Skip to main content

จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม

 หมายเหตุก่อนบันทึก

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมบรรยายในการประชุมประจำปีของเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยครั้งที่ 10 ที่จังหวัดสงขลา หัวข้อที่ได้รับเชิญให้ไปบรรยายคือ “ภูมิภาคนิยม: ความเป็นใต้ เรื่องเล่า เส้นแบ่ง และความเคลือบแคลง” ร่วมกับอาจารย์ธัญญา สังขพันธานนท์ (ไพฑูรย์ ธัญญา) หลังการบรรยาย อาจารย์จรูญ หยูทองได้อภิปรายตอบโต้ แล้วท่านก็นำมาเขียนเป็นบทความ “ข้อถกแถลงว่าด้วย “ภูมิภาคนิยม ท้องถิ่นนิยมและความคลุมเครือ-เคลือบแคลง” ในแวดวงวิชาการไทย” (http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9590000095534) ผมเห็นว่าข้อถกเถียงนี้น่าจะมีประโยชน์ จึงขอนำบันทึกที่เตรียบสำหรับการบรรยายมาเผยแพร่ ณ ที่นี้

 

เกริ่นนำ

ในยุคที่งานวิชาการก้าวมาสู่การท้าทายการครอบงำทางปัญญาจากทั้งโลกวิชาการตะวันตกและโลกวิชาการของรัฐ ทำอย่างไรเราจึงจะคิดถึงการศึกษาภูมิภาคในยุคต่อไปจากนี้ 

ผมขอพูดถึงความเป็นภูมิภาคในสองชั้นด้วยกัน คือภูมิภาคในฐานะของความเป็นท้องถิ่น และภูมิภาคในฐานะของความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สองภูมิภาคนี้ซ้อนทับกันอยู่  

นอกจากนั้น ผมอยากจะวางการศึกษาภาคใต้ให้เชื่อมโยงกับงานวิชาการสากล ในที่นี้ส่วนใหญ่ผมจะพูดถึงภาคใต้นอกอิทธิพลของศาสนาอิสลาม 

ผมแบ่งการบรรยายนี้ออกเป็น 3 ตอนด้วยกันคือ 1. กล่าวถึงตัวตนของผมเอง 2. กล่าวถึงภาพลักษณ์คนใต้ 3. กล่าวถึงภาคใต้หลังอาณานิคม 

ตัวตน

ผมเคยเสนอความคิดว่า นักวิชาการต้องเขียนถึงงานตนเองอย่างรู้เท่าทันและวิพากษ์ตนเอง ก่อนอื่นจึงขอบอกเล่าจินตนาการต่อตัวตนตนเองกับภาคใต้สักเล็กน้อย 

ผมรู้จักสงขลาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ไม่ได้มาสงขลาน่าจะเกิน 20 ปีแล้ว มาแต่หาดใหญ่ ซึ่งก็นาน ๆ มาที อย่างไรก็ตาม ย่าผมเสียชีวิตที่สงขลา แล้วศพท่านถูกเผาที่วัดหนึ่งในสงขลา ผมยังบวชหน้าไฟให้ย่าที่วัดนั้นด้วย ทุกวันนี้ป้าผมยังอยู่สงขลา มีลูกพี่ลูกน้องและหลาน ๆ อยู่สงขลาอีกพอสมควร แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเลย 

ผมเป็นลูกครึ่ง เป็นคนสองน้ำ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม พ่อเป็นคนหน้าสตน อำเภอหัวไทร นครศรีธรรมราช แม่เป็นคนบ้านกระทุ่ม อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา วัยเด็กได้อยู่ทั้งบ้านพ่อและบ้านแม่ ซึ่งอยู่ในเขตชนบททั้งคู่ 

หัวไทรที่ผมรู้จักในอดีตอุดมสมบูรณ์ พ่อผมเป็นคนสุดท้อง พ่อผมแตกต่างจากคนอื่นตรงที่เป็นคนเดียวที่ได้เรียนหนังสือ พี่ ๆ เขาทุกคนทั้งหมด 8 คนไม่มีใครได้เรียนเลย กลับมาบ้านริมชายทะเลทีไร พ่อผมก็กลายเป็นคนกรุงที่กลับมาบ้านนอก แต่เขาก็เรียนรู้ชีวิตลูกทุ่งและสอนผมแทบทุกอย่างที่เขารู้เกี่ยวกับการกินอยู่แบบคนท้องถิ่น มีอย่างหนึ่งที่ผมเสียดายจนทุกวันนี้คือผมพูดภาษาใต้ไม่ได้ ไม่ได้คลุกคลีกับญาติพ่อมากพอที่จะซึมซับภาษาใต้ แต่ก็ฟังได้เรียกว่าน่าจะร้อยทั้งร้อย 

เมื่อไหร่ที่ผมมาอยู่บ้านพ่อ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นช่วงปิดเทอมฤดูร้อนที่จะได้มาอยู่เป็นเดือน ๆ ผมก็จะได้วิ่งเล่นกับลูก ๆ ของป้า ๆ ลุง ๆ ในหมู่บ้าน เดินเที่ยวเล่นริมหาดทรายทุกวัน หัดว่ายน้ำในทะเล รู้รสว่าการถูกลูกมะพร้าวสองลูกกระแทกคางเวลาเกาะลูกมะพร้าวหัดว่ายน้ำนั้นเป็นอย่างไร เคยนอนดูหนังตะลุงริมทะเลจนดึกดื่น ภาพดาวเต็มท้องฟ้าในคืนเดือนมืดเมื่อสมัยที่บ้านพ่อยังไม่มีไฟฟ้ายังติดตาผมมาจนทุกวันนี้ เคยฟังเพลงบอกในงานศพ เคยกินแกงคั่วหัวรังค่าย (เตยทะเล) ที่ถามคนใต้ต่างถิ่นจำนวนมากก็ยังแทบไม่เจอใครที่รู้จัก บ้านพ่อทั้งออกเรือประมง ที่ตอนหลังละเลิกไปเพราะปู่เป็นพระจนมรณภาพ และทั้งทำนาและรับจ้าง ลุงซึ่งเป็นพี่ชายแท้ ๆ ของพ่อผมเป็นนายหัวคุมคิวท่ารถในตลาดหัวไทร 

สังคมภาคใต้ในหมู่บ้านพ่อผมน่าสนใจหลาย ๆ อย่าง อาจจะเป็นภาคใต้ในภาพที่คนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยรู้จักนัก และเหมือนเป็นภาคใต้ที่คนใต้เองแม้จะสัมผัสเป็นปกติก็กลับไม่ค่อยแสดงให้คนที่อื่นได้รับรู้นัก คือการที่ภาคใต้เป็นโลกทางสังคมที่มีความหลากหลายมาก หมู่บ้านพ่อผมมีทั้งคนพุทธและมุสลิมอยู่ด้วยกัน แต่ถึงอย่างนั้นคนพุทธกับมุสลิมก็ค่อนข้างแยกกันอยู่ ไม่ค่อยปฏิสังสรรค์กัน 

คนใต้เหมือนนิยมความเป็นชาย มีภาพลักษณ์ความเป็นชายสูง แต่ในสังคมจริง ๆ ผู้หญิงมีบทบาทนำสูงมาก พ่อผมที่เติบโตขึ้นมาในสังคมของป้า ๆ ป้าเหล่านี้มีความแกร่งสูง เป็นผู้นำครอบครัวมากกว่าสามีของพวกเธอ ครอบครัวพ่อผมเป็นครอบครัวของพี่น้องผู้หญิงที่อาศัยอยู่ร่วมกัน เมื่อแต่งงานแล้วก็พาสามีมายู่ด้วย แล้วพวกป้า ๆ เองก็ไปมาหาสู่ติดต่อกันสม่ำเสมอ  

แม้ย่าผมจะเป็นคนจีนแน่ ๆ แต่ผมไม่ได้รับรู้ความเป็นจีนของครอบครัวพ่อเท่าไหร่นัก ไม่ได้ไหว้เจ้าแล้ว อาจจะเพราะปู่ผมเป็นชาวพุทธอย่างจริงจัง เมื่อแก่ตัวลง ปู่ผมบวชเป็นพระจนเป็นพระอาวุโส (อาจจะเป็นเจ้าอาวาสเลยก็เป็นไปได้ ผมไม่ค่อยได้ใส่ใจจำดีนัก) แล้วก็มรณภาพในเพศบรรชิต ครอบครัวพ่อผมจึงไม่ได้สืบทอดความเป็นจีนของย่าเลย  

ผมคิดว่าความรู้ความเข้าใจสังคมของผมถูกหล่อหลอมขึ้นมา แม้ไม่ใช่จากภาคใต้จากระยะไกล แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นภาคใต้ระยะประชิด เพราะอีกส่วนหนึ่งของตัวตนผมคือการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ และการใช้ชีวิตในชนบทภาคกลางที่อยุธยา ซึ่งผมคงไม่เล่าในที่นี้ เพียงแต่ที่ผมอยากบอกคือ คนใต้มีอัตลักษณ์และตัวตนที่หลากหลาย คนใต้มีความผสมผสานสูง หากแต่คนใต้กลับพยายามทำให้ตนเองมีความเป็นสารัตถะที่ชัดเจนเฉพาะเจาะจงจนราวกับว่าเป็นสังคมวัฒนธรรมที่ปิดและหยุดนิ่งตายตัว 

ภาพลักษณ์คนใต้

ผมเคยสงสัยและสอบถามเพื่อน ๆ และอาจารย์รุ่นน้องเสมอว่า ภาคใต้ผลิตนักวิชาการที่ได้อธิบายโครงสร้างสังคมคนใต้จากภาพลักษณ์เหล่านี้บ้างหรือเปล่า ภาคใต้มีนักวิชาการคนสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันข้ามถิ่นหรือเปล่า พ้นจากพนมเทียน ท่านพุทธทาส อังคาร กัลยานพงศ์ และนักเขียนซีไรต์มากมายแล้ว ทำไมงานวิชาการคนใต้ไม่พ้นท้องถิ่นขึ้นไปสู่ระดับชาติและระดับสากลบ้าง ปัญญาชนของมหาวิทยาลัยภาคใต้ ที่จากหรือในไม่ใช่สามจังหวัดภาคใต้ คนไหนบ้างที่มีความสำคัญข้ามท้องถิ่น ผมสงสัยว่าสิ่งนี้สอดคล้องกับความเป็นคนใต้อีกสองประการที่ผมว่าสำคัญแต่ไม่ค่อยพูดถึงกันหรือเปล่า 

ภาพลักษณ์คนใต้ในงานวิชาการจำนวนมากสอดรับกับภาพลักษณ์ที่คนต่างถิ่นเข้าใจคนใต้พอสมควร เช่น ภาพรักพวกพ้อง รักอิสระ เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ (ข้อสรุปนี้นอกจากจะได้มาจากความคุ้นเคยกับงานศึกษาภาคใต้จำนวนหนึ่งแล้ว ผมยังได้ข้อสรุปนี้จากงานวิจัยคนใต้ของอาจารย์ชลิตา บัณฑุวงศ์และอาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ) 

แต่นอกเหนือจากภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างเป็นที่รับรู้กันทั่วไปนั่นแล้ว ผมคิดว่าความเป็นคนใต้ที่ไม่ค่อยพูดกันยังมีอีกสองประการคือ หนึ่ง การที่สังคมคนใต้เป็นสังคมเครือข่ายอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ และสอง การที่สังคมภาคใต้นอกอิทธิพลอิสลามไม่ได้รู้สึกถึงการถูกคุกคามจากรัฐส่วนกลาง พูดอีกอย่างคือคนใต้รักพวกพ้องก็จริง แต่ก็ภักดีต่อกรุงเทพฯ มากเช่นกัน 

ทำไมคนใต้จึงอยู่ใต้การอุปถัมภ์ เป้นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ภาคใต้เชื่อมตนเองหรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นส่วนขยายหรือเป็นอดีตของสยามส่วนกลางมาตลอด คนใต้ต่อต้านอำนาจรัฐก็จริง จนมีคำพูดว่าไม่รบนาย ไม่หายจน" แต่ไม่ได้ต่อต้านถึงที่สุด ภาคใต้ไม่มีสำนึกของการตกเป็นอาณานิคมของสยาม หรือถึงที่สุดคือ สังคมภาคใต้เป็นอาณานิคมของสยามที่ยินยอมพร้อมใจต่อการเป็นอาณานิคมอย่างที่สุด ต่างจากภาคเหนือและอีสาน ไม่มีกบฏผู้มีบุญแบบภาคอีสาน ไม่มีกบฏเงี้ยวแบบในภาคเหนือ  

การเป็นสังคมที่เปิดต่อโลกภายนอกผ่านการค้าและเปิดต่อโลกมุสลิมอาจเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อการทำให้สังคมภาคใต้ต้องเกาะเกี่ยวกันเอง กลายเป็นคนรักพวกพ้องสูง อุปถัมภ์กันเองสูง พร้อม ๆ กับพึ่งพิงและภักดีต่อกรุงเทพฯ สูงไปด้วย ในอีกทางหนึ่ง เพราะสังคมภาคใต้เปิดต่อโลกภายนอกสูงนี่เองกระมังที่ทำให้กรุงเทพฯ ต้องแผ่ขยายอิทธิพลและเพ่งเล็งที่จะทำให้ภาคใต้ผนวกเป็นเนื้อเดียวกันกับสยามมายาวนานก่อนภาคอื่น ๆ สองแรงนี้ทำให้ภาคใต้กลายเป็นอาณานิคมที่ยินยอมพร้อมใจต่อเจ้าอาณานิคมสยามอย่างยาวนาน 

ที่น่าสนใจคือ แม้แต่เมืองอย่างสงขลา ที่มีอัตลักษณ์ความหลากหลายของตนเอง มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกับชุมชนมลายูดั้งเดิม เหมือนเป็นนครท้องถิ่น แล้วกลายมาเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่ง แต่กลับรับเอาสัญลักษณ์ของฮินดูอย่างพญานาคจากกรุงเทพฯ เข้ามาเป็นอุบายหลอกให้คนวิ่งไปวิ่งมาดูเมืองให้ทั่ว ทั้ง ๆ ที่สิ่งนี้เป็นสิ่งใหม่และแปลกปลอมกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น ผมสงสัยว่า เพราะความเปราะบางของสังคมภาคใต้หรือเปล่าที่ทำให้ต้องยอมรับความเป็นส่วนกลางเข้ามามากอย่างนี้ 

สังคมภาคใต้เปราะบาง เป็นสังคมชายแดน เปิดต่อโลกกว้าง ทะเลรอบทิศ รอยต่อมลายู ไทย พุทธ อิสลาม แทนที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก (cosmopolitanism) แต่กลับกลัวความเปลี่ยนแปลง กลัวอิทธิพลภายนอก คนใต้จึงสร้างเกราะด้วยการเป็นสังคมอุปถัมภ์ มีปัญหาอะไรก็จัดการกันเอง แต่ไม่ทะเลาะกันเองจนถึงที่สุด ไม่วิจารณ์กันเองจนถึงที่สุด เป็นสังคมนายหัว รักเพื่อนพ้องญาติพี่น้อง ชอบเถียงกันแต่ไม่เป็นประชาธิปไตย ชอบเรียนกฎหมายแต่ไม่ค่อยเคารพกฎหมาย 

ภาคใต้หลังอาณานิคม

คนใต้ไม่มีสำนึกหลังอาณานิคม (post-colonialism) ภักดีต่อส่วนกลางสูง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ด้านที่คนใต้พยายามหันหลังให้นั่นเองที่เป็นจุดแข็งของภาคใต้ที่น่าศึกษา  

น่าแปลกที่ แม้ว่าจะเกิดกรณี "ถังแดง" ที่เกิดการปราบปรามประชาชนในภาคใต้ช่วงขบวนการคอมมิวนิสต์ แต่สำนึกความเป็นภาคใต้หลังอาณานิคมที่ไม่ไว้ใจส่วนกลางกลับไม่เกิดขึ้น ภาคใต้หลังทศวรรษของขบวนการคอมมิวนิสต์กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ ที่เชื่อมโยงการเมืองท้องถิ่นเข้ากับการเมืองส่วนกลางและศูนย์กลางจักรวาลวิทยาผ่านนักการเมืองภาคใต้คนสำคัญทั้งนักการเมืองราชการและนักการเมืองเลือกตั้ง สืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน  

คำถามสำคัญคือ ทำไมการเมืองภาคใต้จึงเลือกสร้างตัวตนอัตลักษณ์ผูกพันกับส่วนกลางเกินกว่าที่จะเข้าใจด้วยเงื่อนไขแบบภาคอื่น ๆ ได้ ทำไมการเติบโตของชนชั้นกลางใหม่ในภาคใต้จึงไม่พัฒนาให้เกิดการเมืองแบบใหม่ แม้ว่าการเมืองภาคประชาชนในภาคใต้จะแข็งแกร่ง แต่ก็ยังสร้างเครือข่ายที่ผูกพันกับการเมืองอุปถัมภ์ระดับชาติอยู่ หรือเพราะว่าเครือข่ายสังคมภาคใต้ยังผูกพันอยู่กับระบบอุปถัมภ์อย่างสูง ไม่เหมือนภาคอื่น ๆ ที่เครือข่ายพรรคพวกผ่อนคลายลงมากในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา (ข้อสรุปนี้ผมอ้างอิงกับงานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” ที่ผมทำกับอาจารย์หลาย ๆ ท่าน แล้วเขียนเป็นงานสังเคราะห์ร่วมกับอาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัยและอาจารย์นิติ ภวัครพันธ์ุ) 

งานศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ศึกษาหมู่เกาะ เสนอมุมมองที่แตกต่างจากภาคพื้นทวีปเสมอ ผมว่าทำอย่างไรงานศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้จะเชื่อมกับงานกลุ่มนี้บ้าง เช่น งานแอนโทนี รีด (Anthony Reid) งานโอลิเวอร์ โวลเทอร์ (Oliver W. Wolters) ที่ชี้ความสำคัญของการค้า การเป็นสังคมเปิด การเชื่อมกลุ่มชาติพันธ์ุต่าง ๆ การค้าทางทะเล กับกลุ่มบูกิส ที่บ้านเราถูกมองว่าเป็นแค่ชาวเล ทั้งที่จริง ๆ แล้วพวกเขาสำคัญมาก ทำไมเราไม่สนใจกัน ในระยะสิบปีที่ผ่านมา ผมอ่านและฟังงานของนักวิชาการญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องคนกลุ่มนี้มาพอสมควร ทำให้เข้าใจภาพอันดามันในแบบที่ยังไม่เคยได้ยินนักวิชาการคนไทยคนไหนเชื่อมกับภาคใต้เลย 

สังคมการค้าอย่างสงขลา ที่เคยมีเหรียญกษาปณ์ของตนเอง ไม่เคยถูกทำให้เป็นงานวิชาการที่เข้าใจท้องถิ่นแบบเฉพาะอย่างเชื่อมโยงกับโลกภายนอกคอสโมโพลิแทนสงขลา” ไม่ต่างจากเมืองการค้าสำคัญ ๆ ของภูมิภาคอย่างภูเก็ต ปีนัง มะละกา และโห่ยอาน (หรือ “ฮอยอาน” ของเวียดนาม ในสำเนียงไทย) การเชื่อมโยงภาคใต้กับโลกภายนอกที่มีอยู่เดิมแล้วแต่เหมือนเรายังไม่เข้าใจมากนัก  

ภาคใต้ของไทยเปิดโอกาสสำคัญที่จะให้เข้าใจสังคมไทยที่ก้าวไกลกว่าการเข้าใจภาคใต้แบบผูกพันกับส่วนกลาง ภาวะเชื่อมต่อระหว่าง “อุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป” (Mainland Southeast Asia) ที่มีธรรมชาติของการก่อตัวทางสังคมที่แตกต่างไปจาก “อุษาคเนย์ภาคพื้นสมุทร” (Maritime Southeast Asia) นั้น ที่จริงมีภาคใต้ของไทยเป็นตัวแทนสำคัญ อุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปที่เน้นการรวมศูนย์ การควบคุมกำลังคน การกลืนกลายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (ข้อสรุปนี้ได้จากงานของเจมส์ สก๊อตต์ James C. Scott เรื่อง The Art of Not Being Governed พิมพ์ค.ศ. 2009) แตกต่างจากอุษาคเนย์ภาคพื้นสมุทรที่เปิดกว้างสู่โลกภายนอก มีพลวัตสูง มีหลายศูนย์กลาง (ดูงาน O. W. Wolter และ Anthony Reid งานของรีดนั้นมีแปลเป็นไทยมานานแล้วด้วย) การที่สยาม ซึ่งเป็นตัวแทนของอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป พยายามผนวกเอาภาคใต้เข้ามาอยู่เป็นส่วนหนึ่งอย่างยาวนาน นับเป็นการเชื่อมต่ออุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปกับอุษาคเนย์ภาคพื้นสมุทรอย่างน่าตื่นเต้น 

จุดแข็งของการเชื่อมโยงกับโลกภายนอก เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างภายนอกกับภายใน ทำให้สังคมภาคใต้มีความหลากหลาย ทั้งไทย มลายู คนทะเล ชาวมานิ คนข้ามถิ่น โรฮิงญา พม่า คนอีสานที่มาทำงานในภาคใต้หลายทศวรรษแล้ว การปฏิสังสรรค์ของคนหลายกลุ่มเหล่าเป็นโอกาสสำคัญของการวิจัยที่จะขยายพรมแดนใหม่ ๆ ให้กับความรู้ภาคใต้ ที่จะเชื่อมโยงกับการเข้าใจโลกหลังอาณานิคม 

สรุป

จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม

ในบทบรรยายข้างต้น ผมจึงตั้งคำถามว่า ภาคใต้หลังอาณานิคมจะเกิดขึ้นได้ไหม แนวทางในการคิดเท่าที่ผมจะคิดได้ในขณะนี้ ก็เป็นอย่างที่ผมเสนอไปข้างต้นนั้น 

อนุสนธิหลังการบรรยาย

ผมไม่ประหลาดใจแต่เสียใจอยู่บ้างที่ จนถึงทุกวันนี้แล้วยังมีคนแปะป้ายผมง่าย ๆ ว่าเป็นพวก “โพสโมเดิร์น” ที่จริงโลกนี้ในปัจจุบันพ้นไกลจากโลกโพสต์โมเดิร์นยุคแรกมานานแล้ว แล้วเมื่อสิบว่าปีที่แล้ว ผมก็เคยถูกเรียกจากบรรดาชาย-หญิงชรามากมายด้วยป้ายนี้ อย่างฉาบฉวยจนที่ไม่แน่ใจว่าคนเหล่านั้นเข้าใจสิ่งที่เขาประณามมากน้อยแค่ไหน  

อีกป้ายที่ผมมักถูกแปะคือป้ายการเป็นคนไหลตามกระแสความคิด “ตะวันตก” ในการบรรยายข้างต้น แม้นบันทึก ผมยังไม่ได่เอ่ยชื่อฟูโกต์ (ผ้ที่ตอบโต้ผมคงจะหมายถึง Michel Foucault) สักคำ แล้วความคิดผมในบทบรรยายนี้ก็ไม่ได้มาจากฟูโกต์เลยด้วยซ้ำ แต่ผมอาศัยแนวคิดหลาย ๆ แนวที่คาบเกี่ยวกับแนวคิด “หลังอาณานิคม” หรือ “โพสต์โคโลเนียลสิสม์” (post-colonialism) แล้วโพสต์โคโลเนียลลิสม์น่ะ คนริเริ่มและสานต่อก็มีแต่พวก “แขก” กับ “คนนอกตะวันตก” ทั้งนั้น ส่วนแนวคิด “คอสโมโพลิแทนนิสม์” (cosmopolitanism) ผมก็เอามาจากทั้งชาวอินเดีย ชาวมลายู ชาวจีน และชาวทมิฬในมาเลเซีย ผสมกับคนตะวันตกในซีกโลกใต้ที่เป็นอาณานิคมตะวันตกในซีกโลกเหนือมาก่อน อย่างคนอาเจนตินาและคนแอฟริกัน ปนเปกับคนปาเลสไตน์ คนเหล่านี้อยู่อยู่ใต้อิทธิพลตะวันตกแล้วรู้เท่าทันตะวันตกจนสามารถต่อกรกับตะวันตกได้ ไม่ใช่ปลีกตัวออกห่างแต่ไม่รู้ว่าวิธีปลีกตัวออกห่างนั้นแท้จริงก็ยังไม่พ้นความเป็นตะวันตกนะครับ 

ส่วนแนวคิด “ท้องถิ่นนิยม” น่ะ ก็กลับมีรากใน “ตะวันตก” มากกว่าใน “ตะวันออก” นะครับ เพียงแต่ท้องถิ่นนิยมเป็นตะวันตกที่นิยมชาวบ้าน เกิดในยุคปรัชญาโรแมนติกซิสม์ในเยอรมนี มีนักวิชาการอย่างแฮร์เดอร์ (J. G. Herder) และพี่น้องกริมม์ (Jacob Grimm และ Wilhelm Grimm) ในคริสตศตวรรษที่ 18 เป็นนักคิดสำคัญ แนวคิดพวกเขาทำให้การศึกษาภาษาท้องถิ่นและคติชาวบ้านได้รับความสนใจและถูกยกย่องว่ามีคุณค่าไม่ด้อยไปกว่าการศึกษาภาษาและวรรณกรรมของชนชั้นสูง ความคิดนี้เป็นรากฐานสำคัญของวิชามานุษยวิทยาและวิชาภาษาศาตร์สมัยใหม่จนกระทั่งปัจจุบัน 

อย่าคิดว่าแนวคิดท้องถิ่นนิยมเป็นแนวคิดตะวันออกนะครับ แนวคิดตะวันออกแบบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปน่ะ ถ้าไม่เรื่องแถน เรื่องเงือก เรื่องผี ก็เป็นแนวคิดที่มากดทับแนวคิดเก่าแก่เหล่านี้จากอิทธิพลของศาสนาใหญ่ ๆ ของโลก ซึ่งส่วนมากมาจาก “ตะวันตก” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างฮินดู พุทธ อิสลาม และคริสต์ หรือไม่ก็มาจากซีกโลกทางเหนืออย่างจีน จะแบ่งโลกแบบตะวันออก ตะวันตก ก็ขอให้รู้เท่าทันการแบ่งด้วยครับ ถ้าอยากสนทนาเรื่องแถนน่ะ ผมรู้ไม่น้อยไปกว่าใคร ๆ นะครับ ลองค้นชื่อผมดูในห้องสมุดได้

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์