Skip to main content

ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้

 

นอกเหนือจากงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์และสารคดีจำนวนค่อนข้างมากแล้ว งานวิชาการที่พยายามทำความเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากมุมมองทางสังคม-วัฒนธรรมยังคงมีค่อนข้างจำกัด หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เรายังไม่ค่อยเข้าใจกันดีนักว่าสังคมแบบไหนกันที่ก่อให้เกิดความรุนแรงอย่างเลือดเย็นกลางเมืองได้ขนาดนี้ เท่าที่ผมรู้ ผมนึกถึงงานอยู่ 3 ชิ้น  

 

ชิ้นแรกต้องถือว่าออกมาทันเหตุการณ์มากที่สุด โดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ซึ่งนั่นหมายความว่าเป็นงานที่ทำให้ความรุนแรงในสังคมไทยเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก ก็คือบทความของ Benedict Anderson ชื่อ Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup (1977) ที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริแปลและตั้งชื่อภาษาไทยให้อย่างเฉียบคมว่า "บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม" (http://www.openbase.in.th/…/ebo…/textbookproject/tbpj198.pdf) บทความนี้ให้ความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้น ที่สังคมไทยสร้างชนชั้นใหม่ขึ้นมา แล้วพวกเขาก็ลุกขึ้นมาเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง แล้วก็ถูกปราบปรามในที่สุด  

 

บทความนี้เป็นงานคลาสสิกทั้งในแง่กรอบการวิเคราะห์ชนขั้นแบบมาร์กซิสม์ และการให้ภาพความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเมื่อ 4 ทศวรรษที่ยังคงเป็นพื้นฐานให้กับความเข้าใจสังคมไทยปัจจุบันได้อย่างดี

 

งานอีกชิ้นหนึ่งเป็นผลงานจากวิจัยของอาจารย์ธงชัย วินิจจกูล ออกมาเป็นหนังสือแล้วชื่อ "6 ตุลา : ลืมไม่ได้ จำไม่ลง" (2558) (http://www.sameskybooks.net/books/6oct1976/) จัดพิมพ์โดยฟ้าเดียวกัน หนังสือนี้เป็นผลจากการทำวิจัยและเรียบเรียงยาวนานหลายปีของอาจารย์ธงชัย (https://www.academia.edu/…/2011_2554_6_ตุลาในความทรงจําของฝ…) ที่โดดเด่นคือการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา เป็นมุมมองจากซีกของ "ฝ่ายขวา" ข้อท้าทายในแง่ของการวิจัยคือ เป็นการศึกษาฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับผู้ศึกษา เป็นการเผชิญหน้ากับผู้ก่อความรุนแรงของเหยื่อความรุนแรง ที่กลายมาเป็นผู้วิจัยผู้ก่อความรุนแรง

 

แต่งานอีกชิ้นหนึ่งที่อยากแนะนำให้หามาอ่านคืองานของ Katherine Bowie (แคทเธอรีน บาววี่) ที่เป็นหนังสือชื่อ Rituals of National Loyalty: An Anthropology of the State and the Village Scout Movement in ail and. (1997) น่าเสียดายที่ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ของอาจารย์แคท แต่เป็นผลพลอยได้จากการเก็บข้อมูลระหว่างที่อาจารย์มาทำวิจัยภาคสนามในหมู่บ้านที่เชียงใหม่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 อาจารย์แคทเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องประวัติศาสตร์ชาวนาในภาคเหนือปลายศตวรรษที่ 19 แต่อาจารย์ยังไม่ยอมพิมพ์ผลงานวิทยานิพนธ์ เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยกับท่านเอง จากนั้นหลังศึกษาจบ อาจารย์ก็เก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้

 

หนังสือเล่มนี้บทแรกกล่าวถึงทฤษฎีที่ใช้ศึกษา บอกตามตรงว่าเมื่ออ่านแรกๆ ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์แคทโดยตรง ผมตั้งข้อกังขากับแนวคิดมาร์กซิสม์ที่อาจารย์แคทใช้เป็นแกนนำของหนังสืออย่างมาก ในช่วงที่ผมไปเรียน คือปี 1998 หนึ่งปีหลังหนังสือนี้ออกมา งานวิชาการละทิ้งแนวคิดมาร์กซิสม์และการวิเคราะห์ชนชั้นไปหมดแล้ว ความคิดที่ใหม่กว่าในการเข้าใจประวัติศาสตร์ นอกจากแนวคิดแบบฟูโกต์ที่ว่าด้วยการประกอบสร้างความรู้ ก็ต้องเป็นเรื่องการศึกษาความทรงจำ ที่อาจารย์ธงชัยใช้เป็นส่วนใหญ่ ถึงอย่างนั้นก็ตาม ข้อที่น่าสนใจของแนวคิดที่อาจารย์แคทใช้คือมโนทัศน์เรื่อง efficacy ที่ใช้อธิบายว่าทำไมอุดมการณ์ "ความจงรักภักดี" จึงได้ผลนัก ในแง่นี้งานอาจารย์แคทก็ขยับจากการใช้มาร์กซิสม์แบบเน้นเศรษฐกิจไปสู่เรื่องอุดมการณ์มากขึ้น

 

ถัดจากบททฤษฎี อีกสามบทต่อมาว่าด้วยประวัติศาสตร์ แต่อาจารย์เน้นบุคคลที่มีบทบาทในการก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งเป็นมวลชนกลุ่มหลักที่อาจารย์ให้ความสำคัญในหนังสือเล่มนี้ และก็แน่นอนว่าเป็นมวลชนฝ่ายขวาที่มีบทบาทหลักในช่วงสงครามเย็น หรือสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย แม้ว่าสามบทนี้จะเป็นการเรียบเรียงจากข้อมูลประวัติศาสตร์ที่มักเข้าถึงได้ทั่วไป แต่ผมว่ามีข้อโดดเด่นอยู่สองอย่าง หนึ่งคือ รวมรวมข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวาง ตรงไปตรงมา อ่านแล้วรู้เลยว่าใครเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ใครต้องรับผิดชอบกับความสูญเสีย แต่ใครเหล่านั้นกลับได้ดิบได้ดีหลังเหตุการณ์ สองคือ การสัมภาษณ์ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน ที่เรียกได้ว่าเป็นการชี้บทบาทของผู้กระทำการในการเมืองระดับประเทศ

 

บทที่น่าตื่นเต้นอยู่ใน Part Two เป็นสามบทที่ว่าด้วยหมู่บ้านเชียงใหม่ที่อาจารย์มีส่วนได้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ที่ชวนติดตามที่สุดคือการบันทึกให้เห็นการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านในหมู่บ้าน อาจารย์แคทใช้แนวคิดการวิเคราะห์พิธีกรรมมาเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงการอบรมลูกเสือชาวบ้านกับอุดมการณ์ของรัฐ การอบรมลูกเสือชาวบ้านจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านสถานะของชาวบ้านในหมู่บ้านชนบท จากประชาชนธรรมดา ให้กลายเป็นมวลชนผู้จงรักภักดีอย่างสุดจิตสุดใจต่อประเทศชาติ อันมีสถาบันกษัตริย์เป็นองค์สัญลักษณ์สำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์แคทชี้ให้เห็นว่า พิธีกรรมนี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พิธีกรรมอบรมลูกเสือชาวบ้านใช้ได้ดีกับคนบางกลุ่มในหมู่บ้านเท่านั้น นั่นคือกับคนชั้นกลางและชนชั้นนำในหมู่บ้านเท่านั้น ส่วนกับชนชั้นล่าง คนจนในหมู่บ้าน พวกเขาไม่ได้ "อิน" กับการอบรมลูกเสือชาวบ้านจนถึงขนาดฟูมฟายปลาบปลื้มจนร้องห่มร้องไห้อย่างตื้นตันที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้จงรักภักดีในตอนท้ายของการอบมเท่ากับพวกที่ชนชั้นกลางและชนชั้นนำรู้สึก  

 

โดยรวมแล้ว หนังสือเล่มนี้ถือเป็นการศึกษารัฐในแนวทางแบบมานุษยวิทยาเล่มแรกๆ ของการศึกษารัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไปไกลกว่างานของ Clifford Geertz เรื่อง Negara: The Theatre State in Nineteenth-Century Bali. (1981) (ที่อาจารย์สมเกียรติ วันทะนะแปลว่า "นาฏรัฐ") มากโข ทั้งในเชิงแนวทฤษฎีและวิธีการเก็บข้อมูลภาคสนาม อีกทั้งมีการวิเคราะห์ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลาง ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน  

 

นอกจากนั้นงานอาจารย์แคทยังเป็นบทบันทึกของเหตุการณ์ในอดีตที่แทบจะไม่มีการบันทึกกันไว้ก่อน นั่นคือการอบรมลูกเสือชาวบ้านในหมู่บ้าน ข้อมูลที่อาจารย์เองก็ไม่นึกว่าจะมีประโยชน์จึงกลับเผยให้เห็นภาพการทำงานของรัฐในระดับจิตสำนึก อุดมการณ์ และกระทั่งอารมณ์ ผ่านพิธีกรรมที่ได้ผลลึกซึ้ง แต่กระนั้นก็ตาม ความรู้สึกนี้ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงมวลชนรากหญ้าอีกมาก ด้วยข้อจำกัดของความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่รัฐไม่ได้พยายามแก้ไขอย่างจริงจัง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จริงหรือที่นักศึกษาไม่สนใจการเมือง ขบวนการนักศึกษาตายแล้วจริงหรือ ถ้าคุณไม่เข้าใจว่าการถกเถียงเรื่องเครื่องแบบ เรื่องทรงผม เรื่องห้องเรียน เป็นเรื่องการเมืองได้อย่างไร แล้วดูแคลนว่ามันเป็นเพียงเรื่องเสรีภาพส่วนตัว เรื่องเรียกร้องเสรีภาพอย่างเกินเลยแล้วล่ะก็ คุณตกขบวนการเมืองของยุคสมัยไปแล้วล่ะ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่กำลังจะมีการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะบุคคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ผู้หนึ่ง ผมขอเสนอ 5 เรื่องเร่งด่วนที่อธิการบดีคนต่อไปควรเร่งพิจารณา เพื่ิอกอบกู้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ เป็นบ่อน้ำบำบัดผู้กระหายความรู้ และเป็นสถาบันที่เคียงข้างประชาชนต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษาไทยไทย: ความสำเร็จหรือความล้มเหลว" เป็นโจทย์ที่นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ตั้งขึ้นอย่างท้าทาย พวกเขาท้าทายทั้งระบบการเรียนการสอน วัฒนธรรมการศึกษา เนื้อหาในหลักสูตร และระบบสังคมในสถานศึกษา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะที่ร่วมก่อตั้งและร่วมงานกับ "ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53" (ศปช.) ผมอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบสปิริตของการทำงานของ ศปช. กับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่ามองหลักสิทธิมนุษยชนต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ดี นี่เป็นทัศนะและหลักการของผมเองในการร่วมงานกับ ศปช. ซึ่งอาจแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำตัดสินของศาลอาญาในกรณี 6 ศพวัดประทุมฯ ชวนให้นึกถึงภาพถ่ายเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ใต้ต้นมะขามต้นหนึ่งที่สนามหลวง นอกจากภาพชายคนที่ใช้เก้าอี้ตีศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามแล้ว ภาพผู้คนที่รายล้อมต้นมะขามซึ่งแสดงอาการเห็นดีเห็นงามหรือกระทั่งสนับสนุนอยู่นั้น สะเทือนขวัญชาวโลกไม่น้อยกว่าภาพชายใช้เก้าอี้ทำร้ายศพ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเคยนั่งในพิธีรับปริญญาบัตรในฐานะผู้รับและในมุมมองของผู้ให้มาแล้ว แต่ไม่เคยได้นั่งในพิธีในฐานะผู้สังเกตการณ์จากบนเวทีแบบเมื่อครั้งที่ผ่านมานี้มาก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฐมลิขิต: ใครรังเกียจทฤษฎี เกลียดงานเขียนแบบหอคอยงาช้าง ไม่ต้องพลิกอ่านก็ได้นะครับ และเวลาผมใส่วงเล็บภาษาอังกฤษหรืออ้างนักคิดต่างๆ นี่ ไม่ได้จะโอ่ให้ดูขลังนะครับ แต่เพื่อให้เชื่อมกับโลกวิชาการสากลได้ ให้ใครสนใจสืบค้นอ่านต่อได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะว่าไป กสทช. คนที่แสดงความเห็นต่อเนื้อหาละครฮอร์โมนนั้น ดูน่าจะเป็นคนที่สามารถวิเคราะห์ เข้าใจสังคมได้มากที่สุดในบรรดา กสทช. ทั้ง 11 คน เพราะเขามีดีกรีถึงปริญญาเอกทางสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโด่งดังในเยอรมนี ต่างจากคนอื่นๆ ที่ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นทหารหรือใครที่สมยอมกับการรัฐประหารปี 2549 แล้ว ก็เป็นช่างเทคนิคทางด้านการสื่อสาร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ผู้หญิงท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า "ไม่รู้อาจารย์ผู้ชายทนสอนหนังสือต่อหน้านักศึกษานุ่งสั้นที่นั่งเปิดหวอหน้าห้องเรียนได้อย่างไร" สำหรับผม ก็แค่เห็นนักศึกษาเป็นลูกเป็นหลานก็เท่านั้น แต่สิ่งยั่วยวนในโลกทางวิชาการมีมากกว่านั้นเยอะ และบางทีจะยิ่งหลบเลี่ยงยากยิ่งกว่าการสร้าง incest taboo ในจินตนาการขึ้นมาหน้าห้องเรียน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนมนุษยศาสตร์จำนวนมากสนใจวิธีการและทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ แต่นักสังคมศาสตร์เขาตั้งท่าทำวิจัยกันอย่างไร แล้วหากนักมนุษยศาสตร์จะใช้วิธีการและทฤษฎีแบบสังคมศาสตร์บ้างจะทำอย่างไร