Skip to main content

การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่

 

คำถามใหญ่ที่อยากจะลองตั้งซ้ำกับนักวิจัยทั้งสามชุดนี้คือ จะเข้าใจปัญญาชนได้อย่างไร? การเข้าใจปัญญาชนจะช่วยให้เข้าใจสังคมอย่างไร? หรือกลับกันคือการเข้าใจสังคมจะช่วยให้เข้าใจปัญญาชนอย่างไร? สุดท้าย ผมอาจจะชวนให้ผู้ฟังคิดเปรียบเทียบการศึกษาปัญญาชนในสองประเทศนี้กลับมายังปัญญาชนในประเทศไทยในใจไปพร้อมๆ กัน

 

เมื่อหลายปีก่อน มีนักสังคมวิทยาคนสำคัญจากสหรัฐอเมริกามาบรรยายเรื่องปัญญาชนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่นก็คือไมเคิล บูราวอย (Michael Burawoy) เขาศึกษาปัญญาชนทั่วโลก แล้วพยายามจัดระเภทปัญญาชน บูราวอยแบ่งนักวิชาการออกเป็น 4 กลุ่ม ปัญญาชนที่เน้นสร้างทฤษฎี ปัญญาชนเชิงวิพากษ์ ปัญญาชนเทคโนแครตที่ทำงานกับรัฐ และปัญญาชนสาธารณะ สองพวกแรกเป็นพวกทำงานในรั้วมหาวิทยาลัย รั้วการศึกษา เป็นพวกเน้นงานวิจัยบริสุทธิ์ สร้างงานวิชาการ ส่วนสองพวกหลังทำงานประยุกต์ เน้นการนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ สู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาสังคม 

 

ที่ผมไม่เห็นด้วยกับบูราวอยอย่างรุนแรงคือ การจัดใครบางคนอยู่ในกลุ่มปัญญาชนสาธารณะ ทั้งๆ ที่เขาเคลื่อนไปมาในหลายๆ สถานะ พร้อมๆ กับที่เขาก็เป็นปัญญาชนสาธารณะในแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งผลสุดท้ายแล้วการเป็นปัญญาชนสาธารณะของเขาก็อาจมีส่วนทำลายพลังสาธารณะของประชาชน ประเด็นคือ การศึกษาปัญญาชนน่าจะต้องคำนึงถึงบริบทเฉพาะของสังคมที่ปัญญาชนคนนั้นโลดแล่นแสดงบทบาทอยู่ด้วย ไม่ใช่ศึกษาจากกรอบที่จัดประเภทมาอย่างแข็งทื่อ

 

บริบทที่ร่วมกันของปัญญาชนในลาวและเวียดนาม ซึ่งแตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างยิ่งคือสิ่งที่ในลาวเรียกว่า “จินตนาการใหม่” ส่วนในเวียดนามเรียกว่า “การเปลี่ยนใหม่” นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในค.ศ. 1986 จากประเทศสังคมนิยมเข้มข้นไปสู่ประเทศทุนนิยมภายใต้การกำกับของรัฐ การเปลี่ยนแปลงนี้นำไปสู่การเปิดตัวสู่โลก ผลคือต้องเปิดทางวัฒนธรรมมากขึ้น ในโลกทางวิชาการจึงเลี่ยงไม่พ้นที่จะเกิดการปะทะระหว่างปัญญาชนทั้งภายในและภายในกับภายนอกประเทศ

 

ในลาวผมไม่แน่ใจว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากเท่าในเวียดนามหรือเปล่า แต่จากงานของทั้งอ.วศิน ปัญญาวุธตระกูล และของคุณธีรยุทธ บัวจันทร์ ที่ศึกษาดร.มะยุรี เหง้าสีวัทน์และหุมพัน รัตตะนะวงตามลำดับ ได้แสดงให้เห็นว่า งานเขียนของหุมพันและมะยุรีได้สะท้อนเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ความรู้ของลาวมากเช่นกัน จากที่เดิมงานเขียนประวัติศาสตร์ลาวจะเน้นประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบมาร์กซิสม์ ไปสู่ประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบที่คุณธีรยุทธเรียกว่าแนวการศึกษาประวัติศาสตร์แบบตะวันตก ซึ่งที่จริงคือการกล่าวถึงประวัติศาสตร์สมัยศักดินาอย่างภาคภูมิใจมากขึ้น ไม่ใช่เขียนวิพากษ์ระบอบกษัตริย์ตามแนวมาร์กซิสม์ แถมยังกลับยกย่องเจ้าบางคนให้กลายเป็นวีรบุรุษชาติอย่างออกหน้าออกตามากขึ้น ส่วนอ.วศินเสนอว่า งานของดร.มะยุรี ซึ่งเดิมเป็นปัญญาชนสมัยราชอาณาจักร และทำงานวิชาการอยู่ต่างประเทศมาตลอด ผมเข้าใจว่าในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นเศรษฐกิจการตลาด g,njvทิศทางของงานวิชาการในลาวหันมาเน้นความเป็นชาตินิยมและเน้นการรื้อฟื้นพร้อมๆ กับสร้างวัฒนธรรมชาติและประวัติศาสตร์ชาติมากยิ่งขึ้น งานของดร.มะยุรีอาจจะได้รับการต้อนรับในโลกวิชาการลาวมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อนี้อ.วศินไม่ได้กล่าวถึงชัดเจน หากเป็นอย่างนั้นก็น่าจะเพิ่มเนื้อหาเข้าไปให้เห็นชัดยิ่งขึ้นในงานวิจัยต่อไป

 

การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นิพนธ์นี้ก็เกิดในเวียดนามเช่นกัน ผมเข้าใจว่าอ.อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ ก็คงทราบดี เพียงแต่ไม่ได้เน้นไว้ในงานชิ้นนี้ ชัดเจนเพราะปัญญาชนที่อาจารย์ศึกษาเป็นนักมานุษยวิทยา แต่งานเขียนทางประวัติศาสตร์แต่เดิมนั้นก็จะเน้นการใช้แนวคิดแบบมาร์กซิสม์มากก่อน ในการศึกษาทางมานุษยวิทยา เดิมทีอย่างที่ Patricia Pelley (1998) และ Grant Evans (1985) เคยเสนอไว้ว่า การศึกษาทางมานุษยวิทยาหรืองานชาติพันธ์ุนิพนธ์ในเวียดนามก็อยู่ใต้อิทธิพลของแนวทฤษฎีมาร์กซิสม์มาเนิ่นนานเช่นกัน งานศึกษาในยุคก่อนหน้าจึงเน้นศึกษาการจัดประเภทกลุ่มชาติพันธ์ุเพื่อแยกแยะให้ชัดว่ากลุ่มไหนอยู่ในลำดับขั้นวิวัฒนาการทางสังคมแบบไหน เพื่อที่ว่ารัฐจะได้สามารถวางแผนนโยบายถูก แนวคิดดังกล่าวนี้ในปัจจุบันก็ยังคงครอบงำเวียดนามอยู่ ดูได้จากงานของ Ito Masako (2013) และงานของ Nguyen Van Thang (2007)

 

จนกระทั่งคนอย่างเหงวียน วัน จิ๋ง (Nguyen Van Chinh) นั่นแหละ ที่เริ่มศักราชใหม่ของการศึกษามานุษยวิทยาด้วยแนวทฤษฎีอื่นๆ มากขึ้น ในทางประวัติศาสตร์ชาติเอง เวียดนามก็คล้ายๆ ลาวที่ กลับไปเลือกเจ้าศักดินาบางคนมายกย่องมากขึ้น โดยเฉพาะเจ้าที่สร้างสำนึกความเป็นชาติ สร้างสำนึกการต่อต้านศัตรูของชาติ อย่างหลีถายโต่ ที่เวียดนามสร้างอนุสาวรีย์ยักษ์ตั้งอยู่กลางเมืองฮานอยในโอกาสฉลอง 1,000 ปีฮานอยเมื่อหลายปีก่อน นี่ก็คล้ายกันกับรูปปั้นเจ้าอนุวงศ์ของลาว และนี่ก็คงจะทำให้คนนึกถึงอนุสาวรีย์ยักษ์ในประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างพม่าและไทยเช่นกัน ผิดกันแต่ว่า ประเทศเหล่านั้นอาจจะไม่ได้เคยต่อต้านเจ้าศักดินาอย่างมากเท่าลาวและเวียดนามมาก่อน

 

นี่คือบริบทสำคัญของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ปัญญาชนในลาวและเวียดนาม แต่ในอีกระดับหนึ่ง ผมอยากให้ลองพิจารณาบริบทของการเป็นปัญญาชนลาวและเวียดนามในอีกลักษณะ ที่ว่านั่น ส่วนหนึ่งก็คือการที่ปัญญาชนของพรรคที่ต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมทั้งฝรั่งเศสและอเมริกัน (อย่างเช่น เจื่องจิง ที่อ.มรกตวงศ์ศึกษาและมานำเสนอในงานประชุมนี้ในอีกห้องหนึ่ง) ปัจจุบันนี้คนเหล่านี้กำลังกลายเป็นปัญญาชนอนุรักษ์นิยม ส่วนปัญญาชนยุคใหม่ อีกส่วนหนึ่งก็คือผู้ที่ทำงานกับรัฐ ซึ่งยังคงเป็นรัฐเผด็จการ แต่กับอีกส่วนหนึ่งนั้น คือปัญญาชนอิสระและปัญญาชนรัฐที่แตกแถว ซึ่งเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ หลังการเปลี่ยนแปลงในทั้งลาวและเวียดนาม

 

ในเวียดนาม หลังค.ศ. 1986 รัฐบาลเวียดนามพยายามเปิดพื้นที่ทางความคิดมากขึ้น เกิดปัญญาชนใหม่กลุ่มใหญ่ เป็นกลุ่มนักเขียนและศิลปิน นักเขียนจำนวนมากเขียนงานวิพากษ์รัฐ วิพากษ์การนำประเทศเข้าสู่สงครามต่อต้านอเมริกัน วิพากษ์นโยบายของรัฐ ตัวอย่างนักเขียนเหล่านี้ได้แก่ Dương Thu Hương, Bảo Ninh (The Sorrow of War, 1990), Nguyễn Huy Thiệp คนแรกเคยเขียนหนังสือวิจารณ์รัฐกระทั่งถูกกักกันบริเวณในบ้าน หนังสือเธอถูกห้าม มีต้นฉบับหนังสือเล่มหนึ่งที่ถูกส่งไปแปลในต่างประเทศ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐริบไว้เมื่อส่งทางไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่รัฐถือว่าต้นฉบับนิยายเล่มนั้น (Novel Without a Name, 1996 มีแปลเป็นไทยด้วย) ถูกถือว่าเป็นความลับของประเทศชาติ ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา  ปัญญาชนกลุ่มนี้จึงถูกจำกัดการแสดงออกมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆ นี้เอง ทั้งในบริบทของลาวและเวียดนามได้เกิดปัญญาชนก้าวหน้ากลุ่มใหม่ๆ อีกจำนวนมาก อาจจะแยกได้เป็น 1) บล็อกเกอร์ในโลกไซเบอร์ 2) เอ็นจีโอ และ 3) ปัญญาชนพลัดถิ่น บริบทนี้มีส่วนสำคัญต่อความเข้าใจปัญญาชนทั้ง 3 คนเนื่องจากเป็นบรรดาปัญญาชนที่รายรอบหุมพัน มะยุรี และจิ๋ง ผมจะขอข้ามไม่พูดถึงพวกบล็อกเกอร์ที่ปัจจุบันมีบทบาทในการเรียกร้องประชาธิปไตยในเวียดนามสูงมาก กับจะไม่พูดถึงพวกเอ็นจีโอที่มีบทบาทในการสร้างพื้นที่ทางการเมืองนอกอำนาจรัฐ คล้ายเอ็นจีโอไทยยุคก่อนที่เอ็นจีโอจะหันมารับเงินรัฐอย่างในปัจจุบัน

 

ในเวียดนาม จิ๋งเป็นปัญญาชนในระบบของรัฐ ที่พยายามรักษาระยะห่างกับพรรค เขาน่าจะเป็น ศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยาคนแรกที่จบจากประเทศตะวันตก ก่อนหน้าเขามีแต่คนที่จบจากยุโรปตะวันออก จิ๋งจึงเติบโตมาในยุคที่รัฐเองก็เปลี่ยนภูมิทัศน์ทางปัญญาให้สังคมแล้ว หากดูจากการศึกษาในระบบ มีวิทยานิพนธ์ภาษาไทยศึกษาถึงเนื้อหาของตำราในโรงเรียนก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงทาเศรษฐกิจโดยหทัยรัตน์ มั่นอาจ หทัยรัตน์ (2549) พบว่าเนื้อหาความรู้เรื่องเสรีนิยมและการตลาดมีมากขึ้น โรงเรียนเวียดนามสอนความเป็นปัจเจกมากขึ้น สอนเรื่องการใช้เงิน การจับจ่ายใช้สอย ต่างกับคุณค่าต่างๆ ที่โรงเรียนยุคสังคมนิยมสั่งสอน การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้งานของจิ๋งกลายเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความรู้แบบใหม่ในเวียดนาม ปัญญาชนในรั้วมหาวิทยาลัยเวียดนามต่อจากรุ่นจิ๋งจึงกลายเป็นปัญญาชนที่เปิดรับความรู้จากโลกตะวันตก จากค่ายเสรีนิยม และได้ไปเรียนในค่ายเสรีนิยมมากขึ้น 

 

ในแวดวงมานุษยวิทยาเวียดนามเอง เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งจิ๋งเป็นส่วนหนึ่งคือ การนำเอาคำว่า anthropology ในภาษาอังกฤษเข้ามาใช้แทนคำว่า ethnology โดยแปลว่า nhân học จากเดิมที่ใช้คำว่า dân tộc học บริบทนี้ทำให้เห็นการเปลี่ยนผ่านของทั้งความรู้และคนกุมอำนาจการผลิตความรู้ในเวียดนาม แต่อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าปัญญาชนในมหาวิทยาลัยอย่างจิ๋งก็ยังเป็นกลุ่มที่เลือกที่จะเสนอความเห็นอย่างระมัดระวัง ไม่มีการต่อต้านระบอบอย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีความคิดก้าวหน้าและทุ่มเทให้ความสำคัญกับคนชายขอบแบบจิ๋งก็ตาม 

 

เมื่อมองย้อนเข้าไปยังประเทศลาว หุมพันก็ไม่ได้แตกต่างจากจิ๋งนัก หรือหากจะกล่าวให้ถูก หุมพันจะมีแนวโน้มที่ทำงานตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและพรรคฯ มากยิ่งกว่าจิ๋ง ดังจะเห็นได้จากตำแหน่งของเขาที่ทำงานส่งเสริมความรู้ในหน่วยงานของรัฐโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายงานเกี่ยวกับด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ นอกจากนั้น หากมองอีกบริบทหนึ่งคือการเป็นปัญญาชนชาย ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ในสังคม คนหนึ่งคือชาวเหวียดและชาวลาวลุ่ม ทั้งหุมพันและจิ๋งก็เป็นปัญญาชนจากศูนย์กลางอำนาจรัฐ ทำให้เขามีสถานะทางสังคมและการเมือง ทั้งในโลกวิชาการและนอกโลกวิชาการ แตกต่างจากนักวิชาการจากกลุ่มชาติพันธ์ุอื่นๆ ภาพนี้ในเวียดนามชัดเจนมาก เพราะเวียดนามสร้าง “นักมานุษยวิทยาพื้นเมือง” จากชนกลุ่มน้อยมากมาย แต่นักวิชาการพื้นเมืองเหล่านั้นก็ไม่มีสถานะเทียบเท่านักวิชาการจากส่วนกลางอย่างจิ๋ง ผมมีประเด็นที่จะกล่าวเรื่องนี้อีกยืดยาว แต่ขอละไว้ไม่กล่าวในที่นี้

 

ในบรรดาปัญญาชนทั้งสามคน ผมคิดว่านอกจากความเป็นนักวิชาการหญิงแล้ว มะยุรีมีความโดดเด่นที่การเป็นปัญญาชนพลัดถิ่น มะยุรีอาศัยในต่างประเทศมาตลอด ทำงานกับราชอาณาจักรลาวมาก่อน นี่เองที่ทำงานให้งานของเธอแตกต่างจากงานของนักวิชาการลาวในยุคก่อนหน้านี้คือยุคสังคมนิยม หากแต่ภายหลังเมื่อประเทศลาวเปลี่ยนทิศทางด้านวัฒนธรรม งานของมะยุรีคงจะได้รับการยอมรับจากรัฐบาลลาวมากขึ้น 

 

ในบริบทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กว้างกว่าเพียงสองประเทศและปัญญาชนสามคนนี้ ปัญญาชนพลัดถิ่นมีบทบาทในการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก ในกรณีของลาว ปัญญาชนพลัดถิ่นจากลาวกลุ่มหนึ่งที่ผมมีโอกาสได้ทำความรู้จักในช่วงที่ไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินในปีที่แล้วคือปัญญาชนชาวม้ง ซึ่งส่วนใหญ่พ่อแม่พี่น้องอพยพไปจากประเทศลาว ปัญญาชนรุ่นใหม่เหล่านี้มีทั้งนักเขียนและนักวิชาการ นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่รับความรู้ใหม่ๆ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ดูดซับมุมมองจากซีกโลกใต้ (the global south) เช่นแนวคิดแบบหลังอาณานิคม หลังสมัยใหม่ และแนวคิดแบบเฟมินิสต์ยุคหลัง พร้อมๆ กับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่หลากหลายซับซ้อนของคนพลัดถิ่นชาวม้งทั้งที่ไปอยู่สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และไทย โดยเชื่อมโยงกลับไปสู่บ้านเดิมในลาวและบ้านใหม่ของพวกเขาในประเทศต่างๆ ทำให้พวกเขากำลังเป็นปัญญาชนรุ่นใหม่ที่สำคัญในอันที่จะสร้างความรู้ซึ่งไปพ้นจากทั้งชนกลุ่มใหญ่ในลาว ไทย สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอาจจะพ้นจากความรู้แบบตะวันตก 

 

ปัญญาชนพลัดถิ่นจากเวียดนามก็เป็นกลุ่มที่กำลังขยายตัวอย่างกว้างขวางมาก กลุ่มนี้มีทั้งชาวเหวียดจากภาคต่างๆ และบางส่วนก็เป็นกลุ่มชาติพันธ์ุอื่นๆ ที่อพยพหนีภัยคุกคามทางการเมืองในต้นศตวรรษที่ 21 ที่พวกเขาหนีออกไปจากประเทศผ่านไปทางกัมพูชา สำหรับปัญญาชนชาวเหวียด Anthony Reid เคยแสดงความเห็นไว้ว่า ในยุคที่เอเชียตะวันอกเฉียงใต้ศึกษาในประเทศตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกากำลังตกต่ำลงอย่างในปัจจุบันนี้ รีดเห็นแนวโน้มว่านักวิชาการเหวียดที่ไปอาศัยในสหรัฐอเมริกาและยุโรปกำลังจะกลายมาเป็นผู้เสนอเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคใหม่ต่อไป

 

ที่จริงเวียดนามมีนักวิชาการพลัดถิ่นที่มีบทบาทย้อนกลับมาในเวียดนามเองมาตั้งแต่รุ่นก่อนจิ๋ง เช่น Hue Tam Ho Tai นักประวัติศาสตร์เวียดนามใต้ที่ไปสอนที่ฮาร์วาร์ด, Luong Van Hy นักมานุษยวิทยาที่ไปสอนที่โตรอนโต้ อีกคนที่น่าสนใจคือ Trịnh Thị Minh Hà นักสร้างภาพยนตร์และทฤษฎีภาพยนตร์หญิงจากเวียดนามใต้ ถ้านับรวมรุ่นต่อๆ มาเฉพาะเท่าที่ผมเคยพบเจอในเวทีวิชาการนานาชาติแล้ว ก็นับว่านักวิชาการเหวียดพลัดถิ่นระดับแนวหน้ามีมากกว่านักวิชาการไทยพลัดถิ่นหลายเท่าตัวเลยทีเดียว

 

นี่หากขยายไปครอบคลุมประเทศอื่นๆ ด้วย เราก็อาจจะนึกถึงชื่อคนอื่นๆ อย่าง Vincent Rafael, Thongchai Winichakul, Aihwa Ong ซึ่งก็น่าจะทำให้กล่าวได้ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคต่อไปควรจะเป็น “เพื่อนบ้านศึกษา” คือการศึกษาระหว่างชาว ASEAN กันเองมากกว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา” ที่ถูกจัดวางแห่งที่จากซีกโลกตะวันตก ผมเขียนเรื่องนี้ไว้แล้วเมื่อหลายปีก่อน หาอ่านได้ในวารสาร “ชุมทางอินโดจีน” ฉบับแรก 

 

แต่สุดท้ายจริงๆ เลยคือ แล้วทั้งหมดนี้บอกอะไรเกี่ยวกับปัญญาชนไทย ผมก็ไม่ทราบว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไร เพียงแต่อยากจะให้ลองคิดเทียบเคียงบริบทต่างๆ ในเวียดนาม ลาว ประเทศอื่นๆ และในประเทศไทย แล้วทบทวนดูว่า ปัญญาชนไทยอยากจะเป็นอย่างไร เราอยากจะยอมอยู่ในกรอบของการควบคุมเพียงเพื่อต้องการให้เกิดความสงบสุขหรือไม่ เราอยากจะกลายเป็นปัญญาชนที่ตอบโจทย์ของรัฐบาลเท่านั้นหรือไม่ เราจะไปพ้นจากการครอบงำของโลกวิชาการสากลแล้วสร้างอะไรจากโลกวิชาการสากลอย่างไร เราอยากจะเป็นเด็กดี ทำคะแนนประกันคุณภาพสูงๆ หรือเราจะพ้นไปจากกรอบของการประกันคุณภาพที่กลับวัดกันด้วยตัวเลขได้หรือไม่ ทั้งหมดนี้คงตอบไม่ได้หากเราไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ หากเราไม่ได้คิดว่าเราจะต้องรับผิดชอบอะไรกับสังคม หรือหากเราคิดเพียงว่าปัญญาชนไม่ได้สำคัญอะไรมากไปกว่าคนสอนหนังสือ ทำวิจัย แล้วรับเงินเดือนไปแต่ละเดือน

 

(อ่านเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 ในงานประชุมเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ครั้งที่ 9 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก)

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร