Skip to main content

เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 

เดินหาไปแบบกึ่งเชื่อกึ่งไม่เชื่อว่าบ้านนี้จะมีอยู่จริง กึ่งงง ๆ ว่า ทำไมตำนานขุนบรมกับบ้านนาน้อยอ้อยหนูจะมีสถานที่จริงระบุได้ขนาดนั้น จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า เคยพาอาจารย์จากประเทศไทยมาดูบ้านนาน้อยอ้อยหนู แต่แกก็จำไม่ได้แม่นว่าบ้านนี้อยู่ตรงไหนกันแน่ ที่เวียดนามก็ไม่ได้มีชื่อบ้านนี้เขียนอยู่ตรงไหนชัดเจน วิธีตามหาก็คือ อาจารย์คำจองคาดเดาจากความทรงจำว่าน่าจะอยู่ตรงไหน แล้วก็ลงถามผู้คนแถวนั้นจนเจอ 

ต้น "อ้อยหนู" ถ่ายเมื่อ 15 ปีก่อน

ตำนาน "บ้านนาน้อยอ้อยหนู" อยู่ในตำนานขุนบรม หรือขุนบูลม ในพงศาวดารล้านช้าง ฉบับภาษาไทย ในตำนานเล่าถึงกำเนิดคนไต คนส่า ว่ามาจากน้ำเต้าปุง น้ำเต้าปุงตามตำนานถูกส่งลงมาที่ "บ้านนาน้อยอ้อยหนู" ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าขุนบูลมเป็นผู้ที่ออกมาจากน้ำเต้า หรือไม่แกก็รับมอบหมายจากแถนให้เอาน้ำเต้ามาแล้วเป็นผู้ปกครองผู้คนที่ออกมาจากน้ำเต้า แต่เรื่องราวของกำเนิดคนอยู่ที่บ้านนาน้อยอ้อยหนูนี่แหละ 

ไม่น่าเชื่อว่า เกือบ 15 ปีผ่านไป ผมจะเป็นคนพาอาจารย์จากประเทศไทยอีกคนหนึ่ง มาเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนู ผมก็ใช้วิธีเดียวกันกับอาจารย์คำจอง คือคลำเอาจากความทรงจำกับถามจากผู้คนไปเรื่อย ๆ ที่จำได้แน่ ๆ คือ บ้านนาน้อยอยู่หลังจากเมืองควาย (Tuần Giáo) แล้วถามไล่ไปเรื่อย ๆ เจอเรือนหนึ่ง พอบอกว่ามาถามหา "บ้านนาน้อย" คนบนเรือนก็พูดสวนกลับมาว่า "บ้านนาน้อยอ้อยหนูน่ะเหรอ" ผมดีใจเลย เพราะเขาพูดชื่อเต็มของบ้านนี้ขึ้นมาเอง เอาล่ะ แสดงว่าเรื่องนี้คงไม่ได้เล่ากันมั่ว ๆ อยู่ที่ใดที่หนึ่ง คงมีตำนานสืบทอดกันมาจริง ๆ คนแรกนี้บอกว่า ต้องไปต่ออีก เกือบถึงเมืองแถงโน่นแหละ เลยเมืองพังไปอีก แต่แกก็ยังว่า "หรือไม่ก็กลับไปทางเมืองควาย ทางนั้นก็มีบ้านนาน้อย" ผมชักเริ่มงงอีกว่า ตกลงบ้านนาน้อยมีหลายที่หรือนี่

 ผมกับอาจารย์คำจองเมื่อ 15 ปีก่อน

ผมอาศัยความทรงจำจากที่ว่า เคยจำได้ว่ามีลำน้ำเล็ก ๆ อยู่ริมถนน มีหมู่บ้านอยู่อีกฝั่งของลำน้ำนั้น ลำนำ้นั้นเรียกว่า "นำ้โซม" ไหลไปทางไปเมืองแถง แถวนั้นคือบ้านนาน้อยฯ น้ำโซมไหลมาจนถึงตัวเมืองแถง บริเวณกลางแม่น้ำแถวนั้นเป็นแก่งหิน เรียกหินแม่เบ้า 

ตอนที่ไปหากับอาจารย์คำจอง พวกเราก็เจอบ้านนี้เข้าจนได้ พอมีคนที่เราไม่รู้จักพูดเรื่องน้ำเต้าปุง เรื่องแม่เบ้า เรื่องนาน้อยอ้อยหนูเป็นคุ้งเป็นแคว ผมก็เริ่มเชื่อว่า ที่นี่น่าจะเป็นบ้านนาน้อยอ้อยหนูตามตำนานจริง ๆ แต่ตอนนั้นเดินลุยกันไปไม่ถึงตรงแก่งหินกลางน้ำ ก็จึงไม่ได้รูปหินนั่นมา นึกในใจว่า สักวันคงได้ผ่านมาแถวนี้แล้วคงได้เข้าไปดูให้เห็นกับตา 

แล้ววันนั้นก็มาถึงจริง ๆ เมื่อวาน (12 มีนาคม) เมื่อรถขับไล่มาเกือบถึงเมืองแถง อีกสักราว ๆ 20 กิโลเมตรจะถึงเมืองแถง ผมคิดว่าตรงนั้นน่าจะเป็นบ้านนาน้อยอ้อยหนู ก็เลยให้คนขับรถหยุด แล้วลงไปถามคนแถวนั้นดู ปรากฏว่าถูกที่แล้วจริง ๆ พวกเราเจอผู้ชายสูงอายุคนหนึ่งบอกว่าตรงนี้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับน้ำเต้าปุง ตรงนั้นเป็นลำน้ำเรียกน้ำโซม มีหินแม่เบ้า ผมก็ว่านี่แหละใช่แล้ว แม้จะเปลี่ยนไปมาก มีคนไตดำมาปลูกเรือนริมถนนมากขึ้น แต่ก็ยังมีเค้าเดิมอยู่มาก พอดีพี่คนไตที่ไปด้วยกันไปเจอผู้หญิงไตดำคนหนึ่ง อายุพอสมควร เธออาสาพาไปดูหินกลางน้ำโซม พวกเราก็เลยลุยน้ำ เกาะไต่โขดหินไปกัน ก็ได้ภาพมาอย่างที่เห็น

ตำนานที่ได้มาจากคนในท้องที่ในวันนี้มีห้าเรื่อง 1. เรื่องมะเต้าปุง 2. เรื่องหินแม่เบ้า 3. เรื่องบ้านห้วยนาง 4. เรื่องคนเอาของมีค่ามาฝัง และ 5. เรื่องกลองมโหระทึก  

เรื่องมะ (หมาก) เต้าปุง มีตำนานมะเต้า เล่าว่าแถนเอามะเต้าลงมาในเมืองลุ่ม คือเมืองมนุษย์นั่นแหละ แล้วเอามาที่บ้านนาน้อยอ้อยหนู ต่อมาผู้คนก็ออกมาจากน้ำเต้า เป็นคนส่ากับคนไต คนจึงเริ่มมีกันจากบ้านนาน้อยนี่เอง แล้วตรงที่เลยบ้านนาน้อยไปหน่อยก็มีบ้านชื่อบ้านเต้าปุง  

เรื่องหินแม่เบ้า มีหินรูปอ่างน้ำ แม่เบ้าซึ่งก็คือแถนผู้หนึ่ง เป็นแถนผู้หญิง คอยแต่งสร้างผู้คน แล้วเอามาล้างน้ำที่อ่างนี้ หรือไม่ก็เอามาหล่อที่อ่างนี้ แล้วจึงเอาขวัญใส่ทำให้กลายเป็นคน อีกเรื่องก็สัมพันธ์หินแม่เบ้า ตรงที่เป็นรูปคล้ายมดลูก ท่ีชาวบ้านเชื่อว่าตรงนี้แหละคือตัวแม่เบ้า หมู่บ้านบริเวณนั้นเรียกบ้านห้วยนางเพราะเคยมีหญิงคนหนึ่งขี่ม้ามาตายที่นั่น  

ส่วนเรื่องคนเอาของมาฝังกับเรื่องคนขุดของ ฟังดูเหมือนเกี่ยวข้องกัน เรื่องแรกเขาเล่าว่ามีคนเคยเอาของมีค่ามาฝัง จากเมืองลาว แล้วยังฆ่าคนฝังลงไปด้วยในบริเวณแถวนี้ ส่วนอีกเรื่องคือ คนแกว (คนเวียด คำเรียกนี้ไม่ใช่คำดูถูกชนชาติแบบในภาษาไทย) ได้ยินว่าบริเวณนี้มีของมีค่า ก็มาขุดเจอ "หม้อ" ใหญ่ใบหนึ่ง บนฝาหม้อมีรูปตัวกบติดอยู่ 4 ตัว แต่เมื่อเอาไปแล้วมีคนมาขโมยไปอีกที 

สรุปแล้วบริเวณนี้คงเกี่ยวข้องกับตำนานนำ้เต้าปุง ตำนานขุนบูลม ตำนานกำเนิดมนุษย์จริง ๆ ที่ต้องคิดต่อคือ ทำไมตำนานมากมายจึงเกิดขึ้นที่นี่ ทำไมตำนานเหล่านี้จึงถูกจดจำและถูกเล่าต่อกันมาเนิ่นนาน เป็นไปได้ไหมว่าบริเวณนี้จะเคยไปที่ตั้งรกรากเริ่มต้นหรือเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของคนไตหรือความสัมพันธ์ระหว่างคนไตกับคนส่าเมื่ออดีตอันแสนไกลหลักพันปี

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ