Skip to main content

ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 

 

ผมเพิ่งได้รับเชิญไปเสนองานในการประชุมวิชาการในโอกาสครบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กแก่งกิจการและภาษาต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studie) ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ และก็ได้มีโอกาสเที่ยวในกรุงโซลและบริเวณใกล้เคียงอีกสองวัน 

 

เรื่องที่อยากจะเขียนหลายตอน เพราะมีหลายเรื่อง ที่จริงเรื่องที่มี passion มากที่สุดคือเรื่องอาหารการกิน แต่เอาไว้ก่อนดีกว่า ขอเริ่มที่เรื่องที่เห็นได้ชัด และช่วยให้เข้าใจ "ความเป็นเกาหลี" แบบที่คนเกาหลีเลือกนำเสนอ  

 

เกาหลีที่ไปไม่ว่าจะครั้งแรกหรือครั้งที่สอง ก็มักจะมีเพื่อนชาวเกาหลีนำเสนอผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์ เกี่ยวข้องย้อนกลับไปถึงราชวงศ์และประวัติศาสตร์เกาหลี ตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นในต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อนเกาหลีจึงมักพาไปดูวังเวียงต่างๆ  

 

ไปคราวนี้ ผมได้นักศึกษาปริญญาเอกชาวเกาหลีที่มาเรียนมานุษยวิทยากับผมที่ธรรมศาสตร์พาเที่ยว ก็จึงได้ความรู้มากมาย ขอเรียกรวมๆ ว่า “เพื่อน” แทนแล้วกัน เพราะบางครั้งก็เป็นคำอธิบายจากชาวเกาหลีคนอื่นๆ ผมไปดูวังสองแห่ง แห่งแรกคือที่พำนักชั่วคราวของกษัตริย์ราชวงศ์โชซอน (Joseon) ที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 - 20 เป็นราชวงศ์สุดท้าย ก่อนหน้านี้เป็นราชวงศ์ซิลลา (Silla) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาล 50 กว่าปีมาจนถึงศตวรรษที่ 10  

 

ที่ได้เรียนรู้จากการเดินทางครั้งนี้มีหลายอย่าง หนึ่งคือ อำนาจการปกครองในเกาหลี ทั้งเหนือและใต้ เป็นอิสระจากจีนมายาวนาน ดูได้ จากวัฒนธรรม โบราณวัตถุ ความเชื่อท้องถิ่น และอักษร ส่วนตัวผมสนใจอักษรเป็นพิเศษ อักษรเกาหลีที่ใช้ในปัจจุบันคิดขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แล้วมีการพิมพ์เผยแพร่หนังสือด้วยอักษรนี้ควบคู่กับอักษรและภาษาจีนตั้งแต่อย่างน้อยศตวรรษที่ 15 เช่นกัน เรื่องอักษรนี้ดูจะเป็นเรื่องสำคัญมาก บริเวณลานหน้าพระราชวังกีอองบุ๊กคุงจึงมีหุ่นกษัตริย์ที่ประดิษฐ์อักษรเกาหลีตั้งอยู่ นอกจากนั้นยังมีธรรมเนียมการสร้างสถาปัตยกรรมหินครอบพระพุทธรูป (เรื่องนี้เล่าอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ) ธรรมเนียมการทำสุสานเป็นเนินดินขนาดใหญ่ของราชวงศ์ซิลลา 

 

อีกอย่างที่ได้รู้คือ เกาหลีไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ข้อนี้ไม่แปลก แต่ได้รู้ก็ดี นอกจากมีอาณาจักรเล็กน้อยอย่างน้อย 3-4 อาณาจักรที่ผลัดกันเป็นใหญ่แล้ว แต่ละอาณาจักรก็มีอิทธิพลตั้งต้นจากถิ่นต่างๆ ทางใต้ของเกาหลีใต้บ้าง ทางเหนือบ้าง ภาคกลางบ้าง แต่ที่มีอิทธิพลมากและสืบทอดอำนาจยาวนานคือราชวงศ์ซิลลาและราชวงศ์โชซอน 

 

ราชวงศ์ซิลลามีพื้นฐานปรัชญาความคิดสำคัญคือพุทธศาสนา ส่วนราชวงศ์โชซอนอาศัยปรัชญาขงจื่อเป็นหลัก ที่น่าสนใจคือ เพื่อนเกาหลีอธิบายว่า การที่สถาปัตยกรรมเกาหลียุคโชซอนเรียบง่าย เพราะมีหลักคิดแบบขงจื่อ ผมไม่รู้ว่าขงจื่อในความคิดของเกาหลีเป็นอย่างไรบ้าง แต่เคยอ่านงานของผู้เชี่ยวชาญขงจื่อในเอเชีย เขียนเปรียบเทียบเกาหลี จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม แล้วพบว่า ขงจื่อในเกาหลีนั้นมีอิทธิพลมากยิ่งกว่าในจีนด้วยซ้ำ คงจะเพราะสืบเนื่องยาวนาน สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้จากสถาปัตยกรรมคือ ความเรียบง่าย และไม่ค่อยมีรูปบูชาอะไร ส่วนใหญ่เป็นเส้นสายลวดลายประดับที่เป็นรูปทรงเลขาคณิตและนามธรรม ส่วนสีสันก็มีโทนสีที่ไม่ฉูดฉาด ไม่ค่อยมีทองประดับ 

 

อย่างไรก็ดี เพื่อนเกาหลีเล่าว่า โบราณสถานหลายแห่งถูกทำลายไปด้วยน้ำมือของทหารญี่ปุ่น โบราณวัตถุจำนวนมากก็ถูกขโมยไปญี่ปุ่น ผมถามซื่อๆ ว่าทำไมญี่ปุ่นถึงต้องทำลายวัฒนธรรมเกาหลี เพื่อนเล่าว่า เพราะเขาต้องการทำให้เกาหลีกลายเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่น กลายเป็นญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ในช่วงที่ญี่ปุ่นมาปกครองเกาหลีราว 30 ปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พระราชวังที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ส่วนมากก็ถูกทำลายไป แล้วจึงได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ 

 

ผมถามคนเกาหลีว่า ที่เห็นนักเรียนจำนวนมากสวมชุดประจำชาติเกาหลีนั้น เป็นเพราะเขารักวัฒนธรรมเดิมหรืออย่างไร เพื่อนเกาหลีหัวเราะแล้วบอกว่า ไม่น่าจะใช่ คนรุ่นใหม่เขาไม่สนใจหรอก เขาคงแต่งตัวมาเดินเพราะครูสั่งให้ทำการบ้าน ให้แต่งตัวมาเดินในย่านพระราชวังแล้วถ่ายรูป แต่ผมก็เห็นหลายคนเหมือนเขาชอบอยู่ ถึงอย่างนั้นก็ตาม เพื่อนเกาหลียืนยันว่า คนเกาหลีไม่ได้สนใจราชวงศ์อะไรหรอก เพราะช่วงที่กษัตริย์เสียอำนาจนั้น คนเกาหลีไม่ได้มีส่วนรู้สึกถึงความเป็นประเทศ ไม่ทันได้มีการพัฒนาสำนึกว่ากษัตริย์เกาหลีกับประชาชนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้นมาเลย การเสียอำนาจที่สำคัญคือเสียให้ญี่ปุ่นนั้น ก็เหมือนเป็นการเสียอำนาจของกษัตริย์เองมากกว่า 

 

ผมจึงคิดว่า ความภูมิใจในโบราณสถานและวัฒนธรรมเกาหลี คือการสร้างสำนึกความเป็นเอกเทศของเกาหลี การเป็นเกาหลีที่ไม่อยู่ใต้การปกครองของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น มากกว่าจะถึงกับเป็นการหลงใหลในประเพณีดั้งเดิมหรือประวัติศาสตร์ดั้งเดิมของเกาหลี

 

ชมภาพได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.782899915181728.1073741843.173987589406300&type=1&l=92b62ebfe9

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน