Skip to main content

เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน

ครั้งสุดท้ายที่ผมเดินทางมารู้จักเมืองไลคือเมื่อปี 2004 เมื่อสิบกว่าปีก่อน เมืองไลมีบ้านเรือนที่สวยงานจำนวนมาก ตัวเมืองไลเอง เมื่อมองลงมาจากที่สูง จะเห็นทุ่งเมืองไลทอดตัวอยู่ขนาบลำห้วยหนึ่ง บริเวณนั้นมีที่นาและบ้านเรือนผู้คนตั้งอยู่ ทางเข้าเมืองไลมีสองทาง ทางหนึ่งวิ่งตรงไปยังสะพานข้ามห้วย จะเห็นหาดหินกว้างบริเวณปากน้ำที่จะไปบรรจบกับอีกสองลำน้ำ คือน้ำหนากับน้ำแต๊ (ที่คนไทยเรียกตามฝรั่งเศสว่าน้ำดำ) อีกทางหนึ่งคือข้ามสะพานก่อนถึงเมือง แล้ววิ่งเลาะหมู่บ้านริมเขาไป จะผ่านบ้านไตขาวจำนวนเกือบร้อยหลังคาเรือน เรียงรายริมนา มีครั้งหนึ่งที่ผมได้อาศัยข้าวปลาจากเรือนแถบนี้เมื่อมาเยือนเมืองไล

ณ ที่ตั้งของเมืองไล ฝั่งหนึ่งของน้ำดำมีท่าเรือ ที่ผมเคยล่องน้ำดำสำรวจเส้นทางและผู้คนจากเมืองไลไปยังเมืองเจียน ก่อนที่บริเวณนั้นทั้งหมดจะจมอยู่ใต้ลำน้ำดำเหนือเขื่อนเซอนลาในปัจจุบัน ตรงท่าเรือ ที่ก็เป็นเพียงหาดทรายริมน้ำดำ มีเมืองเก่าของชาวฝรั่งเศส อีกฝั่งหนึ่งเป็นบ้านของชาวไต เรียกบ้านจาง ตั้งรายล้อมยอดเขาเล็ก ๆ ที่เหมือนเป็นชะง่อนผา อันเป็นที่ตั้งของเรือนเจ้าเมืองเมืองไลในอดีต เรือนนี้เป็นเรือนแบบฝรั่ง ถูกทิ้งร้างมานานแล้ว บ้านจางนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางไปเมืองแต๊ จัดเป็นเมืองทางทิศตะวันตกสุดของชายแดนจีน-เวียดนาม

เมืองไลในอดีตมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดสงคราม “ปราบฮ่อ” ของสยาม จนเกิดบันทึกสองมุมมองคือ มุมของแม่ทัพบันทึกโดยเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี กับบันทึกของไพร่พลคือนิราศหนองคาย ที่เมื่อพิมพ์แล้วก็ถูกเผา นอกจากนั้นยังมีพงศาวดารเมืองไล หากแต่จะมีใครสักกี่คนที่สนใจว่า เมืองไลสำคัญอย่างไร

หากจะเล่าย่อ ๆ จากบันทึกของฝรั่งเศส เวียดนาม ชาวไต และผลการศึกษาต่าง ๆ อีกมากในภาษาอังกฤษ เมื่อกบฏไท่ผิงพ่ายแพ้กองทัพจีนแล้วหนีลงมาเวียดนาม ถูกเรียกว่า “ฮ่อ” โดยชาวไต พวกนี้มีหลายกลุ่ม บางกลุ่มปล้นฆ่าชาวไตและคนในเวียดนาม บางพวกได้เข้ากับพวกไต ปราบปรามพวกฮ่อด้วยกัน จนเมื่อฝรั่งเศสขยายอำนาจขึ้นมาภาคเหนือในทศวรรษ 1870 พวกฮ่อ ไต และเวียดนาม รวมกำลังกันต่อต้านฝรั่งเศส จนกระทั่งปี 1890 นั่นเองที่ฝรั่งเศสกับสยามทำสนธิสัญญาแบ่งเขตแดนกัน

ในความวุ่นวายนั้น เจ้าเมืองเมืองไลมีบทบาทสำคัญไม่น้อยทีเดียว บันทึกต่าง ๆ เล่าว่า แดววันแสงกับลูกชื่อแดววันจิ (ที่มักออกเสียงว่า แดววันตรี นั่นแหละ) มีกำลังเข้มแข็งมากเนื่องจากสมทบกำลังกับพวกฮ่อ จึงได้มีอำนาจเหนือเมืองของพวกไตหลายเมือง เมื่อกองทัพสยามขึ้นมา ได้จับน้องชายและน้องเขยของแดววันจิไปกรุงเทพฯ (คนพวกนี้น่าจะมีส่วนในการทำบันทึกพงศาวดารเมืองไล) แดววันจิกับพวกฮ่อจึงนำกำลังไปเผาหลวงพระบาง จากนั้นฝรั่งเศสก็นำทัพขึ้นมาจากหล่าวกาย (Lào Cai) ปราบปรามอำนาจของพวกไตขาว

หากแต่ในท้ายที่สุด ฝรั่งเศสให้พวกเจ้าเมืองปกครองดังเดิม แต่ต้องยอมรับอำนาจเหนือกว่าของฝรั่งเศส ส่วนเจ้าเมืองไลก็ได้รับฐานะใหม่ กลายเป็นเจ้าเมืองเหนือเมืองไตขาวและไตดำจำนวนหนึ่ง จนมาถึงยุคของลูกของแดววันจิคือแดววันลอง ฝรั่งเศสแต่งตั้งเขาเป็นเสมือนกษัตริย์ของพวกไต ที่สำคัญคือเมื่อเขามีอำนาจเหนือเดียนเบียนฟู ทำให้ชาวไตขาวเข้าไปอาศัยในเมืองแถงเป็นจำนวนมากจนถึงปัจจุบัน แต่เมื่อฝรั่งเศสแพ้ในสงครามเดียนเบียนฟู แดววันลองและครอบครัวต้องหนีไปอยู่ฝรั่งเศส แล้วบ้านเรือนเขาที่เมืองไลก็ถูกทิ้งร้าง

เมืองไลในทศวรรษที่ผมทำวิจัยจนปัจจุบันถูกทำให้สับสนหลายครั้ง เมืองไลถูกเรียกว่า ลายเจิว ในภาษาเวียดนามมาแต่ดั้งเดิม แต่ในทศวรรษ 2000 เมืองไลถูกรวบเป็นส่วนหนึ่งกับเดียนเบียนฟู แล้วตั้งเป็นจังหวัดลายเจิว แต่กลับมีตัวอำเภอเมืองอยู่ที่เมืองแถง ต่อมาเมื่อเมื่อรัฐบาลจะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นนำ้ดำที่เซอนลา ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมเมืองเจียน เมืองไตขาวขนาดใหญ่อีกเมือง และท่วมมาจนถึงเมืองไล ลายเจิวใหม่ก็ถูกตั้งขึ้นมา ณ เมืองของไตขาว คนม้ง คนเย้า และคนลื้อ ที่ตามเดื่อง (Tam Đường) และบิ่งลือ (Bình Lư) ส่วนเมืองแถงก็กลายเป็นจังหวัดเดียนเบียนฟูแยกจากเมืองไลดังเดิม

 

 

 

จนในปัจจุบัน เมืองไลไม่ได้ถูกทิ้งร้างไปเสียทีเดียว เมืองไลกลาายเป็น เทศบาลเมืองไล (Thị xã Lai Châu) ขึ้นกับจังหวัดลายเจิว แต่น้ำท่วมทุ่งนาเมืองไลไปจนหมดสิ้น บ้านเรือนที่เคยตั้งอยู่ริมนา ก็ถูกโยกย้ายไตั้งอยู่ริมถนน บรรดาที่ตั้งบ้านเรือนเก่า ๆ ทั้งก่อนเข้าเมืองและนอกเมือง ก็ถูกน้ำท่วมไปจนหมดสิ้น เมืองจัน ที่เคยหนาแน่นที่สุดในเขตเมืองไล และเป็นเมืองบริวารที่สำคัญของเมืองไล ก็จมอยู่ใต้น้ำเสียส่วนใหญ่ ส่วนเรือนของแดววันลองที่เคยตั้งตระหง่านอยู่บนชะง่อนผา ก็เกือบจะถูกน้ำท่วมเสียเช่นกัน

 

 

 

แต่การกลับมาเมืองไลครั้งนี้ก็ทำให้เกิดความสนใจใหม่ ๆ ได้รับรู้และรู้จักเรื่องราวกับผู้คนใหม่ ๆ อีกมาก ผมตื่นเต้นที่ได้เข้าไปพบชาวเมืองซอ เมืองไตขาวที่สำคัญคู่กับเมืองไล ตื่นเต้นที่ได้เจอชาวขมุที่สร้างเรือนแบบไตและพูดได้ทั้งภาษาไตและภาษาเวียดอาศัยอยู่ริมทางก่อนเข้าเมือง และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากเขื่อนไฟฟ้าขนาดเล็กถึง 3 เขื่อนกั้นลำน้ำหนา กับการเปิดชายแดนเวียดนาม-จีนบริเวณใกล้ ๆ เมืองซอที่คึกคักขนาดมีรถพ่วงขนาดใหญ่ขนสินค้าผ่านไปมาตลอดเส้นทาง

 

 

 

อีกสิบปีให้หลัง คงไม่มีใครสนใจเรื่องราวของเมืองไล อดีตของดินแดนและผู้คนในที่แห่งนี้คงถูกลบเลือนไปอีกมาก ผมจำต้องกล่าวอำลาเมืองไลอันเกรียงไกร แต่ผมก็ตั้งใจว่าจะกลับมาเยี่ยมเยียนทำความเข้าใจผู้คนที่ได้พบปะในการเดินทางครั้งนี้อีกอย่างแน่นอน

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง