Skip to main content

คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 

งานเริ่มด้วยการฉายหนังสยองขวัญที่มีชั้นเชิงพอสมควรเรื่อง "ผีสามบาท ตอน ท่อนแขนนางรำ" ที่สร้างจากเรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์ แล้วนักศึกษาก็ชวนแลกเปลี่ยนเรื่องหนัง ว่าจะลองวิเคราะห์ได้อย่างไรบ้าง  

 

ผมก็ลองวิเคราะห์ไป ด้วยวิธีแบบโครงสร้างนิยมบ้าง ด้วยแนวคิดแบบความขัดแย้งเชิงชนชั้นบ้าง ด้วยแนวคิดแบบผีขวัญในของกำนัลบ้าง จะเล่าให้ครบก็จะยืดยาวเกินไป ขอเล่าเรื่องอื่นดีกว่า

 

แต่เริ่มแรกเลยก่อนสนทนาเรื่องหนัง นักศึกษาถามว่า "อาจารย์ศึกษาเรื่องเวียดนาม ทำวิจัยที่เวียดนาม ที่นั่นมีผีไหมคะ" 

 

นี่เป็นคำถามใหญ่มาก แน่นอนว่าเวียดนามมีผี ทุกที่ผมก็ว่ามีผีทั้งนั้นแหละ เพราะทุกที่มีคนตาย เพียงแต่ ผมพยายามนึกดู นึกย้อนกลับไปว่า ผมเคยเจอผีไหม ผมคิดว่าผมไม่เคยเจอผี เจอแต่ปรากฏการณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจอคนวิเศษที่เหนือมนุษย์ธรรมดา อะไรแบบนี้เคยเจอ แต่ไม่เคยเจอปรากฏการณ์ผี

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมไม่กลัวผี ผมกลัวผี ผมบอกว่า ถ้าจะถามว่าผมนับถือศาสนาอะไร ศาสนาที่ผมอยากนับถือที่สุดคือศาสนาผีนี่แหละ ผมถือผี เมื่อก่อนผมเคยเจอปรากฏการณ์ผีอำอยู่บ่อยๆ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเป็นแล้ว ผมว่าส่วนหนึ่งมาจากความเครียด ส่วนหนึ่งมาจากร่างกาย 

 

แต่เวลาผีอำแต่ละที ผมก็ตกใจนั่นแหละ เพียงแต่ไม่คิดว่ามันเป็นการกระทำของผี แล้วผมก็จะพยายามสะกดความคิดตัวเองว่า ไม่ให้ท่องบทสวดของพุทธศาสนา เพราะผมกลัวพุทธศาสนาครอบงำมากกว่ากลัวผีอำ

 

กลับไปที่มานุษยวิทยา เมื่อคืนวานผมพยายามยกตัวอย่างสั้นๆ ความรู้มานุษยวิทยาทุกยุคทุกสมัยหมกมุ่นกับผีมากอย่างไร เช่น ย้อนไปถึงยุคเจมส์ เฟรเซอร์ เขาอธิบายว่าผี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเชื่อที่คนสมัยก่อนมีเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่พวกเขาเข้าใจเอาเองว่ามันเป็นอย่างนั้น คือ ผีเป็นวิธีหนึ่งที่คนสมัยก่อนอธิบายโลก เมื่อมีวิทยาศาสตร์แล้ว วิทยาศาสตร์ก็มาอธิบายโลกแทน

 

ยุคต่อมา ปรมาจารย์อย่างเอมิล เดอร์ไคม์เขียนหนังสือเล่มสุดท้ายในชีวิตเขาว่าด้วยเรื่องศาสนา ซึ่งแท้จริงก็คือเรื่องผีนั่นแหละ ว่าผีก็คือสังคม สมการผี=สังคมมาจากการที่ผีคือพลังลึกลับของสังคม เ็นสัญลักษณ์ที่มีพลังดึงดูดทางจิตวิทยาในระดับชุมชน ระดับสังคม แล้วถูกถ่ายทอดให้อยู่ในรูปสัญลักษณ์ที่เป็นรูปบูชา 

 

เดอร์ไคม์ในภาคนี้เป็นภาคที่เซอร์เรียล เด็มไปด้วยสัญวิทยาและการตีความ ต่างจากเดอร์ไคม์ภาควิทยาศาสตร์และสถิติ ที่นักสังคมวิทยามักให้ความสำคัญกัน เดอร์ไคม์ภาคนี้ส่งอิทธิพลต่อนักมานุษยวิยารุ่นต่อๆ มาอีกหลายคน ที่ขบคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์แะลสิ่งสาธารณ์ต่อจากเขา 

 

เช่น มาร์เซล โมส ที่พูดเรื่องของขวัญ ซึ่งมีวิญญาณของเจ้าของอยู่ หรือแมรี ดักลาส ที่พูดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์อันเกิดจากการรับรู้ต่อสิ่งที่อยู่ในสภาวะกำกวม ก้ำกึ่ง ไม่เสถียร สุ่มเสี่ยง 

 

ไปจนกระทั่งนักคิดอย่างจอร์จ บาไตล์ ที่เสนอความคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจทั่วไป ซึ่งต้องนับรวมทั้งการทำลายล้างหรือการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยไร้เหตุผล ว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าการผลิตและการคิดคำนวณอย่างสมเหตุสมผล แนวคิดนี้น่าจะมีอิทธิพลต่อปิแอร์ บูดิเยอร์ในยุคต่อมาไม่น้อยทีเดียว

 

ทางด้านของการต่อต้านการควบคุมของสังคมเองก็ใช่ย่อย เช่น มาร์กซ ที่เสนอว่าศาสนา ซึ่งผีก็เป็นหนึ่งในนั้น ถูกใช้เป็นยาฝิ่นหลอกลวงเพื่อควบคุมคน แต่สำหรับงานแนวฟูโกเดียน หรือนักรัฐศาสตร์ที่นักมานุษยวิทยาชองเอางานเขามาใช้อย่างเจมส์ สก็อตต์ ก็เสนอว่า ผู้ถูกกดขี่ก็อาจพลิกผีกลับมาใช้เป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านอำนาจได้เช่นกัน 

 

ในงานยุคหลังจากหลังโครงสร้างนิยม อย่างบรูโน ลาตูร์, ฟิลลิป เดสโกลา, และดอนนา ฮาราเวย์ ผีเป็นภาวะพ้นมนุษย์ที่ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ โดยไม่ควรพยายามลากเข้าสู่วิธีคิดที่ยังยึดเอามนุษย์และวิธีคิดแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลาง นอกเหนือจากการเข้าใจโลกจากมุมของสัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติ มากกว่าจากมุมของมนุษยนิยมแล้ว การหามุมมองของผีที่หลุดออกจากวิธีคิดแบบเดิมเป็นความมุ่งมั่นของพวกเขา

 

สำหรับงานของผมเอง ไม่ว่านักมานุษยวิทยาคนอื่นจะทำงานกับอะไร แต่ผมเอง งานเขียนเกี่ยวกับคนไตของผมอยู่กับผีตลอด ผมชอบไปป่าช้า ผมชอบไปงานศพ อะไรที่เกี่ยวกับความเข้าใจเฉพาะตนของชาวไต มักจะเกี่ยวกับผี ผีอยู่ทั้งในชีวิตประจำวันและยิ่งอยู่ในพิธีกรรมของชาวไตที่ผมรู้จัก ผมคิดว่า โลกคนกับผีของชาวไตเป็นโลกแบบ magical realism อย่างยิ่ง

 

มาร์กซกับเองเกลส์พูดเป็นประโยคแรกใน "คำประกาศพรรคคอมมิวนิสม์" ว่า "ผีตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนยุโรป นั่นคือผีคอมมิวนิสม์" มาร์กซและเองเกลส์คงไม่รู้ว่า ใน พ.ศ. นี้ ผีตนนั้นยังหลอกหลอนชนชั้นนำไทยอยู่เลย ภาวะผีจึงเป็นภาวะที่พ้นการจัดการของสังคม ตราบใดที่ยังมีภาวะเหนือการจัดการของมนุษย์อยู่ ก็ยังมีภาวะผี ไม่ว่าผีตนนั้นจะอยู่ในรูปใด

 

ผมว่า ที่นิชเชอบอกว่า "พระเจ้าตายแล้ว" น่ะ ก็คงจริงอยู่กับคนส่วนน้อยมากๆ อยู่นั่นเอง เพราะความสำนึกต่อการมีอยู่ของผียังคงหลอกหลอนผู้คนอยู่เสมอ ที่แน่ๆ คือ สำหรับนักเรียนมานุษยวิทยา ผีหลอกหลอนวิชานี้ตลอดเวลา นี่ทำให้ผมเข้าใจสิ่งที่ไม่เคยตระหนักมาก่อนเลยประการหนึ่งคือ วิชามานุษยวิทยานั้นหมกมุ่นกับผีมาก ถ้าไม่มีผี วิชามานุษยวิทยาคงอยู่ไม่ได้  

 

แต่นอกจากความกลัวที่คนมีต่อผีแล้ว ผมว่าผีเป็นสิ่งน่ากลัวที่พิเศษอยู่อย่างคือ คนกลัวผีแต่ก็ชอบผี เรากลัว แต่ก็อยากเจอ อยากเห็น คนชอบเรื่องผี คนพึ่งพิงผี คนไม่อยากอยู่ใกล้ แต่ไม่ได้รังเกียจผีขนาดที่จะต้องกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้วเลิกกลัวผีกันไปหมด เป็นไปได้ที่ผีจะมีพลังเร้นลับบางอย่างที่อาจจะคอยแอบสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยู่เงียบๆ ไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมมนุษย์

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง