Skip to main content

สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด

ผมไม่อยากดูหมิ่นสถาบันวิจัยของไทยเหล่านั้นมากไปกว่าที่เคยดูหมิ่นดูแคลนมาตลอดอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าประเทศไทยไม่มีคนเก่ง ไม่ใช่ว่าไม่มีคนในประเทศไทยที่เข้าใจโลกสากล เพียงแต่คนเหล่านั้นไม่มีประโยชน์ในสายตาของรัฐมากเท่าคนที่ประเทศไทยใช้งานอยู่ และยิ่งไม่มีประโยชน์ในสมัยที่การแสดงออกทางวิชาการถูกปืนปิดปากอยู่อย่างในทุกวันนี้ 

ที่จริงผมก็ไม่ได้อยากจะพูดเรืองผลการวิจัยเลอะเทอะอะไรนั่น ความรู้พื้นฐานมีความสำคัญอย่างไร แล้วยังมีส่วนในการสร้างชาติและโลกทั้งมวลอย่างไร พูดไปเท่าไหร่ก็ไม่เข้าหูคนที่คิดและเขียนงานแบบนั้นออกมาได้ เสียเวลาเปล่า ที่ผมอยากจะเล่ามากกว่าคือได้พบอะไรในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเกียวโตที่เพิ่งไปค้นคว้าเบื้องต้นมาวันนี้บ้าง แล้วมันบอกอะไรกับการลงทุนด้านการวิจัยพื้นฐานบ้าง บอกอะไรกับวิสัยทัศน์การลงทุนแบบนี้บ้าง 

วันนี้ (12 มกราคม 2559) ผมเริ่มไปค้นคว้าในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเกียวโต ที่จริงผู้รับทุนจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหาวิทยาลัยเกียวโตส่วนใหญ่ก็จะค้นคว้าวิจัยในห้องสมุดของศูนย์ฯ ก็แทบจะเพียงพออยู่แล้ว เพราะเป็นห้องสมุดเก่าแก่ ใหญ่โต เก็บเอกสารหนังสือเก่า ๆ มากมายหลายภาษา มีทั้งสือทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ รวมทั้งภาษาญี่ปุ่น (ที่ก็น่าจะมีไม่น้อย) ในเรื่องเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้อย่างมหศาลอยู่แล้ว  

แต่เมื่อค้นหนังสือที่ต้องการใช้ดู ผมพบว่าหนังสือภาษาต่างประเทศจำนวนมากทีเดียว ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ญี่ปุน ถูกเก็บไว้ในห้องสมุดหลักของมหาวิทยาลัย วันนี้ผมก็เลยมีโอกาสได้ไปห้องสมุดกลาง เพราะมีหนังสือที่ผมต้องการอยู่ห้องสมุดหลักนั่น 

เอกสารที่ผมหาคือเอกสารเกี่ยวกับงานแปลนิทานคำกลอนและคติชน (folklore) ต่าง ๆ ของชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม เรื่องที่ผมกำลังค้นคว้าอยู่คือนิทานคำกลอนเรื่องหนึ่ง ชื่อ "ส่งชู้สอนสาว" ของชาวไทในเวียดนาม นิทานเรื่องนี้ถูกแปลเป็นภาษาเวียดนามโดยคนเวียด แล้วพิมพ์เป็นภาษาเวียดนาม รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนอ่าน มีการวิเคราะห์วิจารณ์ไว้พอสมควร หากแต่หนังสือเกี่ยวกับการวิเคราะห์นิทานคำกลอนนี้หายาก ในประเทศเวียดนามก็หายากเต็มที เพราะเก่าแก่กว่า 40-50 ปีแล้ว 

เบื้องต้นผมพบหนังสือที่เกี่ยวข้องอยู่จำนวนไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือที่น่าจะเป็นหการพิมพ์ "ส่งชู้สอนสาว" ในภาษาเวียดนามครั้งแรกเมื่อปี 1977 และมีบทวิเคราะห์ที่ผมหามานานรวมอยู่ในหนังสือนั้นด้วย เมื่อพบว่าห้องสมุดมี ก็ต้องรีบไปหา ห้องสมุดกลางอยู่ห่างจากห้องทำงาน (อันโอ่อ่าใหญ่โตสะดวกสบาย) ไปสักหน่อย แต่ถีบจักรยานไปสัก 5 นาทีก็ถึง 

ที่น่าสนใจคือการจัดชั้นหนังสือของที่นี่ เขาไม่ได้จัดแบบห้องสมุดในประเทศไทยส่วนใหญ่ ที่หันมาใช้ระบบรัฐสภาอเมริกันกันแทบทุกที่แล้ว (อาจจะยังมีแต่ที่จุฬาฯ แต่สมัยนี้ไม่รู้เปลี่ยนหรือยัง) แต่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตใช้ระบบที่ปรับมาจากระบบดิวอี้ แล้วเขายังแยกหนังสือภาษาต่างประเทศ (คือที่ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น) ออกจากภาษาอังกฤษ ข้อนี้อาจจะไม่ต่างกับห้องสมุดในประเทศไทยส่วนใหญ่ แต่จะต่างกับในสหรัฐอเมริกา ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัย (น่าจะส่วนใหญ่) จัดหนังสือทุกภาษาอยู่ในชั้นเดียวกันหมด การหาหนังสือที่นี่จึงซับซ้อนนิดหน่อย แต่เขาก็มีระบบที่ระบุค่อนข้างชัดเจนว่า หนังสือตามเลขเรียกแบบนี้จะเก็บไว้ที่ไหน 

เมื่อไปถึง ผมเงอะ ๆ งะ ๆ อยู่สักพัก ก็เข้าไปขอความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่เขาบริการบอกวิธีไปที่ชั้นหนังสือ ชี้ทางโดยไม่ใช้ภาษาอังกฤษ จนแทบจะจูงมือพาไปถึงชั้นหนังสือทีเดียว หนังสือภาษาเวียดนามเก็บรวมกับภาษาอื่น ๆ แต่ก็แยกแต่ละภาษาออกจากกันเด็ดขาด  

ที่น่าตื่นเต้นคือ สำหรับผมซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับเวียดนามมานาน การได้ยืนอยู่ต่อหน้าหนังสือภาษาเวียดนามอายุค่อนข้างเก่า (พิมพ์ช่วงปี 1960-1970) จำนวนค่อนข้างมาก เรียงรายอยู่ต่อหน้าบนชั้นอย่างนี้ เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในประเทศเวียดนาม สมัยที่ผมไปค้นคว้าในห้องสมุดแห่งชาติและห้องสมุดสถาบันวิจัยมนุษยศาสตร์และสังคมศษสตร์ที่ฮานอย เขาจะไม่ให้ผู้อ่านไปหยิบหนังสือเอง จะต้องขอทีละ 3 เล่ม นั่งรอให้เจ้าหน้าที่ไปหยิบมา เมื่ออ่านเสร็จแล้วจึงจะอนุญาตให้ยืมเล่มต่อไป เดิมทียิ่งยากกว่านี้เพราะเขาจะไม่ให้ถ่ายเอกสาร หลัง ๆ มายังดีที่เขาให้ถ่ายเอกสาร ปัจจุบันเปลี่ยนไปหรือยังอย่างไรก็ไม่ทราบ 

การยืนอยู่หน้าชั้นหนังสือมีข้อดีตรงที่มีโอกาสที่เราจะได้เจอหนังสือที่ไม่ได้ตั้งใจมาหาโดยเฉพาะ เมื่อกวาดสายตาหาหนังสือที่ต้องการอยู่ ผมก็เจอเข้ากับหนังสือเล่มหนึ่ง ตามรูปที่ถ่ายมาให้ดู ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะมีหนังสือเล่มนี้ในโลก เป็นหนังสือแปลข้อเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยที่เขียนโดยพระยาอนุมานราชธนออกเป็นภาษาเวียดนาม โดยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของเวียดนาม ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิโตโยตา พิมพ์เมื่อปี 1988 ในโอกาส 100 ปีพระยาอนุมานฯ เดิมเขาพิมพ์แล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 80 ปีพระยาอนุมานฯ คือในปี 1968  

ส่วนหนังสือที่ผมต้องการ เมื่อเจอแล้วผมก็หยิบมาเพื่อจะสอบถามว่ายืมได้หรือเปล่า ไม่ทันต้องถาม เจ้าหน้าที่ก็ชี้ให้ไปแสกนที่เครื่องยืมคืนด้วยตนเอง ซึ่งเรียนรู้ไม่กี่นาทีก็ใช้เองได้ ที่ตื่นเต้นมากคือ ผมสามารถยืมหนังสือค่อนข้างเก่าที่สภาพดีมากมา 2 เล่ม (จะยืมมากกว่านี้ก็ได้ ไม่เกิน 30 เล่ม) หนังสืออายุเท่านี้ สภาพแบบนี้ บอกได้เลยว่าแม้แต่ห้องสมุดในฮานอยยังหาไม่ได้ เพราะที่เวียดนามมีทุนไม่พอที่จะเก็บรักษาหนังสือที่สมัยก่อนใช้กระดาษบาง ๆ พิมพ์ด้วยหมึกจาง ๆ ให้คงสภาพดีอยู่อย่างนี้ได้ 

ผมพรำ่บ่นมานานนับสิบ ๆ ปีว่า ประเทศไทยไม่มีห้องสมุดที่มีหนังสือของประเทศเพื่อนบ้าน หากใครจะค้นคว้าแม้แต่เรื่องเกี่ยวกับประเทศลาวในภาษาลาว ก็ต้องดั้นด้นไปที่ประเทศลาว ปัจจุบันห้องสมุดของบางมหาวิทยาลัยก็คงจะค่อย ๆ เริ่มสะสมมาบ้าง แต่นี่ก็เป็นการลงทุนระยะยาวที่ประเทศไทยคิดช้าเกินไปหน่อย ผมเคยเสนอให้บางสถาบันที่มีเงินทุนมากมาย ซึ่งมักใช้ไปกับการปรับปรุงห้องส้วมของผู้บริหารและการขึ้นเงินเดือนเพิ่มเบี้ยประชุมให้ผู้บริหารกันเอง หันมาเจียดเงินเก็บสะสมหนังสือจากประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มจากประเทศละ 100 เล่มก่อนก็ได้ แล้วค่อย ๆ เพิ่มไปโดยเลือกหนังสือตามความสนใจของสถาบันเอง สุดท้ายเขาก็ไม่ทำ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าไม่รู้จะ catalog หนังสืออย่างไร 

นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ ของการลงทุนในระยะยาวเพื่อสร้างความรู้ ตั้งแต่หนังสือสองเล่มที่ผมยืมมาอ่านย่างเข้ามาในห้องสมุดแห่งนี้ คงจะเคยมีคนยืมหนังสือสองเล่มนี้ไปอ่านเพียงไม่กี่คน ถ้าจะมีน่ะนะครับ หรืออย่างหนังสือแปลขอพระยาอนุมานราชธนที่ผมเจอนั่น จะมีคนไทย คนสนใจประเทศไทย หรือคนศึกษาเวียดนามสักกี่คนที่สนใจดูว่ามีหนังสือเล่มนี้อยู่ในโลกไหม ที่อาจจะถูกเก็บให้ใช้อ่านได้ในห้องสมุดแห่งนี้  

หากมองไกล มองกว้าง มองแบบไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น การลงทุนเพื่อวิจัยพื้นฐานไม่จำเป็นว่าผลมันจะตกกับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น หากแต่ผลมันน่าจะตกแก่ผู้คนในโลกทั้งมวล ที่แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีใครได้ประโยชน์นั้น แต่สักวันหนึ่ง จะมีใครสักคนหนึ่งมาพบมันแล้วใช้ทุนที่ลงไปนั้น แน่นอนว่านายทุนหน้าใหม่ที่มุ่งฉกฉวยโอกาสเฉพาะหน้าในบางประเทศคงยังมองไม่ออกว่าคุณค่าของการลงทุนมนุษย์แบบนี้เป็นอย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์