Skip to main content

ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่

เมื่อเช้าก็เลยไปลงทะเบียนเป็นผู้พักอาศัยในเกียวโต ขากลับมีนักวิชาการอีกคนหนึ่ง รุ่นใหญ่อาวุโสกว่าผมหลายปีนัก ติดรถกลับมาจากสถานที่ที่ไปติดต่อธุระด้วย เขากำลังจะกลับจากการมาพำนักอยู่ 3 เดือน เป็นนักวิชาการจากไต้หวัน ที่ Academia Sinica ระหว่างทางบนรถแท็กซี่ ก็ถามไถ่กันอย่างเร็ว ๆ หลายเรื่อง เขาถามถึงคนโน้นคนนี้ที่เมืองไทย พูดกันถึงการจากไปของนักวิชาการใหญ่คนหนึ่ง แล้วเขาก็วกมาถามผมว่าผมทำวิจัยเรื่องอไะร ที่ไหน 

ผมก็บอกไปว่าศึกษาเรื่องชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม เขาถามว่าคนกลุ่มไหน ภาคเหนือหรือใต้ ผมก็บอกไปว่าคน "ไต" ที่เวียดนามเหนือ เขาก็ถามต่อว่าที่เวียดนามมีคนจีนเยอะไหม ผมก็บอกว่ามีเยอะเลย ทางเหนือก็มี 

ทีนี้เขาเริ่มซักไซร้อย่างสนใจ คงเพราะเขาเป็นคนไต้หวันนี่แหละ เขาถามว่าเคยได้ยินว่ามีคน "ฮอ" หรือ "เค่อะ" หรือ "ฮักกา" ไหม ผมบอกว่ามีคนจีนที่คนไทยเรียกว่า "ฮ่อ" คนไตที่เวียดนามเรียก "ผู้ฮ่อ ผู้หาน" คนเวียดเรียกว่า "เหงื่อย (แปลว่า คน) หาน" เขาบอกต่อว่า น่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกับพวกฮักกาที่เขาสนใจ ตัวเขาเองก็มีบรรพบุรุษเป็นฮักกา ก็เลยสนใจเรื่องนี้ด้วย

เขาบอกว่า ยังมีคำที่ใกล้เคียงกัน ต่างกันตามสำเนียงคือคำว่า แขะ ผมบอกว่า ภาษาไทยเรียกพวกฮักกาว่า จีนแคะ ภาษาเวียดมีคำว่า khách (แค้ก) ที่แปลเป็นไทยว่า แขก หรือผู้มาเยือน คำทั้งหมดนี้ผมว่าน่าจะหมายถึงคนกลุ่มเดียวกัน แล้วกลายมาเป็นคำเรียก "คนอื่น" ว่า "แขก" ในภาษาไทย และ "แค้ก" ในภาษาเวียด

พอเขาบอกว่า พวกนี้หนีลงมาอยู่ทางเหนือของเวียดนาม ผมก็เลยคิดว่าน่าจะใช่พวกฮ่อแน่ ๆ ก็เลยถามเขาว่า หมายถึงพวกกบฏไท่ผิงใช่ไหม เขาบอกว่าใช่ พวกนี้คือฮักกาทางใต้ของจีนปัจจุบันที่กบฏ แล้วหนีลงมาอยู่ที่เวียดนาม

ผมเลยต่อเรื่องติด บอกเขาว่า พวกนี้มาเวียดนามตอนกลางถึงปลายศตวรรษที่ 19 ในบันทึกของพวกไตบอกว่ามาปล้น มายึดเมืองสำคัญ ๆ ของพวกไตไว้หมด สยามเรียกว่าเป็น "กบฏฮ่อ" จึงพยายามขึ้นมา "ปราบ" ส่วนฝรั่งเศสจัดการพวกนี้ไม่ได้อยู่นานร่วม 20 ปีกว่าจะยึดเวียดนามเหนือได้ 

ผมเล่าต่อว่า พวกฮ่อร่วมมือกับพวกไตไปเผาหลวงพระบาง ทำให้สยามเดือดร้อนไปด้วย แต่ไม่ทันได้ขึ้นมาปราบหรอก เพราะฝรั่งเศสจัดการราบคาบก่อนแล้ว แล้วจึงนำมาซึ่งการปักปันเขตแดนสยามกับอินโดจีนจนจบลงในปี 1890 (ไม่ใช่เสียดินแดน เพราะดินแดนเหล่านี้ ที่ไทยรู้จักในชื่อผิด ๆ ว่า "สิบสองจุไท" ไม่เคยเป็นของใครไม่ว่าจะเวียด ลาว หรือสยามมาก่อน แต่เป็นของเจ้าถิ่นคือคนไต และกลุ่มชาติพันธ์ุอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมดินแดนกัน)

เขาสนใจถามต่อว่าผมเคยเจอคนจีนพวกนี้ไหม ผมเล่าว่า สมัยที่จีนบุกเวียดนามเหนือปี 1979 (บางคนเรียก "สงครามสั่งสอน" เวียดนามเรียก สงครามอินโดจีนครั้งที่ 3 หลังจากที่เวียดนามบุกกัมพูชา ส่วนสำคัญเพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุของเขมรแดงที่คนที่ถูกฆ่าจำนวนมากมีเชื้อสายเวียดนามในกัมพูชา) พวกฮ่อถูกไล่กลับประเทศไปด้วย ทั้ง ๆ ที่พวกเขาอยู่ในเวียดนามมาเป็นร้อยปีแล้ว แทบไม่มีสายใยอะไรกับที่เมืองจีนแล้ว ทำให้ตอนนี้เหลือฮ่อน้อยมาก แต่ยังพอเห็นสุสานของพวกเขาอยู่บ้างในเวียดนามเหนือ 

ผมเล่าต่อว่าในภาคเหนือของเวียดนามยังพอพบคนเหล่านี้ได้บ้าง บางที่เคยถูกเรียกโดยพวกไตว่าเป็นตลาดของพวกฮ่อ หรือเป็นย่านการค้าของพวกฮ่อ ผมเล่ด้วยว่า เคยเดินทางไปเจอคนจีนตามชายแดนเวียดนาม-จีนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ยังมีคนใช้ชีวิตแบบเก่า บ้านเรือนปลูกบนพื้นดินแบบเก่า แต่งตัวเสื้อผ้าแบบในหนังสือชาติพันธ์ุวิทยาเก่า ๆ นักวิชาการไต้หวันก็เลยสนใจว่าพวกเขาทำการเกษตรกันไหม ทำอย่างไร และอีกหลายคำถาม

ไม่ทันได้ตอบคำถามที่เหลือ เวลาเพียง 15 นาทีบนรถแท็กซี่ในเมืองเกียวโตที่แสนจะกระทัดรัดจนหามุมรถติดยากมากก็หมดลง เราแยกย้ายกัน เขากำลังจะกลับจากเกียวโต ผมกำลังจะเริ่มงานวิจัยที่เกียวโต เสียดายที่ได้เจอคนฮ่อคนนี้ที่เกียวโตช้าไปนิด แต่นี่เป็นหนึ่งในบทสนทนาในวันแรก ๆ ของการทำงานที่นี่ ที่ทั้งชวนให้ตื่นเต้นและกระตือรือล้นให้ทำงานวิจัยต่อไป

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง