Skip to main content

ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้

 
เมื่อไม่กี่วันก่อนมีหนังสารคดีที่ผมอยากดูสองเรื่อง ก็เลยดั้นด้นไปดู แล้วก็จึงพลอยได้ดูหนังตัวอย่างเรื่อง "อาบัติ" ไปด้วย ดูหนังตัวอย่างแล้วก็คิดว่า หนังก็พูดเรื่องทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แถมเป็นพุทธแบบบ้านๆ มีผี มีเปรต สอนบาปบุญคุณโทษ ไม่ได้ท้าทายอะไรเลย คิดว่าเดาเนื้อเรื่องได้เลยด้วยซ้ำ มันจืดมาก
 
ประเด็นเดียวของหนังเท่าที่ผมรู้สึกได้ว่าน่าสนใจคือ บอกว่าพระเป็นคนธรรมดา แต่ดูทรงแล้ว เรื่องมันไม่ได้จี๊ดจ๊าดขนาด แบบว่า "นี่สังคมไทยคะ/ครับ พระก็เป็นนะครับ/คะ" ไม่ใช่ขนาดจะบอกว่า "เป็นการท้าทายความเป็นปุถุชนในคราบไคลของนักบวช" หรือว่า "คือการปะทะกันของความเป็นมนุษย์ที่ต้องการบริสุทธิกับความดิบเถื่อสามัญของมนุษย์" มันไม่ได้มีอะไรเท่ๆ ขนาดนั้นสักนิด
 
เพียงแต่ในสังคมนี้ ขณะนี้ "พระ ไม่ใช่ คน" พระก็เลยเป็นได้แค่ตัวประกอบในหนัง แต่เป็นตัวประกอบที่ดีเกินจริง เป็นตัวประกอบที่เป็นภาคงดงามของสังคม 
 
ในสังคมจริงๆ พระก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครสนใจว่าพระจะดีหรือไม่ดี (นี่ก็เซ็นเซอร์ตัวเอง แทนที่จะใช้คำว่า เลว หรือ ชั่ว) พระเป็นเพียงตัวประกอบของสังคม 
 
ในสังคมไทย อย่างแย่ที่สุด พระก็เป็นแค่กรรมกรทางพิธีกรรม สวดมนต์เหมือนพระก็เป็นพระได้ ไม่จำเป็นต้องแสดงว่าเข้าใจบทสวดหรือไม่ ไม่จำเป็นว่าจะสามารถสร้างคำสั่งสอนจากบทสวดได้หรือไม่ จะคิดถึงว่าสามารถค้นพบอะไรในทางธรรมได้หรือไม่ ก็ไม่จำเป็น
 
อย่างดีขึ้นมาหน่อย พระก็เป็นหนุ่มนั่งดริ๊งในผับบาร์ความดี หรือผู้บำบัดจิต เป็นนักปลด(เปลื้อง)ทุกข์ชั่วคราวให้ชาวบ้าน นั่นดีมากแล้ว คือพระสามารถปลอบประโลมผู้คนได้ แต่นั่นก็เป็นกรรมกรทางวิญญาณ ส่วนมากก็แค่นั้น พอหมดกิจของสงฆ์ คือหมดหน้าที่ใช้แรงงานทางวิญญาณเมื่อไหร่ พระก็ต้องออกไปจากชีวิตคน
 
ไม่มีใครสนใจว่าพระเป็นอยู่อย่างไรกันแน่ พระเป็นคนหรือไม่ พระต่อสู้กับความเป็นคนในตัวเองอย่างไร แล้วคนก็ไม่มีใครอยากเป็นพระ แค่มีพระไว้ข้างกาย พระที่เดินไปเดินมาก็มีค่าเท่าพระคล้องคอหรือพระที่หิ้งพระ เอาไว้กราบไหว้เป็นที่พึ่งห่างๆ เอาเป็นตัวประกอบด้านดีของละครสังคม
 
ฉะนั้น ถ้าพระจะปรากฏตัวในหนัง ก็ต้องปรากฏตัวแบบพระในสังคม คือเป็นตัวประกอบด้านดี ถ้าพูดถึงพระในแง่ดีอย่างเดียว พระในแง่ที่ "ควรจะเป็น" อย่างเดียว ก็ฉายได้แน่ แต่นี่หนังอาบัติพูดถึงพระในแง่ที่ "อาจจะเป็น" หรือที่จริงพระที่ "เป็นๆ กัน" คือพระที่เป็นคนสามัญแบบในหนังนี้แหละ ฉายไม่ได้ ส่วนใหญ่พระจึงไม่ได้เป็นตัวแสดงเอก
 
หรือถ้าเป็น ก็ต้องเป็นเรื่องพระๆ มากๆ อย่างในอดีต พระที่เล่นบทตลก ฉายได้และขายได้ดีด้วย เพราะพระตลกก็ยังเล่นบทเป็นพระ ไม่ใช่คน แต่ถ้าพระไม่ตลก ก็มีแต่ด้านดี หนังพระตัวเอกที่ดีอย่างเดียวก็คงเป็นหนังที่ไม่รู้ว่าใครจะไปดูทำไม สู้ไปเดินดูภาพจิตกรรมเอาตามผนังโบสถ์ไม่ดีกว่าหรือ 
 
โจทย์คือพระต้องไม่ใช่คน แค่นั้นเอง ถึงหนังจะสอนว่า "นี่นะ แบบนี้เป็นพระที่ไม่ดีนะ ทำตัวเป็นคนมากเกินไป" ก็ฉายไม่ได้ 
 
สงสัยนิดเดียวว่า ทำไมคนสร้างหนังถึงคิดว่าเรื่องนี้น่าจะผ่านกองเซ็นเซอร์ หรือคนสร้างไม่รู้ว่า พล็อตเดิมๆ ของพระในหนังน่ะ ก็คือพล็อตเดียวกับบทบาทพระในชีวิตจริงนั่นแหละ ถ้าในชีวิตจริงยังพูดถึงความเป็นคนของพระไม่ได้ ในหนังก็ยิ่งพูดว่าพระเป็นคนไม่ได้เข้าไปใหญ่

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก