Skip to main content

นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว

ครั้งแรกที่ผมรู้จักแก (ผมจงใจปกปิดชื่อ) ผมไปสัมมนาที่เกียวโต พออาจารย์เสนองานเสร็จ ผมก็วิจารณ์ตามนิสัยคนที่เรียนมาแบบอเมริกัน คือตรงไปตรงมาอย่างพยายามให้สุภาพและสร้างสรรค์ ผมแนะนำว่าอาจารย์น่าจะเอางานของ Eric Wolf นักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ศึกษาเรื่องระบบโลกมาช่วยปรับปรุงงาน อาจารย์คนนี้ตอบกลับมาอย่างสุภาพว่า "ที่จริงผมไปเรียนกับเอริค วูฟ เขาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาผมเอง" ผมนี่หน้าชาเลย รู้สึกว่าตัวเองแรงไปหรือเล่า แล้วดันไม่รู้จักว่าคนที่กำลังวิจารณ์เป็นใครกันแน่  

แต่สุดท้าย อาจารย์คนนี้แกชอบผมมาก เราคุยกันถูกคอ แล้วแกก็ชวนผมไปหาอะไรอร่อย ๆ กินกันเสมอ เมื่อมาเกียวโตคราวนี้ แกนัดผมอย่างดิบดีว่าไปกินอาหารกลางวันกัน แล้วแกก็จัดแจงหาร้านอาหารไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยนัก ชั่วแค่เดินไป-กลับได้ เมื่ออาหารที่แกสั่งไว้ทยอยมา ผมก็ค่อย ๆ ละเลียดทีละคำ ๆ ไป พร้อม ๆ กับฟังบรรยายถึงส่วนผสมและวัฒนธรรมอาหารของแต่ละคำไป 

พร้อม ๆ กับเรื่องอาหารที่กินเราคุยกันอีกหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องการเมืองไทย แกถามถึงนักวิชาการไทยที่ถูกมหาวิทยาลัยไล่ออกว่าตกลงได้กลับเข้าทำงานไหม ผมก็เล่าว่าไม่ได้ กำลังฟ้องร้องกันอยู่ แกเป็นคนหนึ่งที่ร่วมลงชื่อประท้วงกรณีนี้ด้วย ทั้ง ๆ ที่แทบไม่เคยเห็นแกลงชื่ออะไรแบบนี้ แล้วแกก็ไม่ได้ศึกษาเรื่องประเทศไทยด้วย แล้วแกก็เล่าปัญหาของการเมืองญี่ปุ่นที่อนุรักษนิยมมากขึ้น นิยมทหารมากขึ้น ซึ่งแกไม่สบายใจเลย 

แล้วผมก็วกมาถามไถ่แกถึง Sidney Mintz ซึ่งผมเคยรู้มาว่าแกรู้จักดี แล้วเขาสองคนก็เพิ่งไปเจอกันมาเมื่อปีกลาย ก่อนที่ผมจะได้ไปร่วมงานประชุมวิชาการที่ชิคาโกกับอาจารย์ญี่ปุ่นคนนี้ แต่คราวนี้ผมได้รู้อะไรมากขึ้น ทั้งเกี่ยวกับการที่สองคนนี้ได้รู้จักกัน และเกี่ยวกับงานของมินซ์ที่ผมไม่ได้ติดตามมานานแล้วนับจากอ่านงานคลาสสิคที่มักต้องอ่านกันสองเล่มคือ Worker in the Cane (1960) และ Sweetness and Power (1985) 

มินซ์เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกันกับเอริค วูฟ ทั้งสองคนน่าจะเคยได้เรียนกับ Julian Steward (นักมานุษยวิทยานิเวศที่พูดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมมานานก่อนที่นักมานุษยวิทยาปัจจุบันนี้จะหันกลับมาเห่อเรื่องนี้กันอีกครั้งในประเด็น anthropocene) คนเหล่านี้คือกลุ่มที่พัฒนางานของมาร์กซิสต์เพื่อใช้ศึกษาทางมานุษยวิทยา งานพวกเขาจึงมีทั้งเรื่องสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเน้นชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำ กับการเอารัดเอาเปรียบในสังคม เรียกรวม ๆ กันว่า political economy ซิดนี มินซ์เป็นคนที่จับเรื่องนี้ผ่านการศึกษาอาหารอย่างเอาจริงเอาจังมากที่สุด 

อาจารย์ญี่ปุ่นคนนี้เล่าว่า มีอยู่วันหนึ่ง เจ้าหน้าที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเรียกแกไปที่สำนักงาน บอกว่า "เอริค วูฟมาหา" แกบอกว่า "เราตกใจมากเลย เพราะเอริคตายไปนานแล้ว ต้องมีการเข้าใจผิดอะไรกันแน่ ๆ สุดท้าย ที่จริงคนที่มาคือซิดนี มินซ์นั่นเอง"  

แกว่าแกไม่เคยรู้จักมินซ์เป็นการส่วนตัวมาก่อน ที่มินซ์มาหาคงเพราะใครแนะนำมา แล้วอีกอย่างคือมินซ์กับเอริค วูฟก็รู้จักกันดี ผมถามว่า "แล้วมินซ์มาเกียวโตทำไม" อาจารย์ญี่ปุ่นบอกว่า "มาศึกษาเรื่องถั่วเหลือง" แล้วอาจารย์แกก็พามินซ์ตระเวนกินเต้าหู้ไปทั่วเกียวโต นั่นคือที่มาส่วนหนึ่งของหนังสือที่มินซ์บรรณาธิกรร่วมกับ Christine Du Bois และ Chee-Beng Tan หนังสือชื่อ The World of Soy พิมพ์ปี 2008 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ แล้วแกก็แนะนำให้ผมไปหามาอ่าน 

แกเล่าว่า มินซ์น่าทึ่งมากที่มาสนใจเรื่องนี้ "มินซ์บอกเราว่า เขาชอบศึกษาเรื่องที่คนคิดว่าไม่สำคัญ อย่างถั่วเหลือง สำหรับคนอเมริกัน ไม่เห็นความสำคัญเลย เพราะถือว่าเป็นอาหารสัตว์ แต่สำหรับคนอีกซีกโลก มันคืออาหารที่สำคัญมาก"  

เรื่องที่อาจารย์ญี่ปุ่นประทับใจอีกเรื่องคือการศึกษาการหมักดองอาหาร (fermentation) และจุลินทรย์ (microorganisms) แกบอกว่า "คิดดูสิ มินซ์ดึงเอาเรื่องที่เขาสนใจมาสู่ประเด็นที่มานุษยวิทยาตอนนี้กำลังสนใจ คือเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่สัมพันธ์กับสังคม"  

แล้วแกก็เปรยว่า "มินซ์เป็นคนที่มีความสนใจกว้างมาก แล้วเขียนหนังสือครอบคลุมเชื่อมโยงอะไรต่าง ๆ ได้มากมายหลากหลายไปหมด สักวันเราอยากขยับไปเขียนเรื่องอาหารบ้าง" ผมนึกในใจว่าใช่เลย ผมก็อยากเขียนเรื่องอาหารบ้างเหมือนกัน 

อีกสองวันเมื่อห้องสมุดเปิด ผมก็เลยรีบแจ้นไปหาหนังสือ The World of Soy มาอ่าน ผมเลือกอ่านเพียงบางบทที่สนใจ คือบทนำที่บรรณาธิการเขียนร่วมกัน บทที่มินซ์เขียน บทต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมถั่วเหลือง ในจีนบทหนึ่ง ในเวียดนามบทหนึ่ง และในญี่ปุ่นอีกบท รวม 5 บทนี้ก็ร่วมครึ่งเล่ม อ่านแค่นี้แล้วผมเองก็ได้ความรู้ใหม่มากมาย เช่นว่า...  

- ปัจจุบันสหรัฐฯ กลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดในโลก แม้จะบริโภคเพียงเล็กน้อย เพราะยังไม่คุ้นกับอาหารแปรรูปจากถั่วเหลือง 

- ถ้่วเหลืองเป็นอาหารประเภทที่เป็นพิษ วิธีที่จะกินได้ก็ต้องผ่านกรรมวิธีการผลิต การแปรรูป ที่สำคัญคือต้อง "หมัก" มันก่อน 

- รู้จักประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของเต้าหู้ ที่มามานานหลายพันปี แน่นอนว่าเริ่มต้นในประเทศจีน 

- ได้รู้กรรมวิธีการผลิตเต้าหู้ จากการเอาถั่วเหลืองแช่น้ำ บด กรองแล้วต้มหรือต้มแล้วกรอง ใส่สารทำให้จับตัว (จีนใช้ยิปซั่ม เวียดนามใช้นำส้มหลายชนิด ไม่รู้ว่าญี่ปุ่นใช้อะไร) แล้วรีดน้ำในพิมพ์มีผ้าขาวบางรอง 

- แม้แต่คนจีนก็คิดว่าเต้าหู้จืดเกินไป ต้องกินด้วยการปรุงรสกับเครื่องปรุงต่าง ๆ หรือต้มกับน้ำที่งวดจากการต้มผัก ปลา เนื้อสัตว์ต่าง ๆ กินหมดแล้ว (คือกินแบบเกาเหลาหรือสุกี้นั่นเอง) 

ในบทเรื่องอาหารถั่วเหลืองในญี่ปุ่น นอกจากจะเล่าเรื่องอาหารการกินเกี่ยวกับถั่วเหลืองแล้ว ผู้เขียนคือ Erino Ozeki ยังช่วยให้เข้าใจ "แกนกลางของอาหารญี่ปุ่น" ที่อยู่บนรสชาติ ไม่ใช่ตัวอาหารแปลก ๆ อย่างปลาดิบหรือซูชิ คนเขียนเสนอแนวคิดเรื่อง "เขตวัฒนธรรมอูมามิ" ว่าแบ่งเป็นเขตน้ำปลา (fish sauce) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับเขตซีอิ้ว (spy sauce) ของเอเชียตะวันออก  

แล้วยังเสนอว่า เดิมทีญี่ปุ่นก็เป็นวัฒนธรรมน้ำปลาแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งที่ยังตกค้างคือน้ำแกงแบบ dashi ที่มีปลาแห้งเป็นเครื่องปรุงและให้กลิ่นกับรสชาติหลัก ที่จริงปัจจุบันยังพอหาน้ำปลาได้ในบางท้องถิ่นของญี่ปุ่น ส่วนวัฒนธรรม shoyu (ซีอิ๊ว) กับ miso (ถั่วเน่า) นั้น มาทีหลัง น่าจะรับจากพระที่ไปศึกษาศาสนาพุทธในจีนและจากคนเกาหลีที่รับมาจากจีนอีกต่อหนึ่ง 

นอกจากนั้นโอเซกิยังเล่าเกร็ดเกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ซึ่งหลายคนที่สนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็คงได้เคยรู้มาบ้าง แต่ผมเพิ่งรู้ชัดเจน เช่นว่า การกินปลาดิบแบบที่เราเห็นกันทุกวันนี้เป็นสิ่งที่เพิ่งมีขึ้นเมื่อมีการผลิตน้ำแข็งในญี่ปุ่นในปลายศตวรรษที่ 19 และเมื่อการขนส่งดีขึ้น คนที่อยู่ไกลทะเลก็จึงได้กินปลาดิบไปด้วย 

ก่อนหน้านั้น เริ่มในคริสตศตวรรษที่ 800 ปลามักจะต้องทำให้สุกถ้าไม่ใช่ด้วยความร้อน ก็ด้วยการหมักกับของเปรี้ยว ดั้งเดิมเลยจึงเป็นปลาซาบะหมักน้ำส้มที่วางบนข้าวเพื่อถนอมปลาในแบบของเมืองนารา สมัยนั้นเขาไม่กินข้าวกัน กินแต่ปลา ซูชิจึงเป็นอาหารชนชั้นสูง หลังจากนั้นจึงมีซูชิแบบทุกวันนี้ แล้วจึงค่อยมีการกินปลาดิบแบบทุกวันนี้เมื่อมีน้ำแข็ง 

ในบริบทของการกินอยู่ในประเทศญี่ปุ่นของผมในขณะนี้ หนังสือเล่มนี้จึงช่วยให้การกินของผมมีรสชาติมากขึ้น ที่สำคัญคือไม่โรแมนติไซส์ความดั้งเดิมของรสชาติ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า อาหารในแต่ละวัฒนธรรมก็มักมี "ความดื้อดึงต้านทานการเปลี่ยนแปลง" (ตามคำของโอเซกิ) อยู่ในระยะเวลาที่ยาวนานเสมอ อาหารเปลี่ยน คนเปลี่ยน พร้อม ๆ กับที่อาหารสร้างเขตแดนและมีนักอนุรักษนิยมในการกินเสมอ  

นี่คงเป็นมรดกหนึ่งที่ซิดนี มินซ์ฝากไว้ให้ก่อนจากโลกไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ ให้คนศึกษามิติซับซ้อนของอาหารและการกิน ทั้งทางวัฒนธรรม การเมือง รสชาติ เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลง ไปจนกระทั่งถึงมิติทางกายภาพ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สมกับที่เขาเป็นนักวัตถุนิยมประวัติศาสตร์

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร