Skip to main content

หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด

ที่จริงจะพูดไปเรื่องนี้อย่างไรเสียก็ว่ากันได้ทุกคน ว่ากันได้ตั้งแต่สมัยอดีตนายกฯ คนที่เป็นที่นิยมมาก จนถึงผู้มีอำนาจในทุกวันนี้ จนถึงชาวบ้านตาดำๆ อย่างเราๆ ใครๆ ก็ทำผิดกันได้ทั้งนั้น แล้วหลายคนก็ไม่ยอมรับผิดของตนเองกันได้ทั้งนั้น แต่ความผิดบางกรณีถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม เพราะเป็นความผิดต่อสาธารณชน ไม่ใช่ความผิดต่อใครคนใดคนหนึ่ง

เช่นว่า ความผิดที่ดูเล็กน้อย เหมือนไม่เป็นภัยแต่ดูใจบุญอย่างกรณีนกเงือก หรือความผิดที่ดูผู้กระทำกลับอ้างการตกเป็นเหยื่อของการลวงโลกเสียเองอย่างกรณี GT200 รวมทั้งกรณีศิลปินที่มีส่วนร่วมกับการปูทางไปสู่การรัฐประหารที่บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง แต่ผู้กระทำกลับปฏิเสธราวกับว่าขณะนั้นรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งๆ ที่ก็ยังร่วมหัวจมท้ายกับขบวนการทำลายสิทธิเสรีภาพมาจนหลังรัฐประหาร ตลอดจนกรณีก่อนหน้านั้นที่ใหญ่ๆ ก็คงจำกันได้ที่อดีตนายกฯ คนหนึ่งยอมรับเองว่ามีการสั่งให้ใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่ยอมรับผิด กลับบอกว่า "โชคร้ายที่มีคนตาย" 

เรื่องนี้มีสามคำถามที่น่าคิดคือ 1. ทำไมสังคมจึงสนใจบางความผิดของบางคนเป็นพิเศษ 2. ทำไมการยอมรับผิดของบางคนจึงยากเย็นนัก แล้ว 3. ทำไมประเทศไทยจึงไม่สามารถเอาผิดกับผู้มีอำนาจได้เสียที 

แน่นอนบางคนคงอยากจะบอกว่า เรื่องนี้มันก็เลวกันทุกฝ่ายนั่นแหละ แต่ที่ผมว่าที่เลวร้ายยิ่งกว่า สร้างความผิดหวังต่อสังคมยิ่งกว่า และทำลายความเชื่อมั่นต่อความดีงามมากที่สุด ก็คือกรณีของคนที่ออกตัวแรงกับสังคมว่าเป็นคนดี อยู่ข้างความถูกต้อง อยู่ตรงข้ามกับคนโกง ทำดีให้สังคมรับรู้สม่ำเสมอ แต่เมื่อตนเองทำผิดพลาด กลับเฉไฉแถไปมาด้วย "คำแก้ตัว" (คำนี้สำคัญนะครับ เป็นคนละคำกับ "เหตุผล") ต่างๆ นานา 

นี่ชวนให้คิดถึงข้อเท็จจริงทางสังคมอย่างหนึ่งของวัฒนธรมไทยว่า การรักษาหน้าตาสำคัญกว่าความละอายต่อการทำบาป สังคมไทยให้ความสำคัญกับหน้าตาทางสังคม มากกว่าหลักการในอุดมคติ เขาจึงยอมผิดหลักการแต่ไม่ยอมเสียหน้า อุดมคติเป็นสิ่งที่อยู่ในใจ หลายครั้งทำดีตามอุดมคติแล้วไม่ได้หน้า ได้เพียงความรู้สึกดีอยู่ในใจคนเดียว แต่คนไทยชอบทำดีพร้อมกับได้หน้า เพราะหน้าตามาพร้อมกับฐานะพิเศษทางสังคม 

หน้าตาสำคัญเพราะหน้าตารักษาความคาดหวังต่อบทบาทตามสายสัมพันธ์ทางสังคม คนที่มีอำนาจ ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ผู้ที่สังคมให้ความนับถือยกย่อง ย่อมไม่อยากสูญเสียสถานภาพทางสังคม เพราะในกลไกทางสังคมของสังคมไทย เมื่อใครก็ตามมีอำนาจ มีคนยกย่องสรรเสริญ เขาย่อมมีโอกาสได้รับอภิสิทธิ์พิเศษ และยิ่งมีโอกาสได้สืบทอดให้คงอยู่ในสถานภาพพิเศษนั้นไปได้นานๆ มากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานะเช่นนั้น 

ลึกไปกว่านั้น ผมว่ามีอีกส่วนที่ผมคิดว่าอาจจะทำให้คนเหล่านี้ไม่ยอมรับผิด คนเหล่านี้อาจจะเกรงกลัวโทษทัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าการเสียหน้า เพราะการรับผิดทางสังคมย่อมอาจจะส่งผลให้เขากลายเป็นผู้สารภาพผิดในทางนิตินัยไปด้วยโดยปริยาย ข้อนี้ผมไม่รู้เหมือนกันว่าในทางกฎหมายจะถือได้หรือเปล่าว่า เมื่อผู้ทำผิดได้รับสารภาพผิดต่อสาธารณชนไปแล้ว ก็เหมือนปูทางไปสู่การต้องรับผิดในกระบวนการยุติธรรมไปด้วย 

ประเด็นที่ใหญ่ยิ่งกว่านั้นคือ "วัฒนธรรมการปล่อยให้คนผิดลอยนวล"(impunity) ที่จริงผมไม่ได้รู้เรื่องนี้มากนัก ก็อ่านเอาจากหลายๆ คนที่เคยเขียนไว้แล้ว แนวคิดนี้พูดถึงการปล่อยปละละเลยไม่ให้เกิดความรับผิดชอบของความผิดในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ก่อความผิดเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง  

นี่ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็น "นักการเมือง" ในความหมายแคบ แต่ยังรวมถึงคนมีอำนาจในการบริหารประเทศ พูดง่ายๆ คือ ผู้นำเผด็จการที่อ้างว่าเข้ามายึดอำนาจเพื่อกำจัดนักการเมือง ตัวเขาเองก็เป็นนักการเมืองด้วยเหมือนกัน และต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองที่ต้องสามารถถูกดำเนินการด้วยกระบวนการยุติธรรมได้เช่นกัน แต่คนผิดที่ขี้ขลาดและหน้าด้านส่วนมากก็ย่อมนิรโทษกรรมตนเองให้ปลอดจากความผิดทั้งหมดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็คือประกาศตั้งแต่แรกที่ทำผิดว่า พวกเขาไม่ยอมรับผิด

ความไม่รับผิดต่อความผิดสาธารณะของผู้มีอำนาจ เป็นพื้นฐานของการปล่อยให้ผู้มีอำนาจที่กระทำผิดลอยนวล เมื่อเราปล่อยปละละเลยต่อการลงโทษผู้มีอำนาจที่กระทำผิด ผู้ที่เป็นเหยื่อของความผิดเหล่านั้นก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม สังคมก็ไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ สุดท้ายสังคมก็ไม่อาจไปสู่การให้อภัยกันแล้วหันหน้ากลับมากล้ำกลืนจนสุดท้ายยอมปรองดองกันได้  

แล้วสุดท้าย วัฎจักรการไม่รู้จักรับผิดก็ผลิตซ้ำตัวมันเอง สังคมจึงปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอำนาจกระทำผิดต่อประชาชนได้ต่อไปอย่างซ้ำซาก จนกลายเป็นวัฒนธรรมไม่รับผิดของสังคมไทย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร