Skip to main content

ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้

 

นอกเหนือจากงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์และสารคดีจำนวนค่อนข้างมากแล้ว งานวิชาการที่พยายามทำความเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากมุมมองทางสังคม-วัฒนธรรมยังคงมีค่อนข้างจำกัด หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เรายังไม่ค่อยเข้าใจกันดีนักว่าสังคมแบบไหนกันที่ก่อให้เกิดความรุนแรงอย่างเลือดเย็นกลางเมืองได้ขนาดนี้ เท่าที่ผมรู้ ผมนึกถึงงานอยู่ 3 ชิ้น  

 

ชิ้นแรกต้องถือว่าออกมาทันเหตุการณ์มากที่สุด โดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ซึ่งนั่นหมายความว่าเป็นงานที่ทำให้ความรุนแรงในสังคมไทยเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก ก็คือบทความของ Benedict Anderson ชื่อ Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup (1977) ที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริแปลและตั้งชื่อภาษาไทยให้อย่างเฉียบคมว่า "บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม" (http://www.openbase.in.th/…/ebo…/textbookproject/tbpj198.pdf) บทความนี้ให้ความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้น ที่สังคมไทยสร้างชนชั้นใหม่ขึ้นมา แล้วพวกเขาก็ลุกขึ้นมาเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง แล้วก็ถูกปราบปรามในที่สุด  

 

บทความนี้เป็นงานคลาสสิกทั้งในแง่กรอบการวิเคราะห์ชนขั้นแบบมาร์กซิสม์ และการให้ภาพความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเมื่อ 4 ทศวรรษที่ยังคงเป็นพื้นฐานให้กับความเข้าใจสังคมไทยปัจจุบันได้อย่างดี

 

งานอีกชิ้นหนึ่งเป็นผลงานจากวิจัยของอาจารย์ธงชัย วินิจจกูล ออกมาเป็นหนังสือแล้วชื่อ "6 ตุลา : ลืมไม่ได้ จำไม่ลง" (2558) (http://www.sameskybooks.net/books/6oct1976/) จัดพิมพ์โดยฟ้าเดียวกัน หนังสือนี้เป็นผลจากการทำวิจัยและเรียบเรียงยาวนานหลายปีของอาจารย์ธงชัย (https://www.academia.edu/…/2011_2554_6_ตุลาในความทรงจําของฝ…) ที่โดดเด่นคือการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา เป็นมุมมองจากซีกของ "ฝ่ายขวา" ข้อท้าทายในแง่ของการวิจัยคือ เป็นการศึกษาฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับผู้ศึกษา เป็นการเผชิญหน้ากับผู้ก่อความรุนแรงของเหยื่อความรุนแรง ที่กลายมาเป็นผู้วิจัยผู้ก่อความรุนแรง

 

แต่งานอีกชิ้นหนึ่งที่อยากแนะนำให้หามาอ่านคืองานของ Katherine Bowie (แคทเธอรีน บาววี่) ที่เป็นหนังสือชื่อ Rituals of National Loyalty: An Anthropology of the State and the Village Scout Movement in ail and. (1997) น่าเสียดายที่ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ของอาจารย์แคท แต่เป็นผลพลอยได้จากการเก็บข้อมูลระหว่างที่อาจารย์มาทำวิจัยภาคสนามในหมู่บ้านที่เชียงใหม่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 อาจารย์แคทเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องประวัติศาสตร์ชาวนาในภาคเหนือปลายศตวรรษที่ 19 แต่อาจารย์ยังไม่ยอมพิมพ์ผลงานวิทยานิพนธ์ เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยกับท่านเอง จากนั้นหลังศึกษาจบ อาจารย์ก็เก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้

 

หนังสือเล่มนี้บทแรกกล่าวถึงทฤษฎีที่ใช้ศึกษา บอกตามตรงว่าเมื่ออ่านแรกๆ ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์แคทโดยตรง ผมตั้งข้อกังขากับแนวคิดมาร์กซิสม์ที่อาจารย์แคทใช้เป็นแกนนำของหนังสืออย่างมาก ในช่วงที่ผมไปเรียน คือปี 1998 หนึ่งปีหลังหนังสือนี้ออกมา งานวิชาการละทิ้งแนวคิดมาร์กซิสม์และการวิเคราะห์ชนชั้นไปหมดแล้ว ความคิดที่ใหม่กว่าในการเข้าใจประวัติศาสตร์ นอกจากแนวคิดแบบฟูโกต์ที่ว่าด้วยการประกอบสร้างความรู้ ก็ต้องเป็นเรื่องการศึกษาความทรงจำ ที่อาจารย์ธงชัยใช้เป็นส่วนใหญ่ ถึงอย่างนั้นก็ตาม ข้อที่น่าสนใจของแนวคิดที่อาจารย์แคทใช้คือมโนทัศน์เรื่อง efficacy ที่ใช้อธิบายว่าทำไมอุดมการณ์ "ความจงรักภักดี" จึงได้ผลนัก ในแง่นี้งานอาจารย์แคทก็ขยับจากการใช้มาร์กซิสม์แบบเน้นเศรษฐกิจไปสู่เรื่องอุดมการณ์มากขึ้น

 

ถัดจากบททฤษฎี อีกสามบทต่อมาว่าด้วยประวัติศาสตร์ แต่อาจารย์เน้นบุคคลที่มีบทบาทในการก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งเป็นมวลชนกลุ่มหลักที่อาจารย์ให้ความสำคัญในหนังสือเล่มนี้ และก็แน่นอนว่าเป็นมวลชนฝ่ายขวาที่มีบทบาทหลักในช่วงสงครามเย็น หรือสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย แม้ว่าสามบทนี้จะเป็นการเรียบเรียงจากข้อมูลประวัติศาสตร์ที่มักเข้าถึงได้ทั่วไป แต่ผมว่ามีข้อโดดเด่นอยู่สองอย่าง หนึ่งคือ รวมรวมข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวาง ตรงไปตรงมา อ่านแล้วรู้เลยว่าใครเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ใครต้องรับผิดชอบกับความสูญเสีย แต่ใครเหล่านั้นกลับได้ดิบได้ดีหลังเหตุการณ์ สองคือ การสัมภาษณ์ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน ที่เรียกได้ว่าเป็นการชี้บทบาทของผู้กระทำการในการเมืองระดับประเทศ

 

บทที่น่าตื่นเต้นอยู่ใน Part Two เป็นสามบทที่ว่าด้วยหมู่บ้านเชียงใหม่ที่อาจารย์มีส่วนได้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ที่ชวนติดตามที่สุดคือการบันทึกให้เห็นการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านในหมู่บ้าน อาจารย์แคทใช้แนวคิดการวิเคราะห์พิธีกรรมมาเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงการอบรมลูกเสือชาวบ้านกับอุดมการณ์ของรัฐ การอบรมลูกเสือชาวบ้านจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านสถานะของชาวบ้านในหมู่บ้านชนบท จากประชาชนธรรมดา ให้กลายเป็นมวลชนผู้จงรักภักดีอย่างสุดจิตสุดใจต่อประเทศชาติ อันมีสถาบันกษัตริย์เป็นองค์สัญลักษณ์สำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์แคทชี้ให้เห็นว่า พิธีกรรมนี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พิธีกรรมอบรมลูกเสือชาวบ้านใช้ได้ดีกับคนบางกลุ่มในหมู่บ้านเท่านั้น นั่นคือกับคนชั้นกลางและชนชั้นนำในหมู่บ้านเท่านั้น ส่วนกับชนชั้นล่าง คนจนในหมู่บ้าน พวกเขาไม่ได้ "อิน" กับการอบรมลูกเสือชาวบ้านจนถึงขนาดฟูมฟายปลาบปลื้มจนร้องห่มร้องไห้อย่างตื้นตันที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้จงรักภักดีในตอนท้ายของการอบมเท่ากับพวกที่ชนชั้นกลางและชนชั้นนำรู้สึก  

 

โดยรวมแล้ว หนังสือเล่มนี้ถือเป็นการศึกษารัฐในแนวทางแบบมานุษยวิทยาเล่มแรกๆ ของการศึกษารัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไปไกลกว่างานของ Clifford Geertz เรื่อง Negara: The Theatre State in Nineteenth-Century Bali. (1981) (ที่อาจารย์สมเกียรติ วันทะนะแปลว่า "นาฏรัฐ") มากโข ทั้งในเชิงแนวทฤษฎีและวิธีการเก็บข้อมูลภาคสนาม อีกทั้งมีการวิเคราะห์ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลาง ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน  

 

นอกจากนั้นงานอาจารย์แคทยังเป็นบทบันทึกของเหตุการณ์ในอดีตที่แทบจะไม่มีการบันทึกกันไว้ก่อน นั่นคือการอบรมลูกเสือชาวบ้านในหมู่บ้าน ข้อมูลที่อาจารย์เองก็ไม่นึกว่าจะมีประโยชน์จึงกลับเผยให้เห็นภาพการทำงานของรัฐในระดับจิตสำนึก อุดมการณ์ และกระทั่งอารมณ์ ผ่านพิธีกรรมที่ได้ผลลึกซึ้ง แต่กระนั้นก็ตาม ความรู้สึกนี้ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงมวลชนรากหญ้าอีกมาก ด้วยข้อจำกัดของความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่รัฐไม่ได้พยายามแก้ไขอย่างจริงจัง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก