Skip to main content

มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า

"ผมก็ไม่แน่ใจว่า งานชิ้นนั้นจะถือว่าเป็นงานทางมานุษยวิทยาหรือเปล่า ไม่เข้าใจว่านักมานุษยวิทยาไม่ลงสนามแล้วจะถือว่าทำงานมานุษยวิทยาได้ยังไง"
 
ผมมารู้ทีหลังว่า ตอนนั้นอาจารย์อคินกำลังพูดถึงวิทยานิพนธ์ปริญญาโท (ปี 2538) ของผม ที่ตอนหลัง "ฟ้าเดียวกัน" มาพิมพ์ให้ชื่อ "อ่านวัฒนธรรมชุมชน" (2548) แต่ตอนที่พูดถึงงานผมนั้น อาจารย์อคินท่านก็คงไม่ได้สนใจหรอกว่าผมทำวิทยานิพนธ์เรื่องอักษรไตในเวียดนามอยู่
 
ผมขอสารภาพว่าผมเฉยๆ กับงานเขียนเรื่องสลัมของอาจารย์อคิน เท่าที่รู้คือเป็นงานปริญญาเอกของท่าน ผมออกจะรู้สึกถึงกลิ่นอายแบบเจ้าอาณานิคมไปศึกษาคนพื้นเมืองในประเทศอาณานิคมด้วยซ้ำ เมื่อผมเข้ามาทำงานเรียนที่ธรรมศาสตร์น่ะ อาจารย์อคินออกจากธรรมศาสตร์ไปแล้ว ท่านออกไปตั้งแต่ปีแรกๆ ที่ผมมาเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์แล้วล่ะ แต่ชื่อท่านยังอยู่ที่รายชื่ออาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
 
อาจารย์อคินทิ้งมรดกไว้อย่างหนึ่งที่มันตกทอดมาสู่ผมโดยที่ท่านเองก็คงไม่สนใจหรอก ที่จริงมันก็ไม่ใช่มรดกของท่านหรอก เพราะมันเป็นครุภัณฑ์ คือโต๊ะทำงานไม้ ที่ตกทอดจากอาจารย์อคิน ไปยังอีกท่านที่เมื่อท่านนี้ย้ายไป พอผมเข้ามาทำงานหลังจบปริญญาโท โต๊ะตัวนั้นผมก็รับมาใช้ต่อ แล้วก็ยังใช้มาจนปัจจุบันนั่นแหละ
 
หนังสืออาจารย์อคินที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุด และทำให้ผม "ตาสว่าง" แล้วอย่างเป็นระบบในวิธีอ่านแบบของผมเองมานานแล้ว คือหนังสือที่เคยแปลกันในชื่อว่า "สังคมไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์" (2527 ต้นฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ปี 1969) ขณะนี้มี pdf ให้อ่านฟรีแล้ว (http://www.openbase.in.th/files/tbpj105.pdf) และมีสำนวนแปลใหม่ออกมาแล้ว (http://socanth.tu.ac.th/outreach/publication/saipin-tr-2560/)
 
ผมได้ยินหรือรู้มาจากไหนสักแห่งว่าอาจารย์อคินเขียนหนังสือเล่มนี้สมัยเรียนปริญญาโทใบที่สอง คือท่านไปเรียนปริญญาโทใบแรกในทางกฎหมาย ด้วยเพราะภาระในตระกูลแกคาดหวังแกอย่างนั้น แต่ภายหลังท่านย้ายไปเรียนมานุษยวิทยา แล้วใช้วิธีการทางกฎหมายประกอบกับมานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์ทำวิทยานิพนธ์ พูดอีกอย่างคือ นี่ก็ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ที่ใช้ฟิวว้งฟิวเวิร์คหรือเก็บข้อมูลภาคสนามอะไรที่ท่านมาคาดหวังคนรุ่นใหม่สักหน่อย แต่ก็เป็นงานที่มีค่ามากต่อวงวิชาการและความรู้ประวัติศาสตร์สังคมไทยกรุงเทพฯ
 
ที่เป็นงานที่มีค่าเพราะหนังสือเล่มนี้ช่วยให้เข้าใจโครงสร้างสังคมไทย หนังสือชี้ว่า สังคมไทยมีระบบระเบียบที่เคร่งครัด เข้มงวด เต็มไปด้วยลำดับชั้น และที่สำคัญคือ ช่วยให้เข้าใจว่า ใครที่เป็นกษัตริย์น่ะ คือคนที่คุมกำลังมากที่สุด แล้วระบบการสืบสันตติวงศ์น่ะ ที่ต้องเปลี่ยนในช่วงเดียวกับการเปลี่ยนระบอบการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เพื่อช่วยให้การสืบราชสมบัติราบรื่นขึ้นหลังการยกเลิกระบบไพร่นั่นแหละ แต่ผมก็ไม่คิดว่านั่นจะเป็นวัตถุประสงค์ที่อาจารย์อคินตั้งใจจะเผิดเผยให้เห็นไว้ตั้งแต่แรกหรอก
 
ผมไม่ได้มีส่วนร่วมงานกับอาจารย์อคินเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท งานช่วงนั้นอาจารย์ไปทำที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมจึงรู้จักท่านในบทบาทนี้เพียงผิวเผิน ภายหลังเมื่ออาจารย์เกษียณ ก็ได้ข่าวว่ามาทำงานที่สำนักงานทรัพย์สินฯ จัดการเรื่องพื้นที่ของคนจนในกรุงเทพฯ ผมก็ห่างๆ เพราะไม่ได้ทำเรื่องนี้อีกเช่นกัน
 
ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งเหลือง-แดง อาจารย์อคินหอบโครงการและรายชื่อ NGOs ผู้สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วงก่อนล้อมปราบคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ เข้าไปเสนอโครงการปฏิรูปประเทศไทยกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เข้าใจว่าไปคุยกันที่ราบ 11 ที่ผมรู้เพราะไปให้ข้อมูลงานวิจัยเรื่องคนเสื้อแดงที่ขณะนั้นผมเพิ่งเริ่มต้นทำ ในการประชุมของหน่วยงานหนึ่ง พร้อมกับที่อาจารย์อคินไปเสนอข้อมูลอีกมุมที่ที่ประชุมเดียวกัน แน่นอนว่าผมมีมุมมองที่ต่างไปจากอาจารย์อคินและสนับสนุนคนละแนวทางกับอาจารย์อคิน
 
จากนั้น ผมก็พอจะรู้ว่าอาจารย์อคินน่าจะเริ่มจำหน้า ชื่อ และทัศนะผมได้บ้างแล้วล่ะ แต่คราวนี้ท่านไม่ว่าผมไม่ลงฟิวด์ ไม่เก็บข้อมูลสนามแล้วล่ะ แต่ท่านไม่เห็นด้วยกับทัศนะทางการเมืองของผมอย่างรับไม่ได้ที่จะให้ผมร่วมงานด้วย ซึ่งผมก็คาดไว้อยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างนั้น เพียงแต่ก็อยากให้รู้ชัดๆ ว่าอะไรที่คิดว่าตนเองเข้าใจน่ะ เป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
 
งานวิชาการเล่มสุดท้ายที่สำคัญของอาจารย์อคินคือ "วัฒนธรรมคือความหมาย" (2551) ซึ่งเป็นการทบทวนงานเขียนของคลิฟเฟิร์ด เกิร์ซ (Clifford Geertz) ตั้งแต่งานยุคแรกๆ ถึงงานยุคหลัง ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างเพลิดเพลิน แต่ที่ลุ้นที่สุดคืออยากรู้ว่าท่านจะเขียนถึงบทที่ว่าด้วย "ความหมาย" หรือเกิร์ซยุคหลังจากที่เขาได้รับอิทธิพลของวรรณกรรมมากขึ้นแล้วอย่างไร
 
แล้วก็เป็นไปดังคาดไว้ อาจารย์อคินดูจะไม่ค่อย "อิน" กับงานของเกิร์ซยุคหลังนัก อ่านไปๆ ท่านคงเห็นเงาของนักเรียนมานุษยวิทยาที่เคยเดินตามหลังท่านมาเมื่อหลายปีก่อน ผมไม่โทษหรือดูเบาท่านหรอก เพราะมันคงประหลาดมากที่ในบั้นปลายชีวิต อาจารย์อคินผู้เคยทำงานในขนบแบบปฏิฐานนิยมมาโดยตลอด จะหันกลับมาให้ความสำคัญกับการตีความความหมายและวรรณกรรม เพียงแต่ผมก็ต้องคอยเตือนนักเรียนรุ่นหลังๆ ว่า หากจะใช้หนังสือเล่มนี้ ก็ใช้อย่างระมัดระวังว่ามันมีข้อจำกัดอยู่ที่ไหน เพราะผมมั่นใจว่า อาจารย์อคินไม่ได้อินนักกับสิ่งที่เรียกว่า "ความหมาย" ที่ติดอยู่บนชื่อหนังสือเล่มนี้เองนักหรอก
 
ใครสักคนที่ทำงานอย่างจริงจัง ทุ่มเทชีวิตให้กับสาธารณชนอย่างหนักหน่วงอย่างอาจารย์อคิน รพีพัฒน์ ก็จะต้องเป็นที่จดจำไปอีกนานแสนนาน เพียงแต่ผมคงไม่สามารถจำคนหลายคนได้แต่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ความอาลัยอย่างกระอักกระอ่วนที่ผมมีต่ออาจารย์อคินคงจะยังอยู่ต่อไปอีกนาน พร้อมๆ กับที่ผมจะระลึกถึงคุณูปการที่อาจารย์ส่งผ่านมายังคนรุ่นหลังรวมทั้งผม ผ่านการสร้างวิชามานุษยวิทยาในไทย และการฝากผลงานสำคัญๆ อย่างการศึกษาโครงสร้างสังคมไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ