศที่แตกต่างกัน จากพื้นเพที่แตกต่างกัน จากการดำรงชีพที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดมาเจอกันด้วยปัญหาเดียวกัน คือผลกระทบจากการละเมิดสิทธิทำกิน ละเมิดสิทธิการใช้ทรัพยากรของพวกเขา ผมหวังว่าอย่างน้อยพวกเขาน่าจะได้ก่อสำนึกถึงความเป็น "ประชาชน" ที่ถูกกระทำจากนโยบายรัฐในขณะนี้ได้บ้าง 

ขอบคุณ 14 นักศึกษาที่มีส่วนสำคัญในการทำให้เสียงที่ถูกกักกั้นมานานนับปีได้ถูกเปิดเผยขึ้นมา ขอบคุณประชาชนผู้เดือดร้อนอันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนี้ทุกคน พวกคุณกล้าหาญมากที่เดินออกมาเป็นแนวหน้าในการแสดงปัญหาและจุดยืนของพวกคุณ มันน่าคับแค้นใจที่การบอกเล่าความเดือดร้อนของประชาชนเอง จะต้องเสี่ยงกับการที่พวกเขาอาจถูกทำให้กลายเป็นอาชญากรต้องอาญาแผ่นดิน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้