Skip to main content

เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 

เดินหาไปแบบกึ่งเชื่อกึ่งไม่เชื่อว่าบ้านนี้จะมีอยู่จริง กึ่งงง ๆ ว่า ทำไมตำนานขุนบรมกับบ้านนาน้อยอ้อยหนูจะมีสถานที่จริงระบุได้ขนาดนั้น จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า เคยพาอาจารย์จากประเทศไทยมาดูบ้านนาน้อยอ้อยหนู แต่แกก็จำไม่ได้แม่นว่าบ้านนี้อยู่ตรงไหนกันแน่ ที่เวียดนามก็ไม่ได้มีชื่อบ้านนี้เขียนอยู่ตรงไหนชัดเจน วิธีตามหาก็คือ อาจารย์คำจองคาดเดาจากความทรงจำว่าน่าจะอยู่ตรงไหน แล้วก็ลงถามผู้คนแถวนั้นจนเจอ 

ต้น "อ้อยหนู" ถ่ายเมื่อ 15 ปีก่อน

ตำนาน "บ้านนาน้อยอ้อยหนู" อยู่ในตำนานขุนบรม หรือขุนบูลม ในพงศาวดารล้านช้าง ฉบับภาษาไทย ในตำนานเล่าถึงกำเนิดคนไต คนส่า ว่ามาจากน้ำเต้าปุง น้ำเต้าปุงตามตำนานถูกส่งลงมาที่ "บ้านนาน้อยอ้อยหนู" ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าขุนบูลมเป็นผู้ที่ออกมาจากน้ำเต้า หรือไม่แกก็รับมอบหมายจากแถนให้เอาน้ำเต้ามาแล้วเป็นผู้ปกครองผู้คนที่ออกมาจากน้ำเต้า แต่เรื่องราวของกำเนิดคนอยู่ที่บ้านนาน้อยอ้อยหนูนี่แหละ 

ไม่น่าเชื่อว่า เกือบ 15 ปีผ่านไป ผมจะเป็นคนพาอาจารย์จากประเทศไทยอีกคนหนึ่ง มาเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนู ผมก็ใช้วิธีเดียวกันกับอาจารย์คำจอง คือคลำเอาจากความทรงจำกับถามจากผู้คนไปเรื่อย ๆ ที่จำได้แน่ ๆ คือ บ้านนาน้อยอยู่หลังจากเมืองควาย (Tuần Giáo) แล้วถามไล่ไปเรื่อย ๆ เจอเรือนหนึ่ง พอบอกว่ามาถามหา "บ้านนาน้อย" คนบนเรือนก็พูดสวนกลับมาว่า "บ้านนาน้อยอ้อยหนูน่ะเหรอ" ผมดีใจเลย เพราะเขาพูดชื่อเต็มของบ้านนี้ขึ้นมาเอง เอาล่ะ แสดงว่าเรื่องนี้คงไม่ได้เล่ากันมั่ว ๆ อยู่ที่ใดที่หนึ่ง คงมีตำนานสืบทอดกันมาจริง ๆ คนแรกนี้บอกว่า ต้องไปต่ออีก เกือบถึงเมืองแถงโน่นแหละ เลยเมืองพังไปอีก แต่แกก็ยังว่า "หรือไม่ก็กลับไปทางเมืองควาย ทางนั้นก็มีบ้านนาน้อย" ผมชักเริ่มงงอีกว่า ตกลงบ้านนาน้อยมีหลายที่หรือนี่

 ผมกับอาจารย์คำจองเมื่อ 15 ปีก่อน

ผมอาศัยความทรงจำจากที่ว่า เคยจำได้ว่ามีลำน้ำเล็ก ๆ อยู่ริมถนน มีหมู่บ้านอยู่อีกฝั่งของลำน้ำนั้น ลำนำ้นั้นเรียกว่า "นำ้โซม" ไหลไปทางไปเมืองแถง แถวนั้นคือบ้านนาน้อยฯ น้ำโซมไหลมาจนถึงตัวเมืองแถง บริเวณกลางแม่น้ำแถวนั้นเป็นแก่งหิน เรียกหินแม่เบ้า 

ตอนที่ไปหากับอาจารย์คำจอง พวกเราก็เจอบ้านนี้เข้าจนได้ พอมีคนที่เราไม่รู้จักพูดเรื่องน้ำเต้าปุง เรื่องแม่เบ้า เรื่องนาน้อยอ้อยหนูเป็นคุ้งเป็นแคว ผมก็เริ่มเชื่อว่า ที่นี่น่าจะเป็นบ้านนาน้อยอ้อยหนูตามตำนานจริง ๆ แต่ตอนนั้นเดินลุยกันไปไม่ถึงตรงแก่งหินกลางน้ำ ก็จึงไม่ได้รูปหินนั่นมา นึกในใจว่า สักวันคงได้ผ่านมาแถวนี้แล้วคงได้เข้าไปดูให้เห็นกับตา 

แล้ววันนั้นก็มาถึงจริง ๆ เมื่อวาน (12 มีนาคม) เมื่อรถขับไล่มาเกือบถึงเมืองแถง อีกสักราว ๆ 20 กิโลเมตรจะถึงเมืองแถง ผมคิดว่าตรงนั้นน่าจะเป็นบ้านนาน้อยอ้อยหนู ก็เลยให้คนขับรถหยุด แล้วลงไปถามคนแถวนั้นดู ปรากฏว่าถูกที่แล้วจริง ๆ พวกเราเจอผู้ชายสูงอายุคนหนึ่งบอกว่าตรงนี้มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับน้ำเต้าปุง ตรงนั้นเป็นลำน้ำเรียกน้ำโซม มีหินแม่เบ้า ผมก็ว่านี่แหละใช่แล้ว แม้จะเปลี่ยนไปมาก มีคนไตดำมาปลูกเรือนริมถนนมากขึ้น แต่ก็ยังมีเค้าเดิมอยู่มาก พอดีพี่คนไตที่ไปด้วยกันไปเจอผู้หญิงไตดำคนหนึ่ง อายุพอสมควร เธออาสาพาไปดูหินกลางน้ำโซม พวกเราก็เลยลุยน้ำ เกาะไต่โขดหินไปกัน ก็ได้ภาพมาอย่างที่เห็น

ตำนานที่ได้มาจากคนในท้องที่ในวันนี้มีห้าเรื่อง 1. เรื่องมะเต้าปุง 2. เรื่องหินแม่เบ้า 3. เรื่องบ้านห้วยนาง 4. เรื่องคนเอาของมีค่ามาฝัง และ 5. เรื่องกลองมโหระทึก  

เรื่องมะ (หมาก) เต้าปุง มีตำนานมะเต้า เล่าว่าแถนเอามะเต้าลงมาในเมืองลุ่ม คือเมืองมนุษย์นั่นแหละ แล้วเอามาที่บ้านนาน้อยอ้อยหนู ต่อมาผู้คนก็ออกมาจากน้ำเต้า เป็นคนส่ากับคนไต คนจึงเริ่มมีกันจากบ้านนาน้อยนี่เอง แล้วตรงที่เลยบ้านนาน้อยไปหน่อยก็มีบ้านชื่อบ้านเต้าปุง  

เรื่องหินแม่เบ้า มีหินรูปอ่างน้ำ แม่เบ้าซึ่งก็คือแถนผู้หนึ่ง เป็นแถนผู้หญิง คอยแต่งสร้างผู้คน แล้วเอามาล้างน้ำที่อ่างนี้ หรือไม่ก็เอามาหล่อที่อ่างนี้ แล้วจึงเอาขวัญใส่ทำให้กลายเป็นคน อีกเรื่องก็สัมพันธ์หินแม่เบ้า ตรงที่เป็นรูปคล้ายมดลูก ท่ีชาวบ้านเชื่อว่าตรงนี้แหละคือตัวแม่เบ้า หมู่บ้านบริเวณนั้นเรียกบ้านห้วยนางเพราะเคยมีหญิงคนหนึ่งขี่ม้ามาตายที่นั่น  

ส่วนเรื่องคนเอาของมาฝังกับเรื่องคนขุดของ ฟังดูเหมือนเกี่ยวข้องกัน เรื่องแรกเขาเล่าว่ามีคนเคยเอาของมีค่ามาฝัง จากเมืองลาว แล้วยังฆ่าคนฝังลงไปด้วยในบริเวณแถวนี้ ส่วนอีกเรื่องคือ คนแกว (คนเวียด คำเรียกนี้ไม่ใช่คำดูถูกชนชาติแบบในภาษาไทย) ได้ยินว่าบริเวณนี้มีของมีค่า ก็มาขุดเจอ "หม้อ" ใหญ่ใบหนึ่ง บนฝาหม้อมีรูปตัวกบติดอยู่ 4 ตัว แต่เมื่อเอาไปแล้วมีคนมาขโมยไปอีกที 

สรุปแล้วบริเวณนี้คงเกี่ยวข้องกับตำนานนำ้เต้าปุง ตำนานขุนบูลม ตำนานกำเนิดมนุษย์จริง ๆ ที่ต้องคิดต่อคือ ทำไมตำนานมากมายจึงเกิดขึ้นที่นี่ ทำไมตำนานเหล่านี้จึงถูกจดจำและถูกเล่าต่อกันมาเนิ่นนาน เป็นไปได้ไหมว่าบริเวณนี้จะเคยไปที่ตั้งรกรากเริ่มต้นหรือเป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของคนไตหรือความสัมพันธ์ระหว่างคนไตกับคนส่าเมื่ออดีตอันแสนไกลหลักพันปี

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง