Skip to main content

ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย

สรุปคือมาเที่ยวนี้มีสองเรื่องที่ต้องทำ

 

เรื่องแรก มาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ โดยนำเอามุมมองทั้งทางการแพทย์ ทางสังคม และทางมานุษยวิทยามาแลกเปลี่ยนกัน เขาเน้นคำว่ามานุษยวิทยากันหลายครั้ง ผมก็เลยเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องให้เขารู้จักว่า มานุษยวิทยาเขาทำอะไรกันกับเรื่องอาหาร

 

เรื่องที่สอง มาเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องวรรณกรรมคนไทดำในประเทศไทย ที่เรียกกันว่า "ลาวโซ่ง" ที่จังหวัดเพชรบุรีและนครปฐม

 

ขอเล่าเรื่องแรกก่อน

 

การประชุมจัดขึ้นด้วยทุนของกองทุนขนาดใหญ่อายุร้อยกว่าปีของอังกฤษ เป็นการร่วมมือกันระหว่างสองมหาวิทยาลัยสำคัญของอังกฤษ กับมหาวิทยาลัยไทยแห่งหนึ่ง ที่สนุกยิ่งไปกว่านั้นคือ เป็นการแลกเปลี่ยนกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คือพวกแพทย์ กับนักสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

 

การประชุมมีสองวันครึ่ง วันแรก ฝ่ายหมอและนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เสนองานวิจัยให้เห็นปัญหา 10% ของคนติดพยาธิในตับเป็นมะเร็จถุงน้ำดี ที่ถ้ารู้ช้า รักษาไม่ทันก็จะตาย ถ้ารู้เร็ว รักษาทัน ก็มีโอกาสรอดสูง  

 

ที่น่าตกใจคือ ประเทศไทยมีคนที่ตายจากโรคนี้มากที่สุดในโลก ตายปีละเป็นหมื่นคน และพื้นที่ที่พบคืออีสานกลางค่อนลงมาทางใต้ ก็สอดคล้องกับพื้นที่ระบาดของพยาธิใบไม้ในตับ ที่มีสาเหตุหลักมาจากกินปลาชนิดหนึ่งคือพวกปลาซิวดิบๆ ย้ำว่าปลาชนิดเดียว (แต่ในทางวิทยาศาสตร์นับได้จริงๆ 22 สปีชีส์)

 

วันที่สอง ฝ่ายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ระดมมุมมองเกี่ยวกับการกินของดิบและมิติต่างๆ ของอีสาน มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย นอกจากกลุ่มที่ไปเก็บข้อมูลท้องถิ่นอย่างจริงจัง ดูเครือข่ายทางสังคมของการกินปลาก้อยที่ทำจากปลาตัวเล็ก แล้วไล่มาเรื่องศาสนา เช่น ผู้เชี่ยนชาญอีสาน-ลาวคนหนึ่งมาเล่าเรื่องพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งที่ทำปลาแดกขาย 

 

เรื่องภาษา การสื่อสารของหมอ มุมมองจากนักการศึกษาที่ให้ความสำคัญการการศึกษาแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งการนำนักวิชาการอีสานผู้เติบโตมาในวัฒนธรรมการกินของดิบมาบอกเล่าประสบการณ์การกินของตัวเอง

 

ท้ายสุดคือมุมมองสังคมศาสตร์ที่ไม่ได้เกี่ยวกับพื้นที่ชัดเจน แต่เป็นมุมมองสำหรับเข้าใจปัญหาคนปัจจุบัน ผมเองเสนอเรื่องการกินของดิบในเกาหลี เวียดนาม และญี่ปุ่น  

 

ผมเสนอสองประเด็นคือ การเข้าใจอาหารที่แตกต่างกันต้องอาศัยการก้าวข้ามพรมแดนวัฒนธรรมที่ซับซ้อนลึกซึ้งมาก การแปลทางวัฒนธรรมอาจช่วยได้ สองคือ การบริหารจัดการการกินของดิบไม่ใช่ด้วยการกำจัดการกินดิบ แต่จะทำอย่างไรให้การกินดิบปลอดภัย ดังตัวอย่างในญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนามที่ผมประสบมาด้วยตัวเอง

 

ที่ผมเสนออย่างนี้เพราะ จากที่ฟังมาวันแรก ผมได้ยินแต่หมอพูดว่าพวกเขาพยายามรณรงค์ต่อสู้กับโรคนี้มานานหลายสิบปีแล้ว ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักที ก็แสดงว่าเขายังไม่เข้าใจความลึกซึ้งของที่มาของโรคที่มันไม่ได้อยู่แค่โรคกับนิสัยการกิน แต่ยังมีโครงสร้างสังคมใหญ่โตมากมาย

 

ที่ผมดักคอว่าต้องแก้ที่การทำความเข้าใจแล้วแก้ระบบให้เอื้อการกินของผู้คนไม่ใช่แก้นิสัยการกิน เพราะผมฟังหมอพูดว่าเขาพยายามจะแก้นิสัยการกินของคน เมื่อแก้ผู้ใหญ่ไม่ได้แล้วก็จะแก้เด็ก โดยหวังพึ่งการศึกษา ที่พวกเขาก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไรกันแน่ และด้วยเพราะที่ผมเห็นอยู่คือ การจัดการกับการดื่มแอลกอฮอล์แบบหมอไทย ก็คือการเน้นการกำจัด มากกว่าการจัดการให้ดื่มอย่างปลอดภัย ซึ่งอย่างหลังยุ่งยากกว่ามากแน่นอน

 

ช่วงสรุปของวันที่สอง หมออังกฤษที่เป็นโต้โผใหญ่ของการจัดประชุมครั้งนี้ ซึ่งหวังว่าจะก่อตั้งโครงการความร่วมมือกันขนาดใหญ่ ระยะยาว เพื่อไปขอทุนวิจัยที่เชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ลุกขึ้นมาบอกว่าการนำเสนอเรื่องการกินของดิบของผม "ไม่เข้าเรื่อง" แล้วก็วนเวียนพูดย้ำข้อเท็จจริงที่บรรดาหมอเล่ามาในวันแรกอีกว่า ประเทศไทยประสบปัญหานี้มาก พวกเราอยากมาช่วย ช่วยเสนออะไรให้เข้าเรื่องหน่อย

 

แล้วไม่นานนักก็มีหมออีกคนที่ไม่ได้ถูกเชิญมาแต่แรกในการประชุมครั้งนี้ เป็นคนละกลุ่มหมอ คนละแนวคิดกัน เป็นหมออเมริกันที่แนะนำตัวเองว่าอยู่ไทยมา 4 ปีแล้ว รู้ว่าปัญหามันมากกว่าแค่ตัวโรคและนิสัยการกิน แล้วจึงเกิดการโต้เถียงกันและบริภาษใส่กัน ก็ไม่ถึงกับใช้คำหยาบคาย แต่แสดงทัศนคติที่รุนแรงต่อกันอย่างที่ไม่มีใครในห้องประชุมทั้ง 30 คนที่ต่างก็มีประสบการณ์ทางวิชาการมามากมายจะเคยพบเห็นมาก่อน

 

อีกครึ่งวันที่สาม หมอที่เถียงกันทั้งสองคนไม่ปรากฏตัว ฝ่ายหมอเริ่มพูดก่อนอย่างอารีอารอบเหมือนรู้ตัวว่าหัวหน้าทีมพวกเขาพลาดไปแล้วที่บอกปัดข้อเสนอของผู้ที่รับเชิญมาเสนอมุมมองที่แตกต่างไปจากพวกเขา ในการคุยกันรอบสุดท้ายนี้ วัตถุประสงค์คือเพื่อพัฒนาโครงการวิจัยขึ้นมา

 

เสียดายที่ผมอยู่ได้ไม่ทันจบ ต้องกลับออกมาเสียก่อน แต่ก็ดูว่าทิศทางของการสนทนาจะไปด้วยดีมากขึ้น ผมก็ได้แต่หวังว่าโครงการวิจัยนี้จะเกิดขึ้นจริง โดยที่ไม่ต้องมีนักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องอาหารอยู่ในนั้นเลยก็ได้ หรือจะเป็นใครคนอื่นแทนก็ตาม

 

ขณะนี้ผมกำลังอยู่ในการจัดการกับมิชชั่นที่สอง มาเก็บข้อมูลที่เพชรบุรี ได้รู้เรื่องน่าตื่นเต้น เรื่องใหม่ๆ พบเรื่องที่คิดว่าน่าจะเจอ ซึ่งก็ได้เจอจริง แต่เจอมากกว่าที่คิดอีก เอาไว้จะหาเวลามาเขียนเล่าใหม่ครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเลี่ยงที่จะอ่านข่าวเกี่ยวกับมติครม.งดเหล้าเข้าพรรษาเพราะไม่อยากหงุดหงิดเสียอารมณ์ ไม่อยากมีความเห็น และไม่อยากต้องโดนด่าหลังแสดงความเห็น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อต้องกลับมาชวนคนอ่านงานของบรมครูทาง "วัฒนธรรมศึกษา" คนหนึ่ง ที่ผมไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรนัก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปแม่ฮ่องสอนสามวัน ค้างสองคืน เพื่อร่วมงาน "ไทใหญ่ศึกษา" ทั้งๆ ที่ไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้จักวัฒนธรรมไทใหญ่มาก่อน พอจะรู้จากการอ่านงานเรื่อง "ฉาน" เรื่องรัฐไทใหญ่ เรื่องประวัติศาสตร์บ้างนิดหน่อย จึงมิอาจให้ความเห็นใดๆ กับอาหารไทใหญ่ได้ ทำได้แค่เพียงบอกเล่า "ความประทับใจแรกเริ่ม" ในแบบที่นักชาติพันธ์ุนิพนธ์ทั่วไปมักทำกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่รู้เป็นอะไรกันนักหนากับเครื่องแต่งกายนักศึกษา จะต้องมีการประจาน จะต้องมีการให้คุณค่าบวก-ลบ จะต้องถือเป็นเรื่องจริงจังกันจนบางคณะถึงกับต้องนำเรื่องนี้เข้ามาเป็นวาระ "เพื่อพิจารณา" ในที่ประชุมคณาจารย์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชาญวิทย์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม วันที่ 22 มิถุนายนนี้ ลูกศิษย์ลูกหาจัดงานครบรอบ 72 ปีให้อาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน 2556) อาจารย์ที่คณะท่านหนึ่งเชิญไปบรรยายในวิชา "มนุษย์กับสังคม" หัวข้อ "สังคมศาสตร์กับความเข้าใจผู้คนและสังคม" ให้นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปี 1 ในห้องเรียนมีนักศึกษาราว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์ุอยู่หลากหลายกลุ่ม พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และร่วมสร้างสังคม สร้างประวัติศาสตร์โบราณและสมัยใหม่อย่างขาดไม่ได้ แต่ประเทศไทยก็ไม่เคยมีนโยบายกลุ่มชาติพันธ์ุมาก่อน (ยาวนะครับ ถ้ายังอยู่ในโลก 8 บรรทัดโปรดอย่าอ่าน)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 มีคนบ่นว่า "ผ่านมาสามปีแล้ว ทำไมคนเสื้อแดงยังไปรวมตัวกันที่ราชประสงค์กันอีก นี่พวกเขาจะต้องระลึกถึงเหตุการณ์นี้กันไปจนถึงเมื่อไหร่" แล้วลงท้ายว่า "รถติดจะตายอยู่แล้ว ห้างต้องปิดกันหมด ขาดรายได้ นักท่องเที่ยวเดือดร้อน" นั่นสิ น่าคิดว่าทำไมการบาดเจ็บและความตายที่ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553 มีความหมายมากกว่าโศกนาฏกรรมทางการเมืองครั้งที่ผ่านมาก่อนหน้านี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรียน ศาสตราจารย์ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นนักคิดไทยสองคนออกมาเทศนาแล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า "ทำไมนักคิดไทย พอแก่ตัวลงต้องไปจนแต้มที่วิธีคิดแบบพุทธๆ"