Skip to main content

วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต

 

 

เส้นทางเข้าฮานอยจากเอียนบ๋ายต้องผ่านเมืองสำคัญชื่อ เหวียด จี่ (Việt Trì) เมืองนี้เป็นที่บรรจบกันของแม่น้ำใหญ่สามสายในภาคเหนือของเวียดนาม คือแม่น้ำโล แม่น้ำแดง และแม่น้ำดำ เท่าที่ผมจะรู้ได้ขณะนี้ บริเวณนี้เป็นดินแดนที่ทั้งคนไตและคนเวียดเชื่อว่าคือแหล่งกำเนิดของชนชาติตน

ตำนานของชาวไตดำบันทึกไว้ใน "เล่าความเมือง" ซึ่งปรากฏในพงศาวดารล้านช้างเช่นกันว่า

ก่เป็นดินเป็นหญ้า ก่เป็นฟ้าเท่าถวงเห็ด

ก่เป็นดินเจ็ดก้อน ก่เป็นหินสามเส้า

น้ำเก้าแคว ปากแต๊ตาว

คนถอดภาษาจากตำนานนี้เป็นภาษาไทยสยามคงไม่เข้าใจว่า ่ หมายถึง ่อ ไม่ใช่ ก็ แต่ก็ช่างเถอะ คนสยามสักกี่คนกันที่จะใส่ใจอะไรนักหนาเกี่ยวกับอักษรและภาษาของคนสิบสองจุไท แค่อยากเหมาเอาดินแดนแถบนี้เป็นดินแดนของสยามก็พอแล้ว

"ปากแต๊ตาว" ก็คือที่บรรจบกันของแม่น้ำดำ ที่คนไตเรียกว่าน้ำแต๊ และแม่น้ำแดง ที่คนไตเรียกว่าน้ำตาว ณ จุดนี้บันทึก "เล่าความเมือง" ของไตดำเขียนไว้ว่า แถนให้ท้าวสวงท้าวเงินจากเมืองโอมเมืองอาย นำน้ำเต้าปุงมาแล้วจ่ายไปยังที่ต่าง ๆ จากนั้นผู้คนและสัตว์ก็หลั่งไหลกันออกมาจากน้ำเต้า แล้วคนไตก็ตั้งบ้านเมืองแห่งแรกที่เมืองลอ ห่างจาก "ปากแต๊ตาว" ไปสัก 70 กิโลเมตร

 

 

ส่วนคนเวียด บริเวณนี้มีตำนาน หลาก ลองม์ เควิน และ เอิว เกอ (Lạc Long Quân và Âu Cơ) คือเทพมังกรทะเลและเทพีแห่งภูเขา หลากลองม์เควินเป็นลูกชายของกษัตริย์หุ่งม์ (Hùng Vương ที่คนเวียดเชื่อว่าเป็น "ปฐมกษัตริย์" ของเวียดนามตั้งแต่เกือบ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล) ทั้งสองพบรักและมีลูกด้วยกันเป็นไข่ร้อยฟอง แล้วไข่ก็แตกออกมาเป็นเด็ก ภายหลังทั้งคู่อยู่ด้วยกันไม่ได้เพราะธรรมชาติต่างกัน จึงแยกทางกัน เด็ก 50 คนอยู่ที่สูง อีก 50 คนตามพ่อมาอาศัยบนที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง ตำนานกษัตริย์หุ่งม์และเรื่องไข่ร้อยฟองนำมาสู่การสร้างศาลบูชากษัตริย์หุ่งม์ ณ บริเวณแห่งนี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 10

 

 

ผมเพิ่งเคยมาที่นี่เป็นครั้งแรก เดิมทีคิดว่าเป็นเพียงศาลขนาดใหญ่สักแห่ง แต่ที่จริงเป็นกลุ่มศาลเจ้าขนาดใหญ่กระจายตัวบนเนินเขาที่ต้องใช้เวลาสัก 3-4 ชั่วโมงจึงจะเดินทางไปได้ทั่ว นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมข้อมูลและจัดแสดงโบราณวัตถุต่างยุคที่ขุดพบในบริเวณนี้จำนวนมาก ทั้งหมดช่วยให้เข้าใจเวียดนามเหนือก่อนอิทธิพลจีนได้มากทีเดียว

 

 

ตามบันทึกของเวียดนาม กษัตริย์ตระกูลหุ่มครองเวียดนามเหนือมาจนถึงราว 250 ปีก่อนคริสตกาล จากนั้นมีกษัตริย์ อาน เซือง เวือง (An Dương Vương) ที่โค่นอำนาจพวกหุ่งม์แล้วตั้งเมืองที่มีศูนย์กลางขนาดใหญ่พอสมควรอยู่ทางตะวันตกของฮานอยในอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำแดง บริเวณนี้เรียกว่า โก่ ลวา (Cổ Lao) เมืองโบราณที่นับกันว่าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกยุคเดียวกัน อานเซืองเวืองครองอำนาจระยะสั้นเพียงไม่ถึงร้อยปีแล้วอิทธิพลจีนก็เริ่มเข้าครอบงำเวียดนามมาจนอีกกว่า 1,000 ปีเวียดนามจึงเป็นอิสระจากอำนาจจีนอย่างชัดเจนในศตวรรษที่ 11

 

ผมไม่เคยไปโก่ลวามาก่อน เมื่อวาน (19 มีนาคม) จึงถือโอกาสเดินทางไป การเดินทางเดี๋ยวนี้สะดวก มีรถเมล์จากฮานอยต่อเดียวถึงปากทางเข้าโก่ลวาเลย เดินจากป้ายรถอีกสัก 200 เมตรก็ถึงที่

 

 

ปัจจุบันที่นี่เป็นศาลเจ้าอีกนั่นแหละ เป็นศาลบูชาอานเซืองเวือง ปากทางเข้ามีพิพิธภัณฑ์ขนาดพอสมควร แสดงหลักฐานโบราณคดีเกี่ยวกับที่นี่ ก็ช่วยให้เข้าใจอะไรได้พอสมควร โก่ลวามีคันดินและคูน้ำหลายชั้น ที่จริงถนนที่ชื่อเดียวกับสถานที่นี้เองก็เป็นคันดินชั้นหนึ่งของเมืองนี้ แต่เมื่อดูลักษณะการตั้งเมืองแล้ว ก็ทำให้ผมคิดถึงเมืองในลักษณะและอายุเดียวกันในภาคอีสานของไทย หากแต่เมืองนี้มีคันดินที่ซ้อน ๆ กันหลายอัน

 

 

การได้ไปเยือนพื้นที่เมืองโบราณทั้งสองแห่งช่วยให้ผมปะติดปะต่อเรื่องราวได้อีกมากมาย

ข้อหนึ่งคือ เวียดนามก่อนอิทธิพลจีนแสดงตัวชัดเจนในพื้นที่ทั้งสอง ที่น่าสนใจคือ คนเวียดเองมีสำนึกประวัคิศาสตร์ว่ากลุ่มตนอาศัยในที่ลุ่มแม่น้ำแดงอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีมรดกความทรงจำจากทางเหนือขึ้นไปเลย ความทรงจำนี้แตกต่างจากชาวไต ไม่ว่าจะพวกไตดำ ไตขาว หรือ "ไตแดง" ที่ต่างก็สำนึกถึงการเดินทางลงใต้จากตอนใต้ของจีนอย่างชัดเจน เข่น ตำนานไตดำเล่าว่าท้าวสวงท้าวเงินลูกแถนนำน้ำเต้าลงมายังโลก แล้วเดินทางมาจากทางตอนใต้ของจีนจนมาทิ้งน้ำเต้าไว้ที่ปากแต๊ตาวและเมืองลอ ส่วนไตขาวก็มักเล่าว่าบรรพบุรุษมีถิ่นฐานอยู่ในเมืองจีน พวกไตแดงที่เมืองมุนก็เล่าว่าพี่น้องสามคนเดินทางจากชายแดนจีน-เวียดนามมาสร้างบ้านเมืองที่เมืองสาง เมืองมุน และเมืองคอง

ข้อต่อมา การที่พื้นที่นี้เป็นตำนานร่วมกันของคนอย่างน้อยสองกลุ่มคือพวกเวียดกับพวกไตนั้น สอดคล้องกับข้อเสนอของนักภาษาศาสตร์ที่ ส่วนหลักฐานทางโบราณคดีนั่น อันที่จริงก็บอกไม่ได้ว่าคนที่อยู่ที่นี่เดิมมีสำนึกชาติพันธ์ุอย่างไร เป็นคนกลุ่มไหน แต่จากหลักฐานทางภาษา บันทึกโบราณที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน และชื่อสถานที่บริเวณนี้ชี้ว่า ภาษาที่ใช้ในบริเวณนี้มีทั้งตระกูลไต ตระกูลจีน และตระกูลออสโตรเอเชียติก จึงน่าเชื่อว่า ทั้งกษัตริย์หุ่งม์และอานเซืองเวืองอาจเป็นได้ทั้งเวียด ไต และคนกลุ่มอื่น

ทั้งสองข้อนั้นช่วยเสริมประวัติศาสตร์ชาตินิยมเวียดนามได้เป็นอย่างดีด้วย นั่นคือการที่คนหลายกลุ่มมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน ทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์ทางการของเวียดนามสามารถรวบเอาชนกลุ่มต่าง ๆ มาร่วมอดีตและพื้นที่กันได้ ส่วนการที่เวียดนามมีบ้านเมืองอยู่ก่อนการเข้ามาของอิทธิพลจีนอย่างแน่นหนา ทำให้เวียดนามปกป้องและมีส่วนร่วมกับความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าจีน ตำนานไข่ร้อยฟองที่ส่งต่อมาจากอดีตที่หาต้นตอไม่เจอจึงยังคงทรงพลังสืบเนื่องมาจนถึงสมัยของการสร้างชาติในทุกวันนี้

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้