Skip to main content

ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้

 

นอกเหนือจากงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์และสารคดีจำนวนค่อนข้างมากแล้ว งานวิชาการที่พยายามทำความเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากมุมมองทางสังคม-วัฒนธรรมยังคงมีค่อนข้างจำกัด หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เรายังไม่ค่อยเข้าใจกันดีนักว่าสังคมแบบไหนกันที่ก่อให้เกิดความรุนแรงอย่างเลือดเย็นกลางเมืองได้ขนาดนี้ เท่าที่ผมรู้ ผมนึกถึงงานอยู่ 3 ชิ้น  

 

ชิ้นแรกต้องถือว่าออกมาทันเหตุการณ์มากที่สุด โดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ซึ่งนั่นหมายความว่าเป็นงานที่ทำให้ความรุนแรงในสังคมไทยเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก ก็คือบทความของ Benedict Anderson ชื่อ Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup (1977) ที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริแปลและตั้งชื่อภาษาไทยให้อย่างเฉียบคมว่า "บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม" (http://www.openbase.in.th/…/ebo…/textbookproject/tbpj198.pdf) บทความนี้ให้ความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้น ที่สังคมไทยสร้างชนชั้นใหม่ขึ้นมา แล้วพวกเขาก็ลุกขึ้นมาเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง แล้วก็ถูกปราบปรามในที่สุด  

 

บทความนี้เป็นงานคลาสสิกทั้งในแง่กรอบการวิเคราะห์ชนขั้นแบบมาร์กซิสม์ และการให้ภาพความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเมื่อ 4 ทศวรรษที่ยังคงเป็นพื้นฐานให้กับความเข้าใจสังคมไทยปัจจุบันได้อย่างดี

 

งานอีกชิ้นหนึ่งเป็นผลงานจากวิจัยของอาจารย์ธงชัย วินิจจกูล ออกมาเป็นหนังสือแล้วชื่อ "6 ตุลา : ลืมไม่ได้ จำไม่ลง" (2558) (http://www.sameskybooks.net/books/6oct1976/) จัดพิมพ์โดยฟ้าเดียวกัน หนังสือนี้เป็นผลจากการทำวิจัยและเรียบเรียงยาวนานหลายปีของอาจารย์ธงชัย (https://www.academia.edu/…/2011_2554_6_ตุลาในความทรงจําของฝ…) ที่โดดเด่นคือการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา เป็นมุมมองจากซีกของ "ฝ่ายขวา" ข้อท้าทายในแง่ของการวิจัยคือ เป็นการศึกษาฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับผู้ศึกษา เป็นการเผชิญหน้ากับผู้ก่อความรุนแรงของเหยื่อความรุนแรง ที่กลายมาเป็นผู้วิจัยผู้ก่อความรุนแรง

 

แต่งานอีกชิ้นหนึ่งที่อยากแนะนำให้หามาอ่านคืองานของ Katherine Bowie (แคทเธอรีน บาววี่) ที่เป็นหนังสือชื่อ Rituals of National Loyalty: An Anthropology of the State and the Village Scout Movement in ail and. (1997) น่าเสียดายที่ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ของอาจารย์แคท แต่เป็นผลพลอยได้จากการเก็บข้อมูลระหว่างที่อาจารย์มาทำวิจัยภาคสนามในหมู่บ้านที่เชียงใหม่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 อาจารย์แคทเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องประวัติศาสตร์ชาวนาในภาคเหนือปลายศตวรรษที่ 19 แต่อาจารย์ยังไม่ยอมพิมพ์ผลงานวิทยานิพนธ์ เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยกับท่านเอง จากนั้นหลังศึกษาจบ อาจารย์ก็เก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้

 

หนังสือเล่มนี้บทแรกกล่าวถึงทฤษฎีที่ใช้ศึกษา บอกตามตรงว่าเมื่ออ่านแรกๆ ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์แคทโดยตรง ผมตั้งข้อกังขากับแนวคิดมาร์กซิสม์ที่อาจารย์แคทใช้เป็นแกนนำของหนังสืออย่างมาก ในช่วงที่ผมไปเรียน คือปี 1998 หนึ่งปีหลังหนังสือนี้ออกมา งานวิชาการละทิ้งแนวคิดมาร์กซิสม์และการวิเคราะห์ชนชั้นไปหมดแล้ว ความคิดที่ใหม่กว่าในการเข้าใจประวัติศาสตร์ นอกจากแนวคิดแบบฟูโกต์ที่ว่าด้วยการประกอบสร้างความรู้ ก็ต้องเป็นเรื่องการศึกษาความทรงจำ ที่อาจารย์ธงชัยใช้เป็นส่วนใหญ่ ถึงอย่างนั้นก็ตาม ข้อที่น่าสนใจของแนวคิดที่อาจารย์แคทใช้คือมโนทัศน์เรื่อง efficacy ที่ใช้อธิบายว่าทำไมอุดมการณ์ "ความจงรักภักดี" จึงได้ผลนัก ในแง่นี้งานอาจารย์แคทก็ขยับจากการใช้มาร์กซิสม์แบบเน้นเศรษฐกิจไปสู่เรื่องอุดมการณ์มากขึ้น

 

ถัดจากบททฤษฎี อีกสามบทต่อมาว่าด้วยประวัติศาสตร์ แต่อาจารย์เน้นบุคคลที่มีบทบาทในการก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งเป็นมวลชนกลุ่มหลักที่อาจารย์ให้ความสำคัญในหนังสือเล่มนี้ และก็แน่นอนว่าเป็นมวลชนฝ่ายขวาที่มีบทบาทหลักในช่วงสงครามเย็น หรือสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย แม้ว่าสามบทนี้จะเป็นการเรียบเรียงจากข้อมูลประวัติศาสตร์ที่มักเข้าถึงได้ทั่วไป แต่ผมว่ามีข้อโดดเด่นอยู่สองอย่าง หนึ่งคือ รวมรวมข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวาง ตรงไปตรงมา อ่านแล้วรู้เลยว่าใครเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ใครต้องรับผิดชอบกับความสูญเสีย แต่ใครเหล่านั้นกลับได้ดิบได้ดีหลังเหตุการณ์ สองคือ การสัมภาษณ์ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน ที่เรียกได้ว่าเป็นการชี้บทบาทของผู้กระทำการในการเมืองระดับประเทศ

 

บทที่น่าตื่นเต้นอยู่ใน Part Two เป็นสามบทที่ว่าด้วยหมู่บ้านเชียงใหม่ที่อาจารย์มีส่วนได้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ที่ชวนติดตามที่สุดคือการบันทึกให้เห็นการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านในหมู่บ้าน อาจารย์แคทใช้แนวคิดการวิเคราะห์พิธีกรรมมาเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงการอบรมลูกเสือชาวบ้านกับอุดมการณ์ของรัฐ การอบรมลูกเสือชาวบ้านจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านสถานะของชาวบ้านในหมู่บ้านชนบท จากประชาชนธรรมดา ให้กลายเป็นมวลชนผู้จงรักภักดีอย่างสุดจิตสุดใจต่อประเทศชาติ อันมีสถาบันกษัตริย์เป็นองค์สัญลักษณ์สำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์แคทชี้ให้เห็นว่า พิธีกรรมนี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พิธีกรรมอบรมลูกเสือชาวบ้านใช้ได้ดีกับคนบางกลุ่มในหมู่บ้านเท่านั้น นั่นคือกับคนชั้นกลางและชนชั้นนำในหมู่บ้านเท่านั้น ส่วนกับชนชั้นล่าง คนจนในหมู่บ้าน พวกเขาไม่ได้ "อิน" กับการอบรมลูกเสือชาวบ้านจนถึงขนาดฟูมฟายปลาบปลื้มจนร้องห่มร้องไห้อย่างตื้นตันที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้จงรักภักดีในตอนท้ายของการอบมเท่ากับพวกที่ชนชั้นกลางและชนชั้นนำรู้สึก  

 

โดยรวมแล้ว หนังสือเล่มนี้ถือเป็นการศึกษารัฐในแนวทางแบบมานุษยวิทยาเล่มแรกๆ ของการศึกษารัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไปไกลกว่างานของ Clifford Geertz เรื่อง Negara: The Theatre State in Nineteenth-Century Bali. (1981) (ที่อาจารย์สมเกียรติ วันทะนะแปลว่า "นาฏรัฐ") มากโข ทั้งในเชิงแนวทฤษฎีและวิธีการเก็บข้อมูลภาคสนาม อีกทั้งมีการวิเคราะห์ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลาง ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน  

 

นอกจากนั้นงานอาจารย์แคทยังเป็นบทบันทึกของเหตุการณ์ในอดีตที่แทบจะไม่มีการบันทึกกันไว้ก่อน นั่นคือการอบรมลูกเสือชาวบ้านในหมู่บ้าน ข้อมูลที่อาจารย์เองก็ไม่นึกว่าจะมีประโยชน์จึงกลับเผยให้เห็นภาพการทำงานของรัฐในระดับจิตสำนึก อุดมการณ์ และกระทั่งอารมณ์ ผ่านพิธีกรรมที่ได้ผลลึกซึ้ง แต่กระนั้นก็ตาม ความรู้สึกนี้ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงมวลชนรากหญ้าอีกมาก ด้วยข้อจำกัดของความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่รัฐไม่ได้พยายามแก้ไขอย่างจริงจัง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)