Skip to main content
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด

แต่ที่ดีกว่านั้นคือ วีซ่าสามารถเข้าออกญี่ปุ่นได้ไม่จำกัด ยิ่งกว่านั้นคือ นอกจากค่าเดินทางไปกลับไทย-เกียวโต และค่ากินอยู่ที่นั่นแล้ว ยังมีทุนอีกต่างหากสำหรับซื้อข้าวของหรือจะใช้เดินทางเพื่อการวิจัยก็ได้ ถ้าไม่ใช้ก็ไม่ได้ค่าใช้จ่ายนี้ ต้องใช้จ่ายจึงได้ทุนอีกส่วน
แล้วผมจะนั่งอยู่ที่นั่นตลอดทำไมล่ะครับ ทุนเสริมนี้มีไม่มาก แค่ซื้อพอตั๋วเครื่องบินจากโอซากามาฮานอยไป-กลับก็แทบจะหมดแล้ว ผมก็เลยถือโอกาสกลับมาเวียดนามแล้วอยู่ยาวๆ สัก 15 วัน ก็คือมาเก็บข้อมูลเพิ่มเติม มาเดินทางไป "multi-หมู่บ้านของฉัน" มาไล่ตามความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นที่ไม่ได้ไปมา 3-5 ปีแล้ว บางที่ไม่ได้กลับไปมาเกือบ 10 ปีแล้ว บางที่ที่เคยไปไม่มีอยู่แล้ว เพราะจมน้ำอยู่ใต้เขื่อนไปหมดแล้ว
แถมการมาครั้งนี้ ผมยังได้เพื่อนร่วมทางที่อาสามาเดินทางด้วย อย่างเมื่อวานวันแรก เพื่อนร่วมเดินทางกิตติมศักดิ์ของผมแต่ละคนน่ารักมากครับ ผมพาไป 3 พิพิธภัณฑ์ กับ 2-3 landmarks สำคัญของฮานอย เหล่าเพื่อนร่วมทางก็ยังสนองความบ้าฮานอยของผมได้ แถมแต่ละคนยังมีคำถามที่ผมยังไม่เคยคิดมาก่อน โดยเฉพาะจากนักประวัติศาสตร์ไทยช่างคิดและปากกล้าคนหนึ่ง แกตั้งคำถามที่เป็นการบ้านผมได้อีกมาก เช่นว่า
ระหว่างเดินดูพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เวียดนาม ผมบอกว่า "การเอาเครื่องมือหินพวกนี้มามัดกับไม้นี่ อาจารย์โบราณคดีท่านหนึ่งเคยวิจารณ์ว่า รู้ได้ยังไงว่ามัดแบบนี้หรือเขาใช้อย่างไร เขาใช้หรือเปล่ายังไม่มีทางรู้เลย" แต่เพื่อนร่วมทางผมบอกว่า "แต่การทำแบบนี้ก็ช่วยให้จินตนาการได้ว่า การใช้งานเครื่องมือหินยุคหินเก่ามันน่าจะส่งต่อมาให้ยุคหินใหม่ที่ทำการเกษตรได้อย่างไร”
พอดูห้องโบราณคดีเสร็จ เพื่อนร่วมทางผมบอกว่า "พิพิธภัณฑ์ชาติของไทยมันไม่เห็นค่อยให้ความสำคัญกับโบราณคดีเลย" ผมแลกเปลี่ยนว่า "เพราะโบราณคดีคือการปกป้องความเป็นเวียดนาม ปกป้องการมีอยู่ของเวียดนามก่อนการเข้ามาของจีน แล้วการดีเฟนเวียดนามก็คือการดีเฟนการมีอยู่ของอะไรที่มีก่อน มีร่วมกันของคน Southeast Asia" เพื่อนร่วมทางผมพยักหน้า
พอถึงห้องสมัยประวัติศาสตร์ เพื่อนร่วมทางผมสะดุดใจกับไม้แกะสลักท่ารำแขนอ่อนสองรูปข้างบนนั่น เป็นงานในศตวรรษที่ 17-18 แกถามว่า "คนเวียดมีท่ารำแขนอ่อนแบบนี้ด้วยเหรอ มันดูเขมรมาก" ผมบอกว่า “ไม่รู้เลย เพราะวัฒนธรรมเวียดแบบราชสำนักสูญหายไปมาก แต่ก็ไม่เคยสังเกตไม้แกะสองชิ้นนี้มาก่อนว่าทำไมมันแขนอ่อนราวกับพวกฮินดูอย่างไทย เขมร แบบนี้”
อีกคำถามคือ "คนเวียดเรียกตัวเองว่าคน Kinh ตั้งแต่เมื่อไหร่" ข้อนี้ก็ไม่เคยคิดมาก่อน รู้แต่ว่า Kinh แปลว่าคนเมือง เมืองฮานอยเรียกอีกอย่างว่า Đông Kinh แปลว่าคนเมืองทางตะวันออก หมายความอีกอย่างว่า ไอ้พวกคนภูเขาทางตะวันตก รวมทั้งคนพูดภาษาไทน่ะ พวกคนป่าคนดอย
เมื่อเดินมาถึงยุคที่บันทึกเริ่มมีมากขึ้น เพื่อนร่วมทางคนเดียวกันถามอีกว่า "เวียดนามมียุคจารึกแบบสมัยยุคจารึกของเขมรกับไทยไหม" ผมตอบไม่ได้ รู้แต่ว่าจารึกแบบเวียดคือเขียนภาษาจีน แต่อักษรเวียดนามที่ยืมอักษรจีนมาเขียนออกเสียงแบบเวียดยุคที่เฟื่องฟูก็ช่วงต้นราชวงศ์เหงวียน คือต้นศตวรรษที่ 19 นี้เอง ก่อนนั้นคนรู้อักษรคือคนเขียนภาษาจีนได้
พอมาที่พิพิธภัณฑ์ผู้หญิง เพื่อนร่วมทางทุกคนตื่นเต้นมาก ยิ่งวันนี้เป็นวันสตรีสากล เพื่อนร่วมทางที่เป็นนักเขียนวิพากษ์สังคมบอกว่า ทีแรกว่าจะเขียนเรื่องเดียนเบียนฟู แต่ตอนนี้อยากเขียนเรื่องผู้หญิงแล้ว ผมเลยล้อแกว่า “เขียนว่า ผู้หญิงมีไว้ทำไม? สิครับ"
พอมาถึงพิพิธภัณฑ์ชาติพันธ์ุวิทยา มีคำถามมากมายจากทุกคน แต่ที่ผมชอบที่สุดคือ "ก่อนจารึกพ่อขุนราม หรือไม่ก็จารึกสมัยสุโขทัย มันต้องมีภาษาเขียนภาษาไทยอยู่แล้วแน่นอน" ผมบอกเห็นด้วยครับ ต้องมีแน่นอน มันไม่มีการประดิษฐ์อะไรมาแบบนั้นได้ง่ายๆ หรอก แต่เพื่อนร่วมทางคนนี้ถามอีกว่า “คุณว่ามันเป็นไปได้ไหมที่จะมาจากอักษรไทในเวียดนามนี่แหละ"
ถามแบบนี้จากคนไม่คลั่งชาติ ไม่คลั่งไท-ไทยนี่ ทำเอาผมคิดหลายตลบเลย ผมบอกว่า "ผมไม่เคยคิดมาก่อน แต่คิดว่าเป็นไปได้ด้วยสองเหตุผลคือ หนึ่ง อักษรไทในเวียดนามมีหลากหลายมาก script per capita สูงมาก ที่ว่าหลากหลายคือ ความรู้อ่านออกเขียนได้เกี่ยวกับอักษรของเมืองที่ผมอ่านได้นี่ ใช้ไม่ได้เลยกับอักษรไทในหลายๆ เมือง ทีนี้ถ้าคิดแบบนักภาษาศาสตร์ว่า ที่ไหนมีภาษาถิ่นเยอะ ที่นั่นเป็นต้นกำเนิดของภาษาตระกูลนั้น ถ้างั้น ที่ไหนที่มีอักษรหลากหลาย แปลว่าน่าจะเป็นที่ที่อักษรกำเนิดขึ้นมาได้ไหม
"สอง อักษรน่าจะมากับความเชื่อ ถ้าอักษรไทในเวียดนามมาจากลาว จากโยนก จากสยาม ทำไมศาสนาพุทธไม่มาด้วย ข้อนี้ถ้าคิดกลับกัน เป็นไปได้ไหมว่าอักษรไปจากที่เวียดนาม" สองข้อนี่เป็นข้อสันนิษฐานประหลาดที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน"
อย่างน้อย เพื่อนร่วมทางทุกคนยังไม่บ่นว่าผมยัดเยียดเขากันเกินไป ชวนกินแต่ของที่ผมอยากกินเองมากไป ในวันสตรีสากล เดินในฮานอยกันมาทั้งวัน เห็นผู้หญิงได้รับช่อดอกไม้ แต่งตัวสวยๆ กับแฟนเดินเที่ยวกินของแพงๆ กัน ดูชื่นมื่นเพราะคนเวียดนามถือว่าวันนี้ (และวันสตรีเวียดนามอีกวัน) เป็นวันที่ต้องแสดงการยกย่องผู้หญิง ผู้หญิงหยุดทำงานบ้าน (แต่มองได้อีกแบบว่า นอกจากสองที่เหลือเป็นวันผู้ชายหมดล่ะสิ)
แต่ที่น่าภูมิใจแทนคนเวียดที่สุดคือ เพื่อนร่วมทางนักดื่มบอกว่า "ผมว่าเบียร์สดฮานอยนี่เป็นเบียร์ของ Southeast Asia ที่ดีที่สุดใน Southeast Asia”
การเดินทางกับเพื่อนร่วมทางที่ไม่เคยไปไหนด้วยมาก่อนและเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเส้นทางที่ผมคุ้นเคยจึงน่าสนใจไม่น้อย เพราะจะช่วยให้ผมได้คำถามใหม่ๆ ได้มุมมองแปลกๆ ที่คิดไม่ถึงมาก่อน ระยะนี้ก็คงมีเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับเวียดนามที่ช่วยให้ผมคิดอะไรใหม่ๆ มาปันกันครับ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน