Skip to main content

ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้

1. วิธีจัดแสดงเรื่องเศรษฐกิจ วิกฤตต้มยำกุ้งเกี่ยวกับเรื่องการเงิน เศรษฐกิจ มีตัวเลขมากมาย จึงเป็นเรื่องยากที่จะสื่อสาร งานนี้นอกจากมีข้อมูลดีแล้วยังไม่พอ แต่ยังต้องแปลข้อมูลเป็นคำพูดบอกเล่าด้วยคำง่ายๆ และภาพให้ดีด้วย แต่งานนี้เขาก็ทำได้ดี แม้บางส่วนจะเยอะไปหน่อย บางตอนยังยากอยู่ แต่ก็ยังทำได้ดีกว่าอาจารย์หลายๆ คนที่สอนหนังสือโดยไม่แคร์ว่านักศึกษาจะฟังรู้เรื่องหรือเปล่า

เป็นเรื่องท้าทายที่จะทำนิทรรศการเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน ให้คนเข้าใจได้อย่างไร และนี่น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ในประเทศไทยที่จัดงานแบบนี้กัน

2. การบอกเล่าผลกระทบทางสังคม ที่ยากตามมาคือจะเล่าเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อสังคมอย่างไร ทั้งมิติทางสังคมระดับครัวเรือน มิติทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ วัฒนธรรมการบริโภคก่อนและหลังวิกฤตนี้ พร้อมทั้งแสดงให้เห็นความรู้สึก การสื่อผ่านวัตถุจัดแสดง ช่วยให้สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวทางเศรษฐกิจเข้ากับคนจริงๆ ที่ได้รับผลกระทบได้ดี 

งานนี้อาศัยสิ่งของเป็นตัวเล่าเรื่องเหล่านั้น สิ่งของเหล่านี้ทุกชิ้นล้วนมีจิตวิญญาณ มีชีวิต เพราะมันเป็นประจักษ์พยานของคนที่ใช้มัน งานนี้นำสิ่งของมาเล่าเรื่องได้ดีทีเดียว

3. มองย้อนกลับไปในยุคนั้นแล้ว ครอบครัวผมแทบจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย ที่จริงผมออกจะแปลกใจว่าทำไมครอบครัวผมแทบจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเลย ทั้งๆ ที่พ่อผมทำงานในสายการเงินการธนาคารมาตลอดและตอนนั้นก็ยังเป็นผู้จัดการธนาคารด้วย แต่เป็นธนาคารที่มั่นคงหน่อย ไม่ล้มไปเสียก่อน 

ที่ไม่ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งคงเพราะครอบครัวไม่มีเงินพอที่จะลงทุนกับสถาบันการเงินเหล่านี้ อีกส่วนหนึ่งคงเพราะนิสัยการกินอยู่ที่พ่อและแม่ ที่มีพื้นเพเป็นคนต่างจังหวัด และนิยมชีวิตแบบนั้นพร้อมกับชีวิตสมัยใหม่ที่แค่พอสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิมก็ดีแล้ว นอกจากนั้นยังขี้ขลาดในการลงทุน ไม่หวังรวยเร็ว ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นกันอยู่

4. คนดูน่าจะได้คิดอะไรบ้าง คนรุ่นเดียวกับผมที่เติบโตมาในยุควิกฤติ เขาอาจเพิ่งเป็นหนุ่มสาววัยทำงาน อาจยังเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัย คนรุ่นนี้น่าจะเชื่อมโยงรายละเอียดของชีวิตที่เขาอาจไม่เข้าใจ เข้ากับวิกฤตใหญ่นั้นได้บ้าง ข้าวของหลายอย่าง รวมทั้งสื่อย้อนยุค อย่างตลับเทปเพลงและภาพยนตร์ ที่งานนี้นำมาแสดง เชื่อมชีวิตคนเข้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ดี 

ส่วนคนที่เป็นนักลงทุน คนที่กุมบังเหียนครอบครัว เป็นคนที่รับผิดชอบครอบครัวแล้วกระโจนเข้าไปในกระแสการเงินขณะนั้น น่าจะได้เข้าใจอะไรๆ มากขึ้นบ้างว่า การตัดสินใจของพวกเขานั้นวางอยู่บนโครงการการบริหารที่นำพาทุกคนไปในทิศทางที่ผิดพลาดอย่างไร เขาน่าจะสำนึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของผู้ต้องทำให้ทั้งสังคมแบกรับความผิดพลาดนี้บ้าง หวังว่าเขาจะสำนึก 

ส่วนใครก็ตามที่ไม่เข้าใจรายละเอียดอันโกลาหลของเรื่องรายขณะนั้น ไม่เข้าใจแม้ผ่านชีวิตช่วงนั้นมา ไม่เข้าใจโครงสร้างอารมณ์และปฏิกิริยาต่อเนื่องจากยุคนั้น นิทรรศการนี้เชื่อมโยงให้เห็นได้ดีทีเดียว

5. สำหรับทางออก ผมยังคิดว่านิทรรศการนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้มากนัก ส่วนหนึ่งคงเพราะต้องการเปิดเอาไว้ อีกส่วนหนึ่งคงเพราะขณะนี้เราอยู่ในยุคสมัยที่ไม่เอื้อให้คิดอะไร ยุคที่คนถูกปิดปาก และไม่รู้ว่าจะพูดถึงความหวังไปทำไมในเมื่อเราไม่มีเสรีภาพที่จะคิดจะหวังอะไร 

อีก 20 ปีให้หลัง ถ้าสังคมไทย การเมืองไทย และเศรษฐกิจไทยไม่เลวร้ายนัก เราคงได้เห็นลูกหลานทำนิทรรศการระลึกและชวนให้สำนึกพร้อมตระหนักคิด ว่าความขัดแย้งในประเทศไทยที่ดำเนินมาเกินกว่า 10 ปีแล้วนี้ ผ่านไปอีก 20 ปีคนไทยเรียนรู้หรือไม่เรียนรู้อะไรบ้าง แต่กว่าจะได้เรียนรู้อะไร มันก็สายเกินไปแล้วทุกที

นิทรรศการนี้เริ่มแสดงแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2560 - 2 กรกฎาคม 2560 เข้าชมฟรี ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) เวลา 10:00-18:00 น. นอกจากนั้นโปรดติดตามกิจกรรมต่อเนื่องอีกมากมาย ชวนลูกหลาน เพื่อนร่วมงาน ลูกศิษย์ ญาติพี่น้องไปชมไปติกันเถอะครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง