Skip to main content

ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้

 
เมื่อไม่กี่วันก่อนมีหนังสารคดีที่ผมอยากดูสองเรื่อง ก็เลยดั้นด้นไปดู แล้วก็จึงพลอยได้ดูหนังตัวอย่างเรื่อง "อาบัติ" ไปด้วย ดูหนังตัวอย่างแล้วก็คิดว่า หนังก็พูดเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แถมเป็นพุทธแบบบ้านๆ มีผี มีเปรต สอนบาปบุญคุณโทษ ไม่ได้ท้าทายอะไรเลย คิดว่าเดาเนื้อเรื่องได้เลยด้วยซ้ำ มันจืดมาก
 
ประเด็นเดียวของหนังเท่าที่ผมรู้สึกได้ว่าน่าสนใจคือ บอกว่าพระเป็นคนธรรมดา แต่ดูทรงแล้ว เรื่องมันไม่ได้จี๊ดจ๊าดขนาด แบบว่า "นี่สังคมไทยคะ/ครับ พระก็เป็นนะครับ/คะ" ไม่ใช่ขนาดจะบอกว่า "เป็นการท้าทายความเป็นปุถุชนในคราบไคลของนักบวช" หรือว่า "คือการปะทะกันของความเป็นมนุษย์ที่ต้องการบริสุทธิกับความดิบเถื่อสามัญของมนุษย์" มันไม่ได้มีอะไรเท่ๆ ขนาดนั้นสักนิด
 
เพียงแต่ในสังคมนี้ ขณะนี้ "พระ ไม่ใช่ คน" พระก็เลยเป็นได้แค่ตัวประกอบในหนัง แต่เป็นตัวประกอบที่ดีเกินจริง เป็นตัวประกอบที่เป็นภาคงดงามของสังคม 
 
ในสังคมจริงๆ พระก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครสนใจว่าพระจะดีหรือไม่ดี (นี่ก็เซ็นเซอร์ตัวเอง แทนที่จะใช้คำว่า เลว หรือ ชั่ว) พระเป็นเพียงตัวประกอบของสังคม 
 
ในสังคมไทย อย่างแย่ที่สุด พระก็เป็นแค่กรรมกรทางพิธีกรรม สวดมนต์เหมือนพระก็เป็นพระได้ ไม่จำเป็นต้องแสดงว่าเข้าใจบทสวดหรือไม่ ไม่จำเป็นว่าจะสามารถสร้างคำสั่งสอนจากบทสวดได้หรือไม่ จะคิดถึงว่าสามารถค้นพบอะไรในทางธรรมได้หรือไม่ ก็ไม่จำเป็น
 
อย่างดีขึ้นมาหน่อย พระก็เป็นหนุ่มนั่งดริ๊งในผับบาร์ความดี หรือผู้บำบัดจิต เป็นนักปลด(เปลื้อง)ทุกข์ชั่วคราวให้ชาวบ้าน นั่นดีมากแล้ว คือพระสามารถปลอบประโลมผู้คนได้ แต่นั่นก็เป็นกรรมกรทางวิญญาณ ส่วนมากก็แค่นั้น พอหมดกิจของสงฆ์ คือหมดหน้าที่ใช้แรงงานทางวิญญาณเมื่อไหร่ พระก็ต้องออกไปจากชีวิตคน
 
ไม่มีใครสนใจว่าพระเป็นอยู่อย่างไรกันแน่ พระเป็นคนหรือไม่ พระต่อสู้กับความเป็นคนในตัวเองอย่างไร แล้วคนก็ไม่มีใครอยากเป็นพระ แค่มีพระไว้ข้างกาย พระที่เดินไปเดินมาก็มีค่าเท่าพระคล้องคอหรือพระที่หิ้งพระ เอาไว้กราบไหว้เป็นที่พึ่งห่างๆ เอาเป็นตัวประกอบด้านดีของละครสังคม
 
ฉะนั้น ถ้าพระจะปรากฏตัวในหนัง ก็ต้องปรากฏตัวแบบพระในสังคม คือเป็นตัวประกอบด้านดี ถ้าพูดถึงพระในแง่ดีอย่างเดียว พระในแง่ที่ "ควรจะเป็น" อย่างเดียว ก็ฉายได้แน่ แต่นี่หนังอาบัติพูดถึงพระในแง่ที่ "อาจจะเป็น" หรือที่จริงพระที่ "เป็นๆ กัน" คือพระที่เป็นคนสามัญแบบในหนังนี้แหละ ฉายไม่ได้ ส่วนใหญ่พระจึงไม่ได้เป็นตัวแสดงเอก
 
หรือถ้าเป็น ก็ต้องเป็นเรื่องพระๆ มากๆ อย่างในอดีต พระที่เล่นบทตลก ฉายได้และขายได้ดีด้วย เพราะพระตลกก็ยังเล่นบทเป็นพระ ไม่ใช่คน แต่ถ้าพระไม่ตลก ก็มีแต่ด้านดี หนังพระตัวเอกที่ดีอย่างเดียวก็คงเป็นหนังที่ไม่รู้ว่าใครจะไปดูทำไม สู้ไปเดินดูภาพจิตกรรมเอาตามผนังโบสถ์ไม่ดีกว่าหรือ 
 
โจทย์คือพระต้องไม่ใช่คน แค่นั้นเอง ถึงหนังจะสอนว่า "นี่นะ แบบนี้เป็นพระที่ไม่ดีนะ ทำตัวเป็นคนมากเกินไป" ก็ฉายไม่ได้ 
 
สงสัยนิดเดียวว่า ทำไมคนสร้างหนังถึงคิดว่าเรื่องนี้น่าจะผ่านกองเซ็นเซอร์ หรือคนสร้างไม่รู้ว่า พล็อตเดิมๆ ของพระในหนังน่ะ ก็คือพล็อตเดียวกับบทบาทพระในชีวิตจริงนั่นแหละ ถ้าในชีวิตจริงยังพูดถึงความเป็นคนของพระไม่ได้ ในหนังก็ยิ่งพูดว่าพระเป็นคนไม่ได้เข้าไปใหญ่

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย