Skip to main content

ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก

 
จะเข้าห้องน้ำ ต้องถามหา washrooms ไม่ใช่ restroom รถรางเรียก light rail ไม่ใช่ tram ต้องลองอาหารฝรั่งเศสที่กลายเป็น "อาหารแคนาดา" ชื่อ poutine ออกเสียงว่า "พุทิน" ก็คือมันฝรั่งทอดโรยชีสเคิร์ดราดเกรวี่ ถนนชื่อ Bloor ออกเสียงว่า "บลู" ถนนชื่อ Yonge ออกเสียงว่า "ยัง" กินอาหารแล้วต้องทิป 15% ส่วนภาษี VAT น่ะ 13% ดังนั้นให้ทิปเกินกว่าค่าภาษีนิดหน่อยก็พอ จะซื้อเหล้า เบียร์ ไวน์ ต้องมองหาร้านที่ระบุว่าขาย ร้านสะดวกซื้อทั่วไปไม่มีขาย นั่นคือความรู้ประจำวันบางอย่างที่ได้มา
 
 
แต่ที่มากกว่านั้นเป็นความประทับใจหลายๆ อย่าง แรกเลยคือโตรอนโตมีความ retro มีความย้อนยุคของเมืองมาจากทั้งอาคารเก่าที่แทรกอยู่กับอาคารใหม่ ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็จึงมักพบอาคารอายุหลักร้อยปีอยู่เสมอ แม้แต่ในย่านที่ค่อนข้างมีความเป็นธุรกิจการค้า แฟชั่นใหม่ๆ ก็ยังมีอาคารเก่าแทรกอยู่ จนทำให้อาคารใหม่จำนวนมากต้องปรับตัว สร้างเลียนแบบ ไม่ก็ดูดซับสไตล์เก่าๆ เข้ามาในสถาปัตยกรรมใหม่ๆ
 
 
นอกจากนั้น การที่เมืองแม้จะไม่ได้แออัดใหญ่โตมาก แต่มีความเป็นย่าน แต่ไม่โซนนิ่งชัดเจนจนแยกชีวิตเป็นส่วนๆ การไม่โซนนิ่งชัดเจนคือการไม่แบ่งย่านที่พักอาศัย ย่านธุรกิจ ย่านช้อปปิ้ง ออกจากกันเด็ดขาด โตรอนโตจึงมีความเป็นเมืองใหญ่เหมือนเมืองใหญ่หลายเมืองที่ผมเคยไป อย่างนิวยอร์ค ชิคาโก โตเกียว 
 
เมืองใหญ่เหล่านี้แม้คนจะอาศัยชานเมือง แต่ทั้งกลางเมืองและชานเมืองมันน่าอยู่ตรงที่ในเมืองมีร้านรวงเต็มไปหมด มีร้านขายของปะปนกับที่พักอาศัย ไม่เหมือนเมืองเล็กๆ ในอมเริกา ที่ต้องพึ่งรถยนต์ เพราะทุกอย่างแยกกันไกลๆ อย่างเมืองแมดิสัน และอีกหลายๆ เมืองที่แยกมอลล์ออกจากเมือง แถมเมืองนี้ยังมีมหาวิทยาลัยตั้งแทรกอยู่กับเมือง ทำให้ชีวิตของเมืองกับชีวิตนักศึกษา ผสมผสานกันจนแยกแทบไม่ออก
 
 
ขนส่งมวลชนโตรอนโตก็ดีมาก ดีจนผมว่ามันอาจจะไม่คุ้มหรือสงสัยว่าเกินจำเป็นหรือเปล่า เพราะรถไฟฟ้า รถราง รถเมล์ ส่วนใหญ่วิ่งกันถี่มาก แทบไม่ต้องดูตาราง รถก็ไม่ค่อยติด แถมรถรางหลายสายก็วิ่ง 24 ชั่วโมง วิ่งจากชานเมืองด้านหนึ่งผ่านกลางเมืองไปชานเมืองอีกด้านหนึ่ง ส่วนรถไฟใต้ดินก็วิ่งจนถึงตี 1 ตี 2 เรียกว่าคนน่าจะสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีรถยนต์ส่วนตัว ไม่เหมือนหลายๆ เมืองในสหรัฐอเมริกา
 
เสน่ห์อีกอย่างของโตรอนโตคือความเป็นย่าน ไม่ใช่ย่านการค้าหรือย่านที่พักอาศัยหรือย่านธุรกิจ ผมว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยแยกกัน แต่เป็นย่านของที่พักอาศัย ย่านของการเกาะกลุ่มกันของผู้คน อย่างย่านคนเอเชีย ย่านคนเมดิเตอร์เรเนี่ยน-แคริเบียน ย่านคนอิตาลี ทั่วทั้งเมืองจึงมีอาหาร ป้ายภาษา และร้านสิ่งของเครื่องใช้ ร้านของชำ ที่จำเป็นตามแต่คนกลุ่มต่างๆ จะใช้อยู่เต็มไปหมด
 
 
ผมจึงหาอาหารเวียดนามอร่อยๆ กินได้ง่ายกว่าในกรุงเทพฯ หาอาหารอิตาลีดีๆ ราคาไม่โหดร้ายนักได้ง่ายกว่าในกรุงเทพฯ และไปทางไหนก็เจอศาสนสถานของศานาหลายๆ ศาสนา แม้จะไม่ได้ถึงกับครบทั้งหมด ก็ถือว่ามีมากมายหลายศาสนา ได้ทั่วไปหมด แน่นอนว่าโบสถ์คริสต์น่ะครองพื้นที่ส่วนใหญ่
 
 
ดังนั้นเมื่อเดินไปไหนมาไหนในเมือง ก็จะได้ยินเสียงภาษากวางตุ้ง จีนกลาง เวียดนาม และภาษายุโรป อาหรับ ฯลฯ ต่างๆ ที่ฟังไม่รู้เรื่องมากมาย และทำให้ผู้คนพูดภาษาอังกฤษแบบมีสำเนียงกันเป็นจำนวนมาก คนทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็พูดภาษาอังกฤษมีสำเนียงกัน คนทำงานมิวเซียมพูดภาษาอังกฤษมีสำเนียงก็ไม่แปลก และมีคนไม่พูดภาษาอังกฤษอยู่เต็มไปหมด
 
เมืองแบบนี้จึงนับเป็นเมืองที่จำเป็นต้องเปิดรับความแตกต่าง มีความ cosmopolitan อยู่สูง ทั้งยังมีความพร้อมเพรียงในด้านการสัญจร แม้ว่าค่าครองชีพจะค่อนข้างสูง แต่ก็น่าจะคุ้มค่ากับรายได้และสิ่งตอบแทนที่ได้รับมาจากเงินที่จ่ายไป โตรอนโตจึงคงยังดึงดูดให้คนจากที่อื่นๆ ทั่วโลกอพยพไปอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ ด้านไม่ดีของเมืองคงมีอีกมาก แต่ผมก็เขียนเท่าที่ได้พบเจอมา

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้