Skip to main content

ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้

1. วิธีจัดแสดงเรื่องเศรษฐกิจ วิกฤตต้มยำกุ้งเกี่ยวกับเรื่องการเงิน เศรษฐกิจ มีตัวเลขมากมาย จึงเป็นเรื่องยากที่จะสื่อสาร งานนี้นอกจากมีข้อมูลดีแล้วยังไม่พอ แต่ยังต้องแปลข้อมูลเป็นคำพูดบอกเล่าด้วยคำง่ายๆ และภาพให้ดีด้วย แต่งานนี้เขาก็ทำได้ดี แม้บางส่วนจะเยอะไปหน่อย บางตอนยังยากอยู่ แต่ก็ยังทำได้ดีกว่าอาจารย์หลายๆ คนที่สอนหนังสือโดยไม่แคร์ว่านักศึกษาจะฟังรู้เรื่องหรือเปล่า

เป็นเรื่องท้าทายที่จะทำนิทรรศการเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน ให้คนเข้าใจได้อย่างไร และนี่น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ในประเทศไทยที่จัดงานแบบนี้กัน

2. การบอกเล่าผลกระทบทางสังคม ที่ยากตามมาคือจะเล่าเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อสังคมอย่างไร ทั้งมิติทางสังคมระดับครัวเรือน มิติทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ วัฒนธรรมการบริโภคก่อนและหลังวิกฤตนี้ พร้อมทั้งแสดงให้เห็นความรู้สึก การสื่อผ่านวัตถุจัดแสดง ช่วยให้สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวทางเศรษฐกิจเข้ากับคนจริงๆ ที่ได้รับผลกระทบได้ดี 

งานนี้อาศัยสิ่งของเป็นตัวเล่าเรื่องเหล่านั้น สิ่งของเหล่านี้ทุกชิ้นล้วนมีจิตวิญญาณ มีชีวิต เพราะมันเป็นประจักษ์พยานของคนที่ใช้มัน งานนี้นำสิ่งของมาเล่าเรื่องได้ดีทีเดียว

3. มองย้อนกลับไปในยุคนั้นแล้ว ครอบครัวผมแทบจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย ที่จริงผมออกจะแปลกใจว่าทำไมครอบครัวผมแทบจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเลย ทั้งๆ ที่พ่อผมทำงานในสายการเงินการธนาคารมาตลอดและตอนนั้นก็ยังเป็นผู้จัดการธนาคารด้วย แต่เป็นธนาคารที่มั่นคงหน่อย ไม่ล้มไปเสียก่อน 

ที่ไม่ได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งคงเพราะครอบครัวไม่มีเงินพอที่จะลงทุนกับสถาบันการเงินเหล่านี้ อีกส่วนหนึ่งคงเพราะนิสัยการกินอยู่ที่พ่อและแม่ ที่มีพื้นเพเป็นคนต่างจังหวัด และนิยมชีวิตแบบนั้นพร้อมกับชีวิตสมัยใหม่ที่แค่พอสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิมก็ดีแล้ว นอกจากนั้นยังขี้ขลาดในการลงทุน ไม่หวังรวยเร็ว ทุกวันนี้ก็ยังเป็นแบบนั้นกันอยู่

4. คนดูน่าจะได้คิดอะไรบ้าง คนรุ่นเดียวกับผมที่เติบโตมาในยุควิกฤติ เขาอาจเพิ่งเป็นหนุ่มสาววัยทำงาน อาจยังเรียนมัธยมหรือมหาวิทยาลัย คนรุ่นนี้น่าจะเชื่อมโยงรายละเอียดของชีวิตที่เขาอาจไม่เข้าใจ เข้ากับวิกฤตใหญ่นั้นได้บ้าง ข้าวของหลายอย่าง รวมทั้งสื่อย้อนยุค อย่างตลับเทปเพลงและภาพยนตร์ ที่งานนี้นำมาแสดง เชื่อมชีวิตคนเข้ากับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ดี 

ส่วนคนที่เป็นนักลงทุน คนที่กุมบังเหียนครอบครัว เป็นคนที่รับผิดชอบครอบครัวแล้วกระโจนเข้าไปในกระแสการเงินขณะนั้น น่าจะได้เข้าใจอะไรๆ มากขึ้นบ้างว่า การตัดสินใจของพวกเขานั้นวางอยู่บนโครงการการบริหารที่นำพาทุกคนไปในทิศทางที่ผิดพลาดอย่างไร เขาน่าจะสำนึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของผู้ต้องทำให้ทั้งสังคมแบกรับความผิดพลาดนี้บ้าง หวังว่าเขาจะสำนึก 

ส่วนใครก็ตามที่ไม่เข้าใจรายละเอียดอันโกลาหลของเรื่องรายขณะนั้น ไม่เข้าใจแม้ผ่านชีวิตช่วงนั้นมา ไม่เข้าใจโครงสร้างอารมณ์และปฏิกิริยาต่อเนื่องจากยุคนั้น นิทรรศการนี้เชื่อมโยงให้เห็นได้ดีทีเดียว

5. สำหรับทางออก ผมยังคิดว่านิทรรศการนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้มากนัก ส่วนหนึ่งคงเพราะต้องการเปิดเอาไว้ อีกส่วนหนึ่งคงเพราะขณะนี้เราอยู่ในยุคสมัยที่ไม่เอื้อให้คิดอะไร ยุคที่คนถูกปิดปาก และไม่รู้ว่าจะพูดถึงความหวังไปทำไมในเมื่อเราไม่มีเสรีภาพที่จะคิดจะหวังอะไร 

อีก 20 ปีให้หลัง ถ้าสังคมไทย การเมืองไทย และเศรษฐกิจไทยไม่เลวร้ายนัก เราคงได้เห็นลูกหลานทำนิทรรศการระลึกและชวนให้สำนึกพร้อมตระหนักคิด ว่าความขัดแย้งในประเทศไทยที่ดำเนินมาเกินกว่า 10 ปีแล้วนี้ ผ่านไปอีก 20 ปีคนไทยเรียนรู้หรือไม่เรียนรู้อะไรบ้าง แต่กว่าจะได้เรียนรู้อะไร มันก็สายเกินไปแล้วทุกที

นิทรรศการนี้เริ่มแสดงแล้วตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2560 - 2 กรกฎาคม 2560 เข้าชมฟรี ณ มิวเซียมสยาม (ท่าเตียน) เวลา 10:00-18:00 น. นอกจากนั้นโปรดติดตามกิจกรรมต่อเนื่องอีกมากมาย ชวนลูกหลาน เพื่อนร่วมงาน ลูกศิษย์ ญาติพี่น้องไปชมไปติกันเถอะครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย