Skip to main content

แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง

 
แต่ที่ไหนได้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เอาจริงเอาจังกับรองเท้ามาก เรียกว่าเขาศึกษาวัฒนธรรมการใส่รองเท้ากันเลยทีเดียว ที่สำคัญคือ มันบรรจุไปด้วยมุมมองของคนทำรองเท้า การถอด การใส่ และการตัดเย็บไว้ด้วย แถมยังเป็นการศึกษาเปรียบเทียบที่ทำกับทั้งรองเท้าโบราณ รองเท้านอกยุโรป และรองเท้ายุโรปยุคกลาง แถมยังดูสังคมของรองเท้าไปพร้อมๆ กันด้วย
 
พิพิธภัณฑ์รองเท้าบาทา (Bata Shoe Museum) ที่โตรอนโตนี้เปิดเมื่อปี 1995 ก่อตั้งโดยซอนญ่า บาทา สะใภ้ของตระกูลบาทาที่ก่อตั้งบริษัทรองเท้าบาทา ซอนญ่า บาทาเดินทางไปทั่วโลกคงด้วยเพราะติดตามสามีไปขายรองเท้า เธอก็เลยเก็บสะสมรองเท้าไว้มากมาย ไม่เท่านั้น ยังเอาจริงเอาจังกระทั่งให้ทุนวิจัยรองเท้า แล้วทำทั้งโปราณคดีและชาติพันธ์ุนิพนธ์รองเท้า
 
พิพิธภัณฑ์นี้จึงเด่นทั้งการเล่าเรื่อง ของที่สะสม และการจัดแสดง นี่ยังไม่นับว่าเขาให้การศึกษาเด็กๆ อย่างดีด้วย ตอนที่ไปชม ก็เห็นมีการนำเด็กตั้งแต่ 7 ปีจนถึงอายุไม่น่าจะเกิน 10 ขวบเดินชมและทำกิจกรรมอยู่สองกลุ่ม วิทยากรเขาเหมือนเชี่ยวชาญการเล่าเรื่องให้เด็กฟัง เด็กๆ ก็เลยสนใจติดตามแย่งกันตอบคำถาม อย่างที่นึกไม่ออกเลยว่าเด็กไทยจะมีความใส่ใจและกล้าหาญได้ครึ่งของเด็กแคนาเดี่ยนพวกนี้
 
แรกเริ่มเลย พิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องผ่านโบราณคดีและประวัติศาสตร์การใส่รองเท้า ที่จริงเขากล่าวถึงตั้งแต่เริ่มมีการเดินของมนุษย์วานร (hominid) คือลูซี่ที่เริ่มเดินเต็มเท้ากันเลยทีเดียว แล้วจึงเอาตัวอย่างรองเท้า 5-6 พันปีก่อนที่พบในหลุมศพแล้วมีการสร้างจำลองเลียนแบบมาให้ดู 
 
แล้วเขาก็ไล่ไปตามแหล่งอารยธรรมโลกต่างๆ อย่างอียิปต์ กรีก โรมัน อินเดีย จีน ยุโรป แม้ว่าการเล่าแบบนี้จะไม่แหวกแนวนัก แต่ก็ยังน่าสนใจที่เขาเอารองเท้าของชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของทวีปอเมริกาเหนือ อย่างชาวอนาซาสซีเมื่อ 6,000 ปีก่อน มาวางไว้ในช่วงยุคสมัยโบราณนี้ด้วย มีตัวอย่างรองเท้าในหลุมศพที่ทำให้เชื่อว่า ชาวอินเดียนอเมริกาดั้งเดิมน่าจะสานรองเท้าในรูปทรงต่างๆ
 
ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือการเชื่อมโยงรองเท้ากับศาสนา แล้วเปรียบเทียบให้เห็นจุดเน้นและอคติของแต่ละศาสนา มีส่วนทำให้รูปทรง วัสดุ และการใช้งานรองเท้าแตกต่างกันไปทั่วโลก การตีความตอนนี้ก็นับว่าน่าประทับใจ โดยเฉพาะเรื่องรองเท้ามุสลิม และตัวอย่างรองเท้าจากโป๊บ กับรองเท้าพระชินโต ที่เพิ่งได้รู้ว่าเป็นไม้ จากที่เคยนึกว่าเป็นผ้ามาตลอด
 
 
 
 
ถัดมาเป็นรองเท้าเฉพาะทางหลายคู่ เขาแสดงรวมๆ กัน ทั้งตามอาชีพ ตามถิ่นฐาน และตามยุคสมัยของรองเท้าสมัยใหม่ ที่น่าสนใจคือ พิพิธภัณฑ์ได้รองเท้าจากคนดังมาหลายคู่ เช่น รองเท้าของมาริลีน มอนโร ที่เธอเองบอกว่า "ขอบคุณใครก็ตามที่คิดส้นสูงขึ้นมาให้ฉันมีอาชีพการงานจากการใส่ส้นสูง" ส่วนรองเท้าดาไลลามะ ก็เป็นรองเท้าแตะคีบของบาทานั่นเอง รองเท้าอีกคู่ที่น่าสนใจจากความเรียบง่ายคือรองเท้าของอินทิรา คานธี
 
 
 
 
อีกสองชั้นถัดมาน่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปใหญ่ ชั้นหนึ่งซอนญ่า ยาทาให้ทุนคนไปทำวิจัยรองเท้าของผู้คนในแถบขั้วโลก เป็นรองเท้าคนที่สู้ความหนาว ทำให้ได้เห็นทั้งความแตกต่างของทั้งรูปทรงและวัสดุ เช่นรองเท้าที่ทำจากหนังปลา เสื้อคลุมที่ทำจากผนังลำไส้แมวน้ำ รองเท้าหนังปลา รองเท้าหนังและขนเรนเดียร์ ทำให้ได้เห็นว่าวัฒนธรรมรองเท้าของคนขั้วโลกแตกต่างกันและอาศัยวัสดุในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน แม้จะดูคล้ายๆ กัน
 
 
 
 
ชั้นถัดไป ซอนญ่าวิพากษ์วัฒนธรรมรองเท้าของยุโรป ด้วยการย้อนกลับไปยุคเริ่มต้นอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 พิพิธภัณฑ์บอกว่า ชาวยุโรปเป็น "เหยื่อของแฟชั่น" ถึงตรงนี้ การจัดแสดงก็เปลี่ยนแนวเลย จากห้องขั้วโลก ที่ให้บรรยากาศหนาวเหน็บ มาสู่ห้องยุคอุตสาหกรรมที่ดูฟุ้งเฟ้อ ในห้องนี้ ของทุกอย่างราวกับถูกมองผ่านหน้าต่างเข้าไปในห้องจัดแสดงในห้างสรรพสินค้ายุคนั้น เห็นได้ชัดว่าเขาจงใจพูดถึงชนชั้น และจงใจกล่าวว่ารองเท้ารุ่นนั้นใสไม่สบาย แม้จะงดงามอย่างมาก
 
ดูพิพิธภัณฑ์รองเท้าจบแล้วได้เรียนรู้แนวทางการศึกษาวัตถุอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างเอาจริงเอาจัง นับถือความมุ่งมั่นของซอนญ่า บาทา และนั่นทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รางวัลการอนุรักษ์ดีเด่น แต่ที่ต้องเพิ่มเข้าไปคือ ทำให้นับถือและขอบคุณรองเท้ายี่ห้อบาทาอย่างยิ่งทีเดียว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มาเกียวโตเที่ยวนี้หนาวที่สุดเท่าที่เคยมา (สัก 6 ครั้งได้แล้ว) อุณหภูมิอยู่ราวๆ 0-5 องศาเซลเซียสตลอด แต่นี่ยังไม่เท่าเมืองที่เคยอยู่ คือวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้อยู่ราวๆ -20 องศาเซลเซียส และเคยหนาวได้ถึง -40 องศาเซลเซียส หนาวขนาดนั้นมีแต่นกกากับกระรอก ที่อึดพอจะอยู่นอกอาคารได้นานๆ แต่ที่เกียวโต คนยังสามารถเดินไปเดินมา หรือกระทั่งเดินเล่นกันได้เป็นชั่วโมงๆ หากมีเครื่องกันหนาวที่เหมาะสม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เมื่อวันที่ 23-24 มค. ยังความรื่นรมย์มสู่แวดวงวิชาการสังคมศาสตร์อีกครั้ง ถูกต้องแล้วครับ งานนี้เป็นงาน "เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 7" หากแต่อุดมคับคั่งไปด้วยนักสังคมศาสตร์ (ฮ่าๆๆๆ) น่ายินดีที่ได้พบเจอเพื่อนฝูงทั้งเก่าทั้งใหม่มากหน้าหลายตา แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่านั้นคือการได้สนทนาทั้งอย่างเป็นทางการ ผ่านงานเขียนและการคิดอ่านกันอย่างจริงจัง บนเวทีวิชาการ กับเพื่อนๆ นักวิชาการรุ่นใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเช้า (26 มค.) ผมไปเลือกตั้งล่วงหน้าที่เขตจอมทอง ด้วยเหตุจำเป็นไม่สามารถไปเลือกตั้งวันที่ 2 กพ. ได้ ก่อนไป สังหรณ์ใจอยู่ก่อนแล้วว่าจะเกิดเหตุไม่ดี ผมไปถึงเขตเลือกตั้งเวลาประมาณ 9:00 น. สวนทางกับผู้ชุมนุมนกหวีดที่กำลังออกมาจากสำนักงานเขต นึกได้ทันทีว่ามีการปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้า มวลชนหลักร้อย ดูฮึกเหิม ท่าทางจะไปปิดหน่วยเลือกตั้งอื่นต่อไป ผมถ่ายรูปคนจำนวนหนึ่งไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ : รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2557) เล่มนี้เป็นผลจากการวิจัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมทำวิจัยชิ้นนั้นก็เพื่อให้เข้าใจงานเขียนทางประวัติศาสตร์ของชาวไทในเวียดนามสำหรับทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก แต่เนื้อหาของหนังสือนี้แทบไม่ได้ถูกนำเสนอในวิทยานิพนธ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เดือนที่แล้ว หลังเสร็จงานเขียนใหญ่ชิ้นหนึ่ง ผมกะจะหลบไปไหนสัก 4-5 วัน ระยะนั้นประเด็นวันเลือกตั้งยังไม่เข้มข้นขนาดทุกวันนี้ ลืมนึกไปจนกลายเป็นว่า ตัวเองกำหนดวันเดินทางในช่วงวันเลือกตั้ง 2 กพ. 57 พอดี เมื่อมาคิดได้ เมื่อวันที่ 14 มค. ก็เลยถือโอกาสที่ที่ทำงานให้หยุดงานไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตตนเอง ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาทีก็ได้เอกสารมาเก็บไว้ รอไปเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มค.
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เหตุที่ประโยค Respect My Vote. กลายเป็นประโยคที่นำไปใช้ต่อ ๆ กันแพร่หลายกินใจผู้รักประชาธิปไตยในขณะนี้ ไม่เพียงเพราะประโยคนี้มีความหมายตามตัวอักษร แต่เพราะประโยคนี้ยังเป็นถ้อยแถลงทางการเมืองของประชาชน ที่ประกาศว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของประชาชน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 9 มกราคม 2557 เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ ได้จัดอภิปรายเรื่อง "ปฏิรูปประเทศไทย : ปาตานีในระยะเปลี่ยนผ่าน" ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผมกับอาจารย์เอกชัย ไชยนุวัติ ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากสมัชชาปกป้องประชาธิปไตยไปร่วมบรรยายกับวิทยากรชาวปัตตานีและชาวสงขลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมอยู่ในแวดวงวิชาการ พร้อม ๆ กับทำกิจกรรมบริการทางสังคมด้านสิทธิ-เสรีภาพ การบริการทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทางวิชาการ นอกเหนือจากการสอน การทำวิจัย และการเขียนงานวิชาการ แต่ในโลกทางวิชาการไทยปัจจุบัน เมื่อคุณก้าวออกมานอกรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว คุณจะกลายเป็น "คนมีสีเสื้อ" ไม่ว่าปกติคุณจะใส่เสื้อสีอะไร จะมีสติ๊กเกอร์ติดเสื้อคุณอยู่เสมอว่า "เสื้อตัวนี้สี..." เพียงแต่เสื้อบางสีเท่านั้นที่ถูกกีดกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การปฏิรูปก่อนเลือกตั้งคือการยึดอำนาจของ กปปส. เพื่อจัดตั้งสภาประชาชน ไม่มีทางที่การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งจะเป็นการปฏิรูปที่ปวงชนชาวไทยจะมีส่วนร่วม เนื่องจาก...
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมเก็บข้อมูลการวิจัยเมื่อปี 2553-2554 จนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ผมมีโอกาสได้สัมภาษ์นักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. เขตของพรรคหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อไทย ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ในจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ไม่ใช่จังหวัดเสื้อแดงแจ๋อย่างอุดรธานีหรือขอนแก่น เขตเลือกตั้งนี้เป็นเขตเลือกตั้งในชนบท เป็นพื้นที่ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีฐานเสียงอยู่่พอสมควร แต่ไม่เด็ดขาด ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจอันเนื่องมาจากโยงใยที่ใกล้ชิดกับผู้ที่แนะนำให้ผมติดต่อไปสัมภาษณ์ ผู้สมัคร สส. คนนี้เล่าวิธีการซื้อเสียงของเขาให้ผมฟังโดยละเอียด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ชัยวัฒน์ครับ ผมยินดีที่อาจารย์ออกมาแสดงความเห็นในสถานการณ์ล่อแหลมเช่นนี้ นี่ย่อมต้องเป็นสถานการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดจริงๆ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็จะไม่แสดงความเห็นอย่างแน่นอน ดังเช่นเมื่อปี 2553 เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิต 90 กว่าคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน อาจารย์ก็ยังเงียบงันจนผมสงสัยและได้เคยตั้งคำถามอาจารย์ไปแล้วว่า "นักสันติวิธีหายไปไหนในภาวะสงคราม"