Skip to main content

จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง

เมื่อออกจากเมืองซอแล้วผ่านมายังที่ตั้งตัวจังหวัดลายเจิวแห่งใหม่ ผมแทบจำไม่ได้ว่าเมืองลายเจิวใหม่เป็นอย่างไร เพราะถนนขนาดใหญ่สายใหม่ที่ตัดผ่านด้านหลังของเมืองเป็นถนนเลี่ยงเมืองนั้น ตัดผ่านหลังหมู่บ้านที่เคยมาอาศัยนอนและอาศัยอาหารกินในยามจำเป็นที่ผ่านมาแล้วหาที่พักไม่ได้ ในครั้งนั้นเมื่อสัก 12 ปีก่อน ยังแถมได้พบนักวิชาการท้องถิ่นกับได้ไปสังเกตการณ์พิธีศพ มาปีนี้ไม่มีโอกาสได้แวะเยี่ยมเยียนพวกเขา

เมื่อออกจากตัวจังหวัดลายเจิวใหม่ ผมจำได้ว่าจะต้องถึงตาม เดื่อง (Tam Đường) ซึ่งเป็นบริเวณที่ชาวเย้าอาศัยอยู่ ผมเที่ยวจดจ้องมองหามุมงาม ๆ ของถนนคดเคี้ยวที่เคยลงไปถ่ายรูป แต่มองหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ เพราะถนนใหม่ตัดจากอีกทางหนึ่ง ก็เลยอดทบทวนมุมที่ชื่นชอบไปหนึ่งมุม แต่ระหว่างทางจากนั้น เมื่อผ่านมาแล้วก็ให้รู้สึกเสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้จอดรถทักทายชาวเย้าที่นั่งอยู่ริมทาง แต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งคือ ชาวเย้ามานั่งขายของริมถนนน้อยลง และที่นาชาวเย้าแถวนั้นก็ดูรกร้าง อาจจะเพราะผลกระทบจากความหนาวเย็นของฤดูหนาวปีที่ผ่านมา ที่คงหนาวและแล้งจนทำให้ต้องรอเวลานานกว่าพื้นดินและแหล่งน้ำจะฟื้นฟู

ผ่านตามเดื่องมาอย่างรวดเร็ว ผมมองหาตลาดที่เคยพบเห็นชาวลื้อจำนวนมากเดินไปมาจับจ่ายซื้อของ เมื่อพบว่าเส้นทางเปลี่ยนมาอยู่หลังตลาดอีกแล้ว ผมก็เริ่มกังวลใจ ให้คนขับรถถามหาตลาดเก่า พบว่าเราเพิ่งเลยมาแต่เป็นเส้นทางด้านใน เมื่อวกกลับไปก็ไม่เจอชาวลื้อสักคน ก็เลยถามชาวเวียดแถวตลาดว่าเข้าไปบ้านชาวลื้อไปอย่างไร ผมสังเกตเห็นอย่างหนึ่งว่า ชาวเวียดแถบนี้ดูต้อนรับขับสู้นักท่องเที่ยวมากขึ้น เปิดเผยพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น

วกไปวนมาสักพักก็เจอกับชาวลื้อและหมู่บ้านลื้อเข้าจนได้ แถมยังได้ทักทายพูดคุยกับพวกเขา เพื่อนร่วมทางผมซึ่งเป็นชาวเชียงใหม่พบว่าภาษาลื้อสื่อสารกับภาษาเชียงใหม่ด้วยคำศัพท์ได้ค่อนข้างดีแต่เสียงวรรณยุกต์ต่างกัน ส่วนผมพบว่าภาษาไตดำต่างจากภาษาลื้อที่คำศัพท์ แต่เสียงวรรณยุกต์คล้ายกัน อย่างไรเสีย ก็ช่วยให้สบายใจขึ้นบ้างว่าชาวลื้อยังคงอยู่ที่บ้านชาวลื้อย่านบิ่งญ์ ลือ (Bình Lư) ดังเดิม เพียงแต่ผมอาจมาถึงถิ่นเขาในเวลาที่เขาไม่ได้มาปรากฏตัวในตลาด อย่างไรก็ตาม พวกเขาแต่งตัวเปลี่ยนไปบ้างเช่นกัน

จากนั้นผมก็แค่ลุ้นว่า ก่อนเข้าเมืองถาน จะมองเห็นภูสามเส้าหรือเปล่า แต่แล้วก็ต้องตกใจอีกครั้งเมื่อถนนตัดใหม่พารถขึ้นมาอยู่เหนือภูสามเส้า ส่วนหมู่บ้านด้านล่าง มีการยักย้ายเปลี่ยนที่ทาง การจัดสรรพื้นที่เกิดขึ้นพร้อมกับโรงแปลงไฟฟ้าขนาดย่อม

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมไม่ทันได้ไปสำรวจตลาดเมืองถาน เพราะสาละวนอยู่กับการเขียนบันทึกของวันก่อนหน้า แล้วก็ต้องรีบมาหาของกิน ก่อนออกเดินทางต่อไป ความจริงเมื่อคืนก่อนนอน แทนที่ผมจะใช้เวลาเขียน แต่ก็กลับหมดเวาส่วนหนึ่งไปกับการดื่มเบียร์ แต่นั่นก็ดีเหมือนกันเพราะทำให้ได้พูดคุยกับลูกจ้างของร้านอาหารของโรงแรมที่ก็อยากรู้เรื่องราวของพวกเราเช่นกัน ทำให้ได้เรียนรู้ชีวิตส่วนหนึ่งของพวกเด็ก ๆ ที่มารับจ้าง ส่วนหนึ่งมาจากต่างเมือง และส่วนหนึ่งก็เป็นเด็กชาวไตทั้งจากต่างถิ่นและจากในเมืองถานเอง

เด็กคนหนึ่งเล่าว่า ระยะทางที่ผมจะไปข้างหน้าจะได้เจอเขื่อนอีกหลายแห่ง เมื่อหัวค่ำ ก็มีคนขับรถบรรทุกวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่มาพักกินข้าว ถามคนรถดูเขาบอกว่าขนวัสดุก่อสร้างเขื่อน กำลังจะขึ้นไปห่า ซาง (Hà Giang) จังหวัดชายแดนเวียดนาม-จีนทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผมแปลกใจที่รถขนวัสดุก่อสร้างวิ่งขึ้นมาทางนี้ เพราะเขาจะต้องไปผ่านเมืองซาปา (Sa Pa) ผมสงสัยว่าทำไมเขาไม่ขึ้นจากฮานอยแล้วเลียบสำน้ำโลขนานน้ำแดงขึ้นไปห่าซาง หรือเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่ได้มาจากฮานอย แต่ก็ทำให้ได้รู้ว่า กำลังมีการสร้างเขื่อนในจังหวัดห่าซางเช่นกัน

เรื่องราวของการสร้างเขื่อนจึงกลายเป็นประสบการณ์ใหม่บนเส้นทางนี้ของผม ผมจำได้ว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อน เมื่อผ่านมาเส้นนี้เป็นครั้งแรก ถนนเลวร้ายมาก หลายแห่งกำลังสร้าง ทำให้รถต้องหยุดรอเป็นชั่วโมงหลายครั้ง เมื่อผ่านมาอีกครั้งก็รู้สึกว่าหมอกจะลงหนา มองแทบไม่เห็นอะไร เพราะหมู่กังจ่ายสูงมาก ฤดูหนาวจะหนาวและหมอกจัดไม่แพ้ซาปา มีเพียงครั้งเดียวที่ผ่านแล้วประทับใจกับเส้นทางนี้เป็นเดือนที่ฟ้าเปิดยิ่งกว่าที่มาคราวนี้เสียอีก คราวนั้นเมื่อได้เห็นนาขั้นบันไดอย่างเต็มตาแล้วก็คิดว่า จะต้องกลับมาเห็นอีกให้ได้

เช้าวันต่อมา ผมตระเตรียมเวลาเพื่อว่าจะให้พอดีกับการผ่านเส้นทางแสนงดงามนี้ แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น คือแทนที่จะตื่นตะลึงกับนาขั้นบันได ผมกลับต้องตื่นตะลึงกับ “เขื่อนขั้นบันได” แทน ระหว่างทางเลียบถนนจากเมืองถานขึ้นไปหมู่กังจ่ายจนเลยหมู่กังจ่ายไปสัก 10 กิโลเมตร มีเขื่อนผลิตไฟฟ้ากั้นลำห้วยเป็นระยะ ๆ ถึง 6 เขื่อนด้วยกัน แรกทีเดียวผมสังเกตเห็นว่าน้ำลดลงเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ออกจากเมืองถาน จนเมื่อมาพบกับเขื่อนแรกที่เมืองกิม

จากนั้นเมื่อรถไต่ระดับขึ้นไปสูงอีก ก็พบว่าน้ำค่อย ๆ แห้งลงอีกช่วงหนึ่ง แล้วเราก็พบกับเขื่อนอีกแห่ง จากนั้นเป็นต้นไป สมาชิกที่ร่วมเดินทางมาก็ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีน้ำลดระดับอีกก็คงจะมีเขื่อนอีก แล้วเมื่อรถวิ่งไปอีกราว 20 กิโลเมตร น้ำก็เริ่มแห้งลง ๆ แล้วก็พบกับเขื่อนแห่งที่สาม ถึงตอนนั้นผมเริ่มหวั่นใจแล้วว่า นาขั้นบันไดกำลังจะถูกแทนที่ด้วยเขื่อนที่สร้างในระดับที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ของลำน้ำ

 

เขื่อนเว้นช่วงไปอีกไกลทีเดียว ปล่อยให้พื้นที่นาขั้นบันไดที่ยังคงความงามเหนือจริงรักษาตัวรอดมาได้อีกระยะหนึ่ง พวกเราหยุดที่หนึ่งที่ผมเองเผอิญมองลอดบ้านเรือนริมทางผ่านไปยังนาขั้นบันไดในพื้นที่ขนาดใหญ่ทอดตัวจากถนนพาดผ่านไหล่เขาทั้งลูกลงไปยังลำธารด้านล่าง พวกเราถือวิสาสะเดินผ่านเรือนชาวม้งเข้าไปชื่นชมความงาม

 

 

ผมทักชาวม้งคนหนึ่งที่กำลังทำงานอยู่ด้วยภาษาเวียดแปลว่า “นาสวยมากเลยครับ” เพื่อนบ้านของเรือนที่พวกเราถือวิสาสะเข้าไปขอพื้นที่ชมนาตอบกลับมาว่า “สวยแน่นอนอยู่แล้ว” พี่เหี่ยนคนขับรถบอกผมว่า “คุณนี่ช่างรู้จริง ๆ ว่าอะไรดี ๆ ของเวียดนามอยู่ที่ไหน ผมเองคนเวียดแท้ ๆ ยังไม่รู้เลย” แล้วพี่เหี่ยนก็ระดมถ่ายภาพด้วยกล้องของแก แกกลายเป็นนักท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กับพวกเรา

 

จากนั้นผม ผมเริ่มระแวงว่านาขั้นบันไดตรงเหลี่ยมมุมที่ผมเคยเห็นจะยังอยู่หรือเปล่า หรือถูกเขื่อนขั้นบันไดลบเลือนไปหมดแล้ว ในบริเวณน้ำเหนือเขื่อนที่ผ่านมา ผมเห็นร่องรอยของนาขั้นบันไดที่ถูกน้ำท่วม ที่นาหลายแห่งในที่สุ่มก็เหมือนเคยถูกน้ำท่วมแล้วขณะนี้ถูกทิ้งร้างไป จากนั้นก่อนเข้าเมืองเล็กน้อย เราพบกับเขื่อนแห่งที่สี่ แล้วหลังจากเขตเมือง ก็มีเขื่อนอีกเขื่อนเป็นเขื่อนที่ห้า ซึ่งมีอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเขื่อนทั้งหมดที่เพิ่งผ่านมา เขื่อนแห่งที่ห้านี้ทำให้กริ่งเกรงใจที่สุดว่า นาขั้นบันไดจะหายไปเกือบหมดในที่สุดหรือไม่

 

เมื่อพ้นจากเขื่อนที่ห้านี้ น้ำก็ค่อย ๆ แห้งอีกจนพบว่ากำลังมีการก่อสร้างเขื่อนอีกแห่งเป็นจุดที่หก แต่จากนั้นก็ยังได้เห็นนาขั้นบันไดที่เคยเห็นอีกช่วงเป็นช่วงสุดท้ายก่อนที่เส้นทางจะไต่ระดับขึ้นสูงจนกลายเป็นพื้นที่ของสนสามใบและมองไม่เห็นลำห้วยอีกต่อไป

 

 

ว่ากันว่าเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเป็นพลังงานที่ถูกที่สุด แล้วถ้าไม่มีเขื่อน ก็ไม่มีไฟฟ้าพอสำหรับการลงทุน แต่เขื่อนที่กั้นลำน้ำในหุบเขาที่คนยากจนจำนวนหนึ่งอาศัยทำกินอยู่นี้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่ ผมก็ไม่รู้คำตอบ คำถามหนึ่งที่เพื่อนร่วมทางตั้งอย่างน่าสนใจคือ เขื่อนเหล่านี้ใครเป็นคนลงทุน ถ้าที่คนขับรถรู้มาไม่ผิด คำตอบที่ได้จากพี่เหี่ยนคือเขื่อนเหล่านี้ลงทุนโดยเอกชน แล้วส่งกระแสไฟให้รัฐจัดการ อย่างน้อยเท่าที่เราเห็น เพื่อนร่วมทางตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นวิธีจัดการที่แตกต่างคนละขั้วกับการผูกขาดการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย นอกจากนั้นบ้านเรือนบริเวณเขื่อนก็มีกระแสไฟฟ้าใช้ ไม่เหมือนประเทศไทยที่เคยมีบ้านเรือนบริเวณเขื่อนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้

 

เขื่อนที่ห้าบนเส้นทางจากเมืองถานถึงหมู่กังจ่าย

 

ผมเก็บคำถามและข้อสงสัยเหล่านั้นมาเป็นการบ้านที่ต้องศึกษาเรื่องนโยบายและการจัดการพลังงานในประเทศเวียดนามเพิ่มเติม และก็ได้รู้เห็นกับตา พร้อมมองผ่านไปในอดีตว่า เส้นทางนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงอย่างไร

 

ผมเคยคิดว่า รัฐบาลเวียดนามไม่น่าลงทุนสร้างเส้นทางนี้เลย เพื่อว่าความทุรกันดารจะได้เก็บธรรมชาติ ผู้คนและวิถีชีวิตแบบนี้ไว้ แล้วยังเคยหวังว่า รัฐบาลเวียดนามคงสร้างเส้นทางนี้ให้กลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อยกระดับเส้นทางนี้เป็นมรดกของชาติและมรดกโลกต่อไป ความคิดเพ้อฝันของผมมันไร้สาระจริง ๆ เมื่อได้มาเห็นว่า เขาพัฒนาเส้นทางนี้เพื่อนำไปสู่การสร้างเขื่อนลดหลั่นเป็นขั้นบันได การก่อสร้างขนาดใหญ่นี้ต้องการเส้นทางคมนาคมที่ดี

 

 

เมื่อเข้าใจดังนี้และมองย้อนกลับไปยังเส้นทางเลียบลำน้ำหนาก่อนเข้าเมืองซอแล้ว ผมก็เริ่มนึกขึ้นมาได้ทันทีว่า ยังมีถนนเลียบล้ำนำ้ในหุบเขาภาคเหนืออีกจำนวนมากในเส้นทางที่ผมเคยเดินทางไป ขณะนี้ลำน้ำเหล่านั้นคงกำลังแบกรับเขื่อนอยู่เช่นเดียวกันกับลำน้ำในหุมเขาภาคตะวันตกเฉียงเหนืออย่างแน่นอน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้