Skip to main content

ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้

1. วิธีจัดแสดงเรื่องเศรษฐกิจ วิกฤตต้มยำกุ้งเกี่ยวกับเรื่องการเงิน เศรษฐกิจ มีตัวเลขมากมาย จึงเป็นเรื่องยากที่จะสื่อสาร งานนี้นอกจากมีข้อมูลดีแล้วยังไม่พอ แต่ยังต้องแปลข้อมูลเป็นคำพูดบอกเล่าด้วยคำง่ายๆ และภาพให้ดีด้วย แต่งานนี้เขาก็ทำได้ดี แม้บางส่วนจะเยอะไปหน่อย บางตอนยังยากอยู่ แต่ก็ยังทำได้ดีกว่าอาจารย์หลายๆ คนที่สอนหนังสือโดยไม่แคร์ว่านักศึกษาจะฟังรู้เรื่องหรือเปล่า

เป็นเรื่องท้าทายที่จะทำนิทรรศการเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน ให้คนเข้าใจได้อย่างไร และนี่น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ในประเทศไทยที่จัดงานแบบนี้กัน

2. การบอกเล่าผลกระทบทางสังคม ที่ยากตามมาคือจะเล่าเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อสังคมอย่างไร ทั้งมิติทางสังคมระดับครัวเรือน มิติทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ วัฒนธรรมการบริโภคก่อนและหลังวิกฤตนี้ พร้อมทั้งแสดงให้เห็นความรู้สึก การสื่อผ่านวัตถุจัดแสดง ช่วยให้สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวทางเศรษฐกิจเข้ากับคนจริงๆ ที่ได้รับผลกระทบได้ดี 

งานนี้อาศัยสิ่งของเป็นตัวเล่าเรื่องเหล่านั้น สิ่งของเหล่านี้ทุกชิ้นล้วนมีจิตวิญญาณ มีชีวิต เพราะมันเป็นประจักษ์พยานของคนที่ใช้มัน งานนี้นำสิ่งของมาเล่าเรื่องได้ดีทีเดียว

3. มองย้อนกลับไปในยุคนั้นแล้ว ครอบครัวผมแทบจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย ที่จริงผมออกจะแปลกใจว่าทำไมครอบครัวผมแทบจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเลย ทั้งๆ ที่พ่อผมทำงานในสายการเงินการธนาคารมาตลอดและตอนนั้นก็ยังเป็นผู้จัดการธนาคารด้วย แต่เป็นธนาคารที่มั่นคงหน่อย ไม่ล้มไปเสียก่อน 

ที่ไม่ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งคงเพราะครอบครัวไม่มีเงินพอที่จะลงทุนกับสถาบันการเงินเหล่านี้ อีกส่วนหนึ่งคงเพราะนิสัยการกินอยู่ที่พ่อและแม่ ที่มีพื้นเพเป็นคนต่างจังหวัด และนิยมชีวิตแบบนั้นพร้อมกับชีวิตสมัยใหม่ที่แค่พอสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิมก็ดีแล้ว นอกจากนั้นยังขี้ขลาดในการลงทุน ไม่หวังรวยเร็ว ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นกันอยู่

4. คนดูน่าจะได้คิดอะไรบ้าง คนรุ่นเดียวกับผมที่เติบโตมาในยุควิกฤติ เขาอาจเพิ่งเป็นหนุ่มสาววัยทำงาน อาจยังเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัย คนรุ่นนี้น่าจะเชื่อมโยงรายละเอียดของชีวิตที่เขาอาจไม่เข้าใจ เข้ากับวิกฤตใหญ่นั้นได้บ้าง ข้าวของหลายอย่าง รวมทั้งสื่อย้อนยุค อย่างตลับเทปเพลงและภาพยนตร์ ที่งานนี้นำมาแสดง เชื่อมชีวิตคนเข้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ดี 

ส่วนคนที่เป็นนักลงทุน คนที่กุมบังเหียนครอบครัว เป็นคนที่รับผิดชอบครอบครัวแล้วกระโจนเข้าไปในกระแสการเงินขณะนั้น น่าจะได้เข้าใจอะไรๆ มากขึ้นบ้างว่า การตัดสินใจของพวกเขานั้นวางอยู่บนโครงการการบริหารที่นำพาทุกคนไปในทิศทางที่ผิดพลาดอย่างไร เขาน่าจะสำนึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของผู้ต้องทำให้ทั้งสังคมแบกรับความผิดพลาดนี้บ้าง หวังว่าเขาจะสำนึก 

ส่วนใครก็ตามที่ไม่เข้าใจรายละเอียดอันโกลาหลของเรื่องรายขณะนั้น ไม่เข้าใจแม้ผ่านชีวิตช่วงนั้นมา ไม่เข้าใจโครงสร้างอารมณ์และปฏิกิริยาต่อเนื่องจากยุคนั้น นิทรรศการนี้เชื่อมโยงให้เห็นได้ดีทีเดียว

5. สำหรับทางออก ผมยังคิดว่านิทรรศการนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้มากนัก ส่วนหนึ่งคงเพราะต้องการเปิดเอาไว้ อีกส่วนหนึ่งคงเพราะขณะนี้เราอยู่ในยุคสมัยที่ไม่เอื้อให้คิดอะไร ยุคที่คนถูกปิดปาก และไม่รู้ว่าจะพูดถึงความหวังไปทำไมในเมื่อเราไม่มีเสรีภาพที่จะคิดจะหวังอะไร 

อีก 20 ปีให้หลัง ถ้าสังคมไทย การเมืองไทย และเศรษฐกิจไทยไม่เลวร้ายนัก เราคงได้เห็นลูกหลานทำนิทรรศการระลึกและชวนให้สำนึกพร้อมตระหนักคิด ว่าความขัดแย้งในประเทศไทยที่ดำเนินมาเกินกว่า 10 ปีแล้วนี้ ผ่านไปอีก 20 ปีคนไทยเรียนรู้หรือไม่เรียนรู้อะไรบ้าง แต่กว่าจะได้เรียนรู้อะไร มันก็สายเกินไปแล้วทุกที

นิทรรศการนี้เริ่มแสดงแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2560 - 2 กรกฎาคม 2560 เข้าชมฟรี ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) เวลา 10:00-18:00 น. นอกจากนั้นโปรดติดตามกิจกรรมต่อเนื่องอีกมากมาย ชวนลูกหลาน เพื่อนร่วมงาน ลูกศิษย์ ญาติพี่น้องไปชมไปติกันเถอะครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์