Skip to main content

คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 

งานเริ่มด้วยการฉายหนังสยองขวัญที่มีชั้นเชิงพอสมควรเรื่อง "ผีสามบาท ตอน ท่อนแขนนางรำ" ที่สร้างจากเรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์ แล้วนักศึกษาก็ชวนแลกเปลี่ยนเรื่องหนัง ว่าจะลองวิเคราะห์ได้อย่างไรบ้าง  

 

ผมก็ลองวิเคราะห์ไป ด้วยวิธีแบบโครงสร้างนิยมบ้าง ด้วยแนวคิดแบบความขัดแย้งเชิงชนชั้นบ้าง ด้วยแนวคิดแบบผีขวัญในของกำนัลบ้าง จะเล่าให้ครบก็จะยืดยาวเกินไป ขอเล่าเรื่องอื่นดีกว่า

 

แต่เริ่มแรกเลยก่อนสนทนาเรื่องหนัง นักศึกษาถามว่า "อาจารย์ศึกษาเรื่องเวียดนาม ทำวิจัยที่เวียดนาม ที่นั่นมีผีไหมคะ" 

 

นี่เป็นคำถามใหญ่มาก แน่นอนว่าเวียดนามมีผี ทุกที่ผมก็ว่ามีผีทั้งนั้นแหละ เพราะทุกที่มีคนตาย เพียงแต่ ผมพยายามนึกดู นึกย้อนกลับไปว่า ผมเคยเจอผีไหม ผมคิดว่าผมไม่เคยเจอผี เจอแต่ปรากฏการณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจอคนวิเศษที่เหนือมนุษย์ธรรมดา อะไรแบบนี้เคยเจอ แต่ไม่เคยเจอปรากฏการณ์ผี

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมไม่กลัวผี ผมกลัวผี ผมบอกว่า ถ้าจะถามว่าผมนับถือศาสนาอะไร ศาสนาที่ผมอยากนับถือที่สุดคือศาสนาผีนี่แหละ ผมถือผี เมื่อก่อนผมเคยเจอปรากฏการณ์ผีอำอยู่บ่อยๆ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเป็นแล้ว ผมว่าส่วนหนึ่งมาจากความเครียด ส่วนหนึ่งมาจากร่างกาย 

 

แต่เวลาผีอำแต่ละที ผมก็ตกใจนั่นแหละ เพียงแต่ไม่คิดว่ามันเป็นการกระทำของผี แล้วผมก็จะพยายามสะกดความคิดตัวเองว่า ไม่ให้ท่องบทสวดของพุทธศาสนา เพราะผมกลัวพุทธศาสนาครอบงำมากกว่ากลัวผีอำ

 

กลับไปที่มานุษยวิทยา เมื่อคืนวานผมพยายามยกตัวอย่างสั้นๆ ความรู้มานุษยวิทยาทุกยุคทุกสมัยหมกมุ่นกับผีมากอย่างไร เช่น ย้อนไปถึงยุคเจมส์ เฟรเซอร์ เขาอธิบายว่าผี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเชื่อที่คนสมัยก่อนมีเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่พวกเขาเข้าใจเอาเองว่ามันเป็นอย่างนั้น คือ ผีเป็นวิธีหนึ่งที่คนสมัยก่อนอธิบายโลก เมื่อมีวิทยาศาสตร์แล้ว วิทยาศาสตร์ก็มาอธิบายโลกแทน

 

ยุคต่อมา ปรมาจารย์อย่างเอมิล เดอร์ไคม์เขียนหนังสือเล่มสุดท้ายในชีวิตเขาว่าด้วยเรื่องศาสนา ซึ่งแท้จริงก็คือเรื่องผีนั่นแหละ ว่าผีก็คือสังคม สมการผี=สังคมมาจากการที่ผีคือพลังลึกลับของสังคม เ็นสัญลักษณ์ที่มีพลังดึงดูดทางจิตวิทยาในระดับชุมชน ระดับสังคม แล้วถูกถ่ายทอดให้อยู่ในรูปสัญลักษณ์ที่เป็นรูปบูชา 

 

เดอร์ไคม์ในภาคนี้เป็นภาคที่เซอร์เรียล เด็มไปด้วยสัญวิทยาและการตีความ ต่างจากเดอร์ไคม์ภาควิทยาศาสตร์และสถิติ ที่นักสังคมวิทยามักให้ความสำคัญกัน เดอร์ไคม์ภาคนี้ส่งอิทธิพลต่อนักมานุษยวิยารุ่นต่อๆ มาอีกหลายคน ที่ขบคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์แะลสิ่งสาธารณ์ต่อจากเขา 

 

เช่น มาร์เซล โมส ที่พูดเรื่องของขวัญ ซึ่งมีวิญญาณของเจ้าของอยู่ หรือแมรี ดักลาส ที่พูดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์อันเกิดจากการรับรู้ต่อสิ่งที่อยู่ในสภาวะกำกวม ก้ำกึ่ง ไม่เสถียร สุ่มเสี่ยง 

 

ไปจนกระทั่งนักคิดอย่างจอร์จ บาไตล์ ที่เสนอความคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจทั่วไป ซึ่งต้องนับรวมทั้งการทำลายล้างหรือการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยไร้เหตุผล ว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าการผลิตและการคิดคำนวณอย่างสมเหตุสมผล แนวคิดนี้น่าจะมีอิทธิพลต่อปิแอร์ บูดิเยอร์ในยุคต่อมาไม่น้อยทีเดียว

 

ทางด้านของการต่อต้านการควบคุมของสังคมเองก็ใช่ย่อย เช่น มาร์กซ ที่เสนอว่าศาสนา ซึ่งผีก็เป็นหนึ่งในนั้น ถูกใช้เป็นยาฝิ่นหลอกลวงเพื่อควบคุมคน แต่สำหรับงานแนวฟูโกเดียน หรือนักรัฐศาสตร์ที่นักมานุษยวิทยาชองเอางานเขามาใช้อย่างเจมส์ สก็อตต์ ก็เสนอว่า ผู้ถูกกดขี่ก็อาจพลิกผีกลับมาใช้เป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านอำนาจได้เช่นกัน 

 

ในงานยุคหลังจากหลังโครงสร้างนิยม อย่างบรูโน ลาตูร์, ฟิลลิป เดสโกลา, และดอนนา ฮาราเวย์ ผีเป็นภาวะพ้นมนุษย์ที่ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ โดยไม่ควรพยายามลากเข้าสู่วิธีคิดที่ยังยึดเอามนุษย์และวิธีคิดแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลาง นอกเหนือจากการเข้าใจโลกจากมุมของสัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติ มากกว่าจากมุมของมนุษยนิยมแล้ว การหามุมมองของผีที่หลุดออกจากวิธีคิดแบบเดิมเป็นความมุ่งมั่นของพวกเขา

 

สำหรับงานของผมเอง ไม่ว่านักมานุษยวิทยาคนอื่นจะทำงานกับอะไร แต่ผมเอง งานเขียนเกี่ยวกับคนไตของผมอยู่กับผีตลอด ผมชอบไปป่าช้า ผมชอบไปงานศพ อะไรที่เกี่ยวกับความเข้าใจเฉพาะตนของชาวไต มักจะเกี่ยวกับผี ผีอยู่ทั้งในชีวิตประจำวันและยิ่งอยู่ในพิธีกรรมของชาวไตที่ผมรู้จัก ผมคิดว่า โลกคนกับผีของชาวไตเป็นโลกแบบ magical realism อย่างยิ่ง

 

มาร์กซกับเองเกลส์พูดเป็นประโยคแรกใน "คำประกาศพรรคคอมมิวนิสม์" ว่า "ผีตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนยุโรป นั่นคือผีคอมมิวนิสม์" มาร์กซและเองเกลส์คงไม่รู้ว่า ใน พ.ศ. นี้ ผีตนนั้นยังหลอกหลอนชนชั้นนำไทยอยู่เลย ภาวะผีจึงเป็นภาวะที่พ้นการจัดการของสังคม ตราบใดที่ยังมีภาวะเหนือการจัดการของมนุษย์อยู่ ก็ยังมีภาวะผี ไม่ว่าผีตนนั้นจะอยู่ในรูปใด

 

ผมว่า ที่นิชเชอบอกว่า "พระเจ้าตายแล้ว" น่ะ ก็คงจริงอยู่กับคนส่วนน้อยมากๆ อยู่นั่นเอง เพราะความสำนึกต่อการมีอยู่ของผียังคงหลอกหลอนผู้คนอยู่เสมอ ที่แน่ๆ คือ สำหรับนักเรียนมานุษยวิทยา ผีหลอกหลอนวิชานี้ตลอดเวลา นี่ทำให้ผมเข้าใจสิ่งที่ไม่เคยตระหนักมาก่อนเลยประการหนึ่งคือ วิชามานุษยวิทยานั้นหมกมุ่นกับผีมาก ถ้าไม่มีผี วิชามานุษยวิทยาคงอยู่ไม่ได้  

 

แต่นอกจากความกลัวที่คนมีต่อผีแล้ว ผมว่าผีเป็นสิ่งน่ากลัวที่พิเศษอยู่อย่างคือ คนกลัวผีแต่ก็ชอบผี เรากลัว แต่ก็อยากเจอ อยากเห็น คนชอบเรื่องผี คนพึ่งพิงผี คนไม่อยากอยู่ใกล้ แต่ไม่ได้รังเกียจผีขนาดที่จะต้องกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้วเลิกกลัวผีกันไปหมด เป็นไปได้ที่ผีจะมีพลังเร้นลับบางอย่างที่อาจจะคอยแอบสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยู่เงียบๆ ไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมมนุษย์

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ