Skip to main content

จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐจงใจบิดเบือนเพื่อปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ที่แม้มีได้เป็นการต่อต้านรัฐบาลโดยตรงก็ตาม 

ซ้ำร้าย การตั้งข้อหาอย่างบิดเบือนนั้นเองได้นำมาซึ่งกระแสทัดทาน ไม่เห็นด้วย จนกระทั่งอาจลุกลามไปสู่การต่อต้านรัฐบาลที่คุกคามเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนอย่างหนักข้อขึ้นทุกวัน แม้ในที่ประชุมทางวิชาการนานาชาติ ที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาความรู้ และย่อมเป็นผลดีทั้งกับประเทศชาติ และประชากรโลก รัฐบาลเผด็จการประยุทธ จันทร์โอชาก็ยังไม่รู้จักอดกลั้น ไม่รู้จักละเว้น ไม่เข้าใจมาตรฐานสากล ไม่รู้จักละเว้น 

จากกรณีนี้ แวดวงวิชาการทั่วโลกจึงออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลไทยยกเลิกการตั้งข้อหาว่านักวิชาการทั้ง 5 นั้นมีความผิด ที่น่าตกใจที่สุดในชีวิตทางวิชาการกว่า 20 ปีของผมคือ การที่สมาคมวิชาการทั่วโลก ทั้งทวีปยุโรป อมเริกา ออสเตรเลีย เอเชีย ต่างก็เรียกร้องไปในทิศทางเดียวกันคือให้ยกเลิกการตั้งข้อหากับทั้ง 5 นักวิชาการนั้น  

เอาแค่คร่าวๆ เช่น AAS (สมาคมเอเชียศึกษา) EUROSEAS (สมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งยุโรป) (http://www.newmandala.org/international-statement-support-…/) และล่าสุดคือ AAA (สมาคมมานุษยวิทยาอเมริกัน) ซึ่งใหญ่กว่า มีอิทธิพลข้ามพื้นที่ครอบคลุมทั่วโลกมากกว่าสองสมาคมแรกยิ่งนัก (http://www.americananthro.org/Particip…/AdvocacyDetail.aspx…) ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องในเรื่องเดียวกัน 

ครั้งสุดท้ายที่สมาคม AAA เอ่ยถึงเรื่องอื้อฉาวในประเทศไทยน่าจะเมื่อช่วงสงครามเย็น ที่มีกรณีนักมานุษยวิทยาอเมริกันถูกกล่าวหาว่าทำงานให้รัฐบาลอเมริกันในสงครามปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ในไทย มีการสอบสวนใหญ่โต แล้วเรื่องก็จบไป แต่ทิ้งบาดแผลไว้มากมายทั้งในวงการมานุษยวิทยาโลกและในแวดวงวิชาการไทย 

คราวนี้มาเรื่องที่เห็นชัดว่าคนในสมาคมนานาชาติต่างๆ ที่เดิมอาจจะมีสมาชิกไม่เห็นด้วยกันกับรายละเอียดเรื่องต่างๆ มาก่อน มีความขัดแย้งกันภายในมาก่อน มางานนี้ สมาคมทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีทางจะเห็นแตกต่างกันเป็นอื่นได้แน่ๆ นี่ก็เพราะว่า ไม่มีนักวิชาการที่ไหนในโลกเขาทนนิ่งเฉยกับเรื่องการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการแบบนี้ได้ ไม่มีใครเขาจะยอมให้ทหารมาตั้งข้อหากับนักวิชาการที่เพียงแค่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของตัวเองได้ ไม่มีใครเขายอมรับได้ว่าการปกป้องสิทธิตนเองเป็นภัยต่อชาติได้  

แต่ที่ยิ่งน่าเป็นห่วงคือกระแสของนักวิชาการในประเทศไทยเองต่างหาก จนป่านนี้ยังไม่เห็นมหาวิทยาลัยลุกขึ้นมาปกป้องบุคคลากรที่ทรงคุณค่าของตนเอง จนป่านนี้ยังมีนักวิชาการไทยอีกมากที่นิ่งเฉย หรืออาจจะไ่รู้สึกรู้สาด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ใหญ่หลวงแค่ไหน 

ผมนึกเล่นๆ ว่านี่ถ้านักวิชาการไทยคนไหนลุกมายกคาถาว่า "อย่างน้อยไทยก็ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร" แล้วล่ะก็ ผมคงจะประกาศไม่คบหาทำงานกับคนคนนั้นได้จนตายเลยทีเดียว 

แต่แค่จะมีนักวิชาการคนไหนพูดอะไรทำนองที่ว่า "นั่นมันบ้านเธอ นี่มันบ้านฉัน มาตรฐานวิชาการบ้านฉันเป็นแบบนี้ อย่ามายุ่งกับฉัน นักวิชาการโลกจะมารู้อะไรดีกว่านักวิชาการไทย นักวิชาการในโลกนี้จะมาเข้าใจอะไรกับเงื่อนไขในประเทศไทย" แล้วยิ่งถ้าผมรู้ว่าเขาเรียนจบจากต่างประเทศ จากยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นมาแล้วล่ะก็ ผมคงกระอักกระอ่วนใจที่จะทำงานด้วยได้ 

หากแวดวงวิชาการไทยอยากมีมาตรฐานโลกแต่ไม่ลุกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเอง หากมหาวิทยาลัยไทยมองไม่เห็นว่าการที่นักวิชการทั่วโลกเขามาแสดงออกช่วยปกป้องเสรีภาพของนักวิชาการไทยนั้น มันแสดงถึงความตกต่ำของแวดวงวิชาการมากแค่ไหนแล้ว มหาวิทยาลัยไทยเลิกดัดจริตอยากมีมาตรฐานสากลได้แล้วล่ะ เลิกส่งคนไปเรียนต่างประเทศสักทีเถอะ เลิกส่งลูกหลานพวกคุณเองไปเรียนต่างประเทศเถอะ สั่งสอนกันเองตามวัดตามวากันไปนี่แหละ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน