Skip to main content

คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง

หรือหากจะพูดอีกแบบหนึ่ง ความกักขฬะเป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่ง วัฒนธรรมกักขฬะ ไม่รู้กาละเทศะ ดิบห่าม ไร้มารยาท เหยียดเพศ เหยียดชนชั้นในสังคมไทยนั้นมีอยู่เต็มไปหมด ไม่อย่างนั้นคนแบบพลเอกประยุทธ์ก็ไม่มีทางได้ดิบได้ดีจนทุกวันนี้ได้ 

แต่จะพูดอย่างนี้ก็ออกจะเหมารวมเกินไปสักหน่อย เพราะคุณหลายคนที่อ่านข้อเขียนนี้อยู่ก็คงไม่ได้เป็นคนแบบนี้ แต่คนแบบนี้มีอยู่จริง คนแบบนี้คือคนที่นิยมชมชอบการอยู่ในอำนาจของพลเอกประยุทธ์ 

ที่เห็นชัดๆ เลยคือ ผมว่าคนแบบพลเอกประยุทธ์น่าจะอยู่ในกลุ่มคนที่นิยมความรุนแรง นิยมการใช้อำนาจ นิยมระบบชายเป็นใหญ่ แล้วเป็นคนที่เติบโตในระบบสังคมที่ปิด ปิดหูปิดตาตนเอง ปิดโลกตัวเอง ไม่ค่อยคบค้าสมาคมกับคนในโลกกว้าง  

พูดง่ายๆ คือคนส่วนใหญ่ที่เติบโตในระบบทหารในประเทศไทยนั่นแหละ ดูเอาเถอะ ไม่อย่างนั้นคนอย่างพลเอกประยุทธ์จะขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นคนอย่างพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณจะขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตได้อย่างไร 

ตรงกันข้าม คนในโลกยุคปัจจุบันคือคนที่ต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้อื่น ไม่ว่าจิตใจเบื้องลึกของเขาจะหยาบช้าอย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุดเมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณชน อยู่ต่อหน้าสังคม อยู่ในสังคมแล้ว จะต้องเข้าใจว่าระเบียบสังคมปัจจุบันเป็นอย่างไร จะมาล้อเล่นกับความเป็นผู้หญิง จะมาดูถูกคนจน อย่างที่พลเอกประยุทธ์เป็นไม่ได้เด็ดขาด 

ที่เป็นอย่างนี้เพราะสังคมปัจจุบันให้คุณค่ากับความเสมอภาคกัน แล้วความเสมอภาคไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ มันก้าวไปข้างหน้าเสมอ มันผลักให้เราต้องคิดหน้าคิดหลัง คิดอย่างละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้นเสมอ  

เมื่อร้อยปีก่อน เราแค่เรียกร้องความเสมอภาคกันระหว่างชนชั้น แล้วต่อมาก็เรียกร้องความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ต่อมาระหว่างคนต่างชนชาติ ศาสนา ต่างวัย เรื่อยมาจนกระทั่งถึงความเสมอภาคระหว่างความเป็นเพศหรือที่เรียกว่าเพศภาวะที่มีหลากหลายจนเกินกว่าจะนับได้ถ้วนทั่ว  

แทบไม่ต้องพูดถึงความเสมอภาคระหว่างคนรวยกับคนจน คนเมืองกับคนชนบท คนการศึกษาน้อยกับคนการศึกษาสูง เหล่านี้ถือเป็นความเสมอภาคที่สังคมไหนๆ เขาก็ก้าวผ่านมา เรียกว่าโลกทั้งใบเขาใส่ใจกับความเสมอภาคกัน แล้วคนแบบไหนกันที่ไม่ใส่ใจกับความเสมอภาค ดูถูกคนจน คนการศึกษาน้อย อยู่ได้ตลอด 

อย่างในสังคมการศึกษาที่ผมคุ้นเคย ปัจจุบันเมื่อยืนอยู่หน้าห้องเรียนทีไร ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ห้องเรียนชวนติดตาม สนุกสนาน ท้าทายให้นักเรียนคิด โดยไม่นำเอาความบกพร่องทางกาย ทางเพศ หรือความแตกต่างด้านต่างๆ มาเป็นเรื่องเล่น ผมเองแค่จะยกตัวอย่างอะไรในห้องเรียน ก็มักจะต้องระวัง 

ทั้งต้องไม่ทำให้ความแตกต่างกลายเป็นของแปลกจนต้องกลายมาเป็นตัวอย่างเสมอ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็จะต้องไม่ยกเอาความพิกลพิการมาพูดถึงจนเกินเลย อย่าว่าแต่จะพูดให้เสียหายเลย จะพูดให้คนเห็นใจยังต้องระวังว่าทำอย่างไรจะไม่กลายเป็นการสร้างความรู้สึกสงสาร แล้วจะกลับกลายเป็นการดูถูกไปเสียอีก 

ผมคิดว่าความกักขฬะ เหยียดหยามคนอื่นมีที่ทางทางสังคมของมันเองเหมือนกัน นิสัยแบบนี้อยู่ในกมลสันดานของคนจำพวกหนึ่ง เป็นคนที่สมาคมกับคนน้อย เป็นคนที่สังคมของพวกเขาไม่ใส่ใจคนอื่น ใส่ใจอยู่แต่กับระบบพวกพ้องของตนเอง เพราะความก้าวหน้าของพวกเขามาจากการใช้ความกักขฬะมากกว่าการให้ความเคารพผู้อื่น 

ฉะนั้นความกักขฬะอาจมีประโยชน์ของมันเองในสังคมแบบหนึ่ง เช่น สังคมที่ต้องการความเด็ดขาด มีความจำเป็นต้องใช้ความเผด็จการ อย่างเช่น หากเราจะฝึกสัตว์ป่าให้เชื่อง ฝึกคนให้เชื่อฟังอย่างไร้ข้อต่อรองใดๆ ก็จะต้องทำลายความเท่าเทียมลง สร้างระบบช่วงชั้นการบังคับบัญชาขึ้นมา และแน่นอนว่าเราคงต้องใช้ความกักขฬะส่วนหนึ่ง  

ในสังคมที่เต็มไปด้วยชายฉกรรจ์ถืออาวุธ ความกักขฬะในสัดส่วนที่เหมาะสม ผสมกับศรัทธาหรือความเชื่อทางสัญลักษณ์ทำให้คนเชื่อฟังอย่างซาบซึ้ง (ซึ่งจะเกินเลยจากประเด็นในที่นี้มากไป ขอไม่พูดถึง) จึงจะสามารถควบคุมให้ฝูงคนเหล่านั้นปฏิบัติตามคำสั่งได้ ความกักขฬะคงจะจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างสังคมที่มีกฎระเบียบเข้มงวดอย่างสังคมทหาร 

แต่สังคมทั่วไปไม่ใช่สังคมทหาร ประเทศชาติไม่ใช่ค่ายทหาร เราทุกคนไม่ใช่ทหาร หากทุกคนคิดแบบทหารและกลายเป็นทหารหมด ทุกคนกักขฬะหมด เราจะอยู่ในโลกใบเดียวกันนี้กับชาวโลกเขาไม่ได้ หากลูกหลานคุณเป็นคนกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์กันหมด พวกเขาจะต้องย้อนกลับมาต่อว่าคุณที่ปล่อยให้เขาโตขึ้นมากับความกักขฬะเมื่อเขาได้ออกไปเผชิญโลกกว้าง แล้วพบว่าชาวโลกเขาเลิกกักขฬะกันหมดแล้ว 

ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ สังคมกักขฬะคิดไม่เป็นก็จึงไม่เจริญก้าวหน้า ความคิดความอ่านเกิดมาจากการเป็นสังคมที่ไม่เชื่อตามๆ กัน เป็นสังคมที่กล้าแตกแถว เป็นสังคมที่เคารพคนอื่น สังคมที่จะก้าวหน้าได้ต้องเป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค พร้อมที่จะรับฟังคนอื่น ให้โอกาสคนอื่น เห็นอกเห็นใจและคิดเผื่อคนอื่นเสมอ  

เราจะให้สังคมไทยปกครองด้วยคนกักขฬะอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือ เราจะต้องทนกับความกักขฬะไปอีกนานเท่าไหร่ เราอยากให้ชาวโลกเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมกักขฬะอย่างนั้นหรือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน