Skip to main content

ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้

1. วิธีจัดแสดงเรื่องเศรษฐกิจ วิกฤตต้มยำกุ้งเกี่ยวกับเรื่องการเงิน เศรษฐกิจ มีตัวเลขมากมาย จึงเป็นเรื่องยากที่จะสื่อสาร งานนี้นอกจากมีข้อมูลดีแล้วยังไม่พอ แต่ยังต้องแปลข้อมูลเป็นคำพูดบอกเล่าด้วยคำง่ายๆ และภาพให้ดีด้วย แต่งานนี้เขาก็ทำได้ดี แม้บางส่วนจะเยอะไปหน่อย บางตอนยังยากอยู่ แต่ก็ยังทำได้ดีกว่าอาจารย์หลายๆ คนที่สอนหนังสือโดยไม่แคร์ว่านักศึกษาจะฟังรู้เรื่องหรือเปล่า

เป็นเรื่องท้าทายที่จะทำนิทรรศการเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน ให้คนเข้าใจได้อย่างไร และนี่น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ในประเทศไทยที่จัดงานแบบนี้กัน

2. การบอกเล่าผลกระทบทางสังคม ที่ยากตามมาคือจะเล่าเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อสังคมอย่างไร ทั้งมิติทางสังคมระดับครัวเรือน มิติทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ วัฒนธรรมการบริโภคก่อนและหลังวิกฤตนี้ พร้อมทั้งแสดงให้เห็นความรู้สึก การสื่อผ่านวัตถุจัดแสดง ช่วยให้สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวทางเศรษฐกิจเข้ากับคนจริงๆ ที่ได้รับผลกระทบได้ดี 

งานนี้อาศัยสิ่งของเป็นตัวเล่าเรื่องเหล่านั้น สิ่งของเหล่านี้ทุกชิ้นล้วนมีจิตวิญญาณ มีชีวิต เพราะมันเป็นประจักษ์พยานของคนที่ใช้มัน งานนี้นำสิ่งของมาเล่าเรื่องได้ดีทีเดียว

3. มองย้อนกลับไปในยุคนั้นแล้ว ครอบครัวผมแทบจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย ที่จริงผมออกจะแปลกใจว่าทำไมครอบครัวผมแทบจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเลย ทั้งๆ ที่พ่อผมทำงานในสายการเงินการธนาคารมาตลอดและตอนนั้นก็ยังเป็นผู้จัดการธนาคารด้วย แต่เป็นธนาคารที่มั่นคงหน่อย ไม่ล้มไปเสียก่อน 

ที่ไม่ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งคงเพราะครอบครัวไม่มีเงินพอที่จะลงทุนกับสถาบันการเงินเหล่านี้ อีกส่วนหนึ่งคงเพราะนิสัยการกินอยู่ที่พ่อและแม่ ที่มีพื้นเพเป็นคนต่างจังหวัด และนิยมชีวิตแบบนั้นพร้อมกับชีวิตสมัยใหม่ที่แค่พอสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิมก็ดีแล้ว นอกจากนั้นยังขี้ขลาดในการลงทุน ไม่หวังรวยเร็ว ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นกันอยู่

4. คนดูน่าจะได้คิดอะไรบ้าง คนรุ่นเดียวกับผมที่เติบโตมาในยุควิกฤติ เขาอาจเพิ่งเป็นหนุ่มสาววัยทำงาน อาจยังเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัย คนรุ่นนี้น่าจะเชื่อมโยงรายละเอียดของชีวิตที่เขาอาจไม่เข้าใจ เข้ากับวิกฤตใหญ่นั้นได้บ้าง ข้าวของหลายอย่าง รวมทั้งสื่อย้อนยุค อย่างตลับเทปเพลงและภาพยนตร์ ที่งานนี้นำมาแสดง เชื่อมชีวิตคนเข้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ดี 

ส่วนคนที่เป็นนักลงทุน คนที่กุมบังเหียนครอบครัว เป็นคนที่รับผิดชอบครอบครัวแล้วกระโจนเข้าไปในกระแสการเงินขณะนั้น น่าจะได้เข้าใจอะไรๆ มากขึ้นบ้างว่า การตัดสินใจของพวกเขานั้นวางอยู่บนโครงการการบริหารที่นำพาทุกคนไปในทิศทางที่ผิดพลาดอย่างไร เขาน่าจะสำนึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของผู้ต้องทำให้ทั้งสังคมแบกรับความผิดพลาดนี้บ้าง หวังว่าเขาจะสำนึก 

ส่วนใครก็ตามที่ไม่เข้าใจรายละเอียดอันโกลาหลของเรื่องรายขณะนั้น ไม่เข้าใจแม้ผ่านชีวิตช่วงนั้นมา ไม่เข้าใจโครงสร้างอารมณ์และปฏิกิริยาต่อเนื่องจากยุคนั้น นิทรรศการนี้เชื่อมโยงให้เห็นได้ดีทีเดียว

5. สำหรับทางออก ผมยังคิดว่านิทรรศการนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้มากนัก ส่วนหนึ่งคงเพราะต้องการเปิดเอาไว้ อีกส่วนหนึ่งคงเพราะขณะนี้เราอยู่ในยุคสมัยที่ไม่เอื้อให้คิดอะไร ยุคที่คนถูกปิดปาก และไม่รู้ว่าจะพูดถึงความหวังไปทำไมในเมื่อเราไม่มีเสรีภาพที่จะคิดจะหวังอะไร 

อีก 20 ปีให้หลัง ถ้าสังคมไทย การเมืองไทย และเศรษฐกิจไทยไม่เลวร้ายนัก เราคงได้เห็นลูกหลานทำนิทรรศการระลึกและชวนให้สำนึกพร้อมตระหนักคิด ว่าความขัดแย้งในประเทศไทยที่ดำเนินมาเกินกว่า 10 ปีแล้วนี้ ผ่านไปอีก 20 ปีคนไทยเรียนรู้หรือไม่เรียนรู้อะไรบ้าง แต่กว่าจะได้เรียนรู้อะไร มันก็สายเกินไปแล้วทุกที

นิทรรศการนี้เริ่มแสดงแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2560 - 2 กรกฎาคม 2560 เข้าชมฟรี ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) เวลา 10:00-18:00 น. นอกจากนั้นโปรดติดตามกิจกรรมต่อเนื่องอีกมากมาย ชวนลูกหลาน เพื่อนร่วมงาน ลูกศิษย์ ญาติพี่น้องไปชมไปติกันเถอะครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน