Skip to main content

ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน

มื้อแรกที่เมืองมุน เพื่อนชาวไตเมืองมุนเลี้ยงรับรองด้วยข้าวปลาอาหารอย่างดี ทั้งหน่อไม้ประจำฤดู ทั้งแกงหน่อไม้กับหัวปลา ทั้งปลาไหลนึ่ง และอาหารแปลก ๆ สำหรับบางคน เช่น แมลงทอด และเหล้า “มายหะ” อันเข้มข้นร้อนแรงจุดไฟติดของเมืองมุน แต่วงข้าวก็จบลงอย่างลงตัวราวเกือบห้าทุ่ม เมื่อครอบครัวของเจ้าเรือนทยอยลุกกันไปก่อน แล้วเมื่อเหลือเพียงเจ้าเรือนกับแขกที่สนิทกันเพียงสองคน การจบก็ง่ายเข้า

มื้อหนักหนาอีกมื้อคือที่เมืองลา มื้อนี้มีผมเพียงลำพังที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากพี่ ๆ ชาวเมืองลาที่คุ้นเคย วงข้าวถูกตระเตรียมอย่างกระทันหันเพราะผมไม่ได้บอกกล่าวใครมาก่อนว่าจะโผล่มาที่เมืองลา เมื่อเดินไปหาพี่สอยตอนสาย ๆ พอเธอชวนกินข้าว ผมตอบรับแทบจะทันที ผมยังไม่ลืมพูดว่า “จะเฮ็ดทุกข์ใจให้พี่เปล่า ๆ นะ” เป็นมารยาทในการบอกกล่าวว่าเกรงใจ แต่ในใจก็รู้ว่า แน่นอนว่าพี่สอยจะต้องทำให้กินแน่นอนและในใจก็อยากกินข้าวกับพี่ ๆ เหมือนเมื่อก่อนที่เคยมาเยี่ยมเยียนกันเสมอ ๆ

หลังจากผมไปเดินเล่น ไปพบปะพี่น้องเรือนใกล้เคียงเรือนพี่สอย กลับมาอีกทีอาหารก็ถูกจัดมาเต็มโต๊ะ พี่สอยระดมลูกสะใภ้กับลูกสาวมาทำกับข้าวพื้นเมืองอย่างรวดเร็ว อาหารมื้อนี้มีของกินพิเศษอย่างหนังควายดอง “มะต่าง” ใช้จิ้ม “มะถั่วเน่า” และแน่นอนว่าต้องมีเหล้ากินกันไปคุยกันไป มื้อนี้จบลงอย่างง่ายดายเพราะเป็นมื้อกลางวันในวันธรรมดา ทุกคนยังมีการงานต้องทำ ผมเองก็มีโอกาสปลีกตัวไปพัก แต่ก็ยอมรับว่ามื้อนั้นพวกพี่ ๆ ชวนดื่มอย่างหนักหนาจริง ๆ จนต้องหาที่นอนกลางวันที่เรือนพี่อีกคนหนึ่ง

หลังจากนั้นก็มีมื้อที่ถูกเชิญอย่างประหลาด คนขับรถชื่อเหี่ยน ผมเรียกพี่เหี่ยน บอกว่าเพื่อนของเขาอยากเชิญพวกเราไปร่วมงานวันเกิดของเมียเขา พวกเรางุนงงเล็กน้อย ผมเองเกรงว่าจะเป็นมื้ออาหารที่ต้องกินเหล้าหนัก หรือจะเป็นมื้อที่เอิกเริก จึงลังเลอยู่นานว่าจะตอบอย่างไรดี แต่ในที่สุดเพื่อนร่วมทางตกลงใจว่า ไปก็ไป สุดท้ายกลับกลายเป็นมื้อที่ประทับใจในมิตรภาพของคนท้องถิ่น

มื้อนี้เจ้าเรือนชื่ออึ๋งเป็นคนเวียดที่แต่งงานกับถิ่นชาวไตขาวจากเมืองไล ทั้งคู่พบรักกันที่ฮานอย แล้วกลับมาใช้ชีวิตกันที่เมืองแถง ทั้งคู่เพิ่งแยกเรือนจากพ่อแม่ เพิ่งมีลูกคนเดียว น้องอึ๋งคนสามีเป็นวิศวกรก่อสร้าง น้องถิ่นคนภรรยาเป็นครูโรงเรียนอนุบาลเอกชน แขกเหรื่อในงานไม่มีใครมาก มีแต่เพื่อนครูของน้องถิ่นมากัน 4-5 คน อาหารก็เป็นอาหารง่าย ๆ คือหม้อไฟ ที่มีผักท้องถิ่น เส้นก๋วยเตี๋ยวกับเส้นขนมจีน และเนื้อสดหลายชนิด อย่างเป็ดเทศ เนื้อวัว ไข่ข้าว กับเต้าหู้

เหล้าเรือนนี้ไม่แรง เจ้าเรือนทั้งผัวและเมียช่างคุย ถิ่นกับเพื่อนทั้งคนไตขาวและไตดำสนใจแลกเปลี่ยนเรื่องภาษากับเพื่อนร่วมทางชาวไทยของผม ผมก็คุยไปบ้าง แปลไปบ้าง เพื่อนร่วมทางผมสนใจสอบถามชีวิตประจำวันกับชีวิตความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของพวกน้อง ๆ ส่วนเพื่อนชาวเวียดของน้องถิ่นก็สนใจเรื่องเมืองไทย กินกันไป คุยกันไป ดื่มกันไปพอสมควรก็ขอลากลับหลังจากเพื่อน ๆ ถิ่นเองเริ่มกลับบ้างแล้ว

หลังจากนั้นอีกหลายมื้อ พวกเรากินข้าวกันเองตลอด จนกระทั่งถึงมื้อที่น่าจะเป็นประสบการณ์ที่หนักหน่วงของเพื่อนร่วมทางผมคือมื้อเย็นวาน ผมไปเยี่ยมพ่อเบี๋ยน ชาวไตดำเมืองลอ (Nghĩa Lộ) ผมรู้จักกับแกมานานเกินสิบปีแล้ว จากการแนะนำของเพื่อนนักมานุษยวิทยาชาวญี่ปุ่น พ่อเบี๋ยนเมื่อสิบปีก่อนอายุ 70 เศษ มาปีนี้ก็ 84 แกไว้ผมยาว รูปร่างเพรียวแต่ไม่ถึงกับผอม เป็นคนสนุกสนาน พูดจาฉลาดหลักแหลม แต่ชอบล้อผู้คน พูดติดตลกตลอดเวลา

 

 

แม่ปองกับพ่อเบี๋ยน

 

พ่อเบี๋ยนเป็นกวี เป็นนักเขียน เป็นนักอนุรักษ์วัฒนธรรม ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมไตให้เป็นที่รู้จักระดับจังหวัด ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เมื่อไม่ได้เจอกันนานร่วมสิบปี พ่อเบี๋ยนชวนกินข้าวเย็น ผมก็ยากที่จะปฏิเสธ ห่วงแต่ว่าเพื่อนร่วมทางจะไหวหรือเปล่า แต่หากเพื่อนร่วมทางไม่กินด้วย ก็คงเสียมารยาท สุดท้ายผมก็ตอบรับ ทางเจ้าเรือนก็ไม่ใช่ว่าจะสะดวกง่ายดายนัก เพราะพ่อเบี๋ยนอยู่กับแม่ปองแค่สองคน จึงต้องระดมแรงงานมาทำครัวกันยกใหญ่ ทั้งลูกเลี้ยง ลูกสะใภ้ หลานสาว

 

 

พ่อเบี๋ยนกระโดดลงไปจับเป็ดในหนองส่งให้หลานสาว แล้วไปจับไก่ในคอก แม่ปองไปเก็บผักในแปลงผัก ข้าวเหนียวนึ่งไม่ทันก็หุงด้วยหม้อไฟฟ้า ทั้งหมดนั้นใช้เวลาเกือบชั่วโมงกับแรงงานถึง 4-5 คน ระหว่างที่สำรับอาหารยกมา พ่อเบี๋ยนก็เตรียมรินเหล้าใส่ขวดกับเหยือกน้ำ เพื่อมารินทีละจอกในวงเหล้า อาหารมื้อนี้เป็นมื้อฉุกละหุก ทำให้ผมนึกถึงอาหารมื้อแบบนี้ในหมู่บ้านชาวไตเมื่อหลายปีก่อน ที่ไม่ต่างจากมื้อนี้เลย คืออุดมด้วยเนื้อสัตว์ที่ทำให้สุกด้วยการผัด การต้มอย่างง่าย ๆ แล้วมีผักสด หน่อไม้ลวก “ผักชุบ” กับเครื่องจิ้มที่ทำให้อาหารมื้อนี้เป็นอาหารไต อย่าง “ปามั่ม” เป็นปลาร้าปลาตัวเล็ก ๆ กับเครื่องจิ้มอีกถ้วยคือมะถั่วเน่า

อาหารมื้อที่กินกับพ่อเบี๋ยน

พ่อเบี๋ยนอธิบายว่า จอกเหล้าสองจอกที่วางไว้โดยไม่มีใครต้องดื่มนั้น จอกหนึ่งเป็นของแขก คือผมซึ่งนั่งข้างแก เป็นตัวแทนแขกทุกคน อีกจอกเป็นของเจ้าเรือน คือตัวแกที่เป็นตัวแทนคนทั้งเรือน สองจอกนี้เป็นเครื่องไหว้ผีเรือนไปในตัว ใกล้สองจอกมีพริกสดกับเกลือ เป็นการเชื้อเชิญแขก กับหัวและตีนไก่
วงเหล้านี้ดำเนินไปสักชั่วโมงหนึ่งได้ ผมต้องดื่มตามจังหวะของการเชิญแขก การกล่าวอวยพร การกล่าวทักทายทั้งส่วนตัวและทั้งวงไปร่วมสิบกว่าจอก เมื่อนั่งสักพัก ผมเริ่มคิดหาวิธีว่าจะจบอย่างไร จบอย่างไรไม่ให้เสียน้ำใจเจ้าเรือน เพราะทางฝั่งเจ้าเรือนยังไม่มีใครขยับลุกจากที่นั่งเลยสักคน จบอย่างไรให้เจ้าเรือนประทับใจ จบอย่างไรให้เพื่อนร่วมทางไม่เสียหน้าและไม่เหน็ดเหนื่อยเกินไปนัก
ผมเริ่มด้วยการบอกว่า “แจนเหล้านี้ขออวยพรเจ้าเรือน” คือพ่อเบี๋ยนกับแม่ปองที่นั่งข้าง ๆ ผม ผ่านไปจอกหนึ่งแล้ว ผมบอกว่า “แจนเหล้านี้ขออวยพรพี่ชายทั้งสอง” คือลูกชายกับลูกเลี้ยงพ่อเบี๋ยน สุดท้าย “แจนนี้ขออวยพรทั้งเรือนนี้ และขออนุญาตลากลับก่อน เพราะต้องเดินทางไกลไปหาที่พักอีกเมืองหนึ่ง” ผมจำไม่ได้แล้วว่าพูดอะไรไปอีกบ้าง ทั้งภาษาเวียด ภาษาไตดำ ปนเปกัน แต่ได้ผลดี เราทั้งหมดลุกพร้อมกันหลังจากผมกับพ่อเบี๋ยนและพวกผู้ชายในวงดื่มหมดจอก
เพื่อนร่วมทางนักประวัติศาสตร์เอ่ยขึ้นมาบนรถหลังจากพวกเราร่ำลาจากวงข้าววงเหล้าแล้วว่า "ดีฉิบหายที่ผมไม่เลือกเป็นนักมานุษยวิทยา” เมื่อหลายวันก่อนระหว่างอาหารมื้อแรกกับเพื่อนชาวไต เพื่อนร่วมทางคนเดียวกันนี้เคยผมบอกว่า “ผมเคยอยากเรียนมานุษยวิทยา แต่รู้ตัวว่าเรียนไม่ได้เพราะต้องไปกินอะไรแปลก ๆ ไปนอนในที่ต่างถิ่นนี่แหละ ผมไม่ไหวแน่เลยเลือกเรียนประวัติศาสตร์”

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"