Skip to main content

มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า

"ผมก็ไม่แน่ใจว่า งานชิ้นนั้นจะถือว่าเป็นงานทางมานุษยวิทยาหรือเปล่า ไม่เข้าใจว่านักมานุษยวิทยาไม่ลงสนามแล้วจะถือว่าทำงานมานุษยวิทยาได้ยังไง"
 
ผมมารู้ทีหลังว่า ตอนนั้นอาจารย์อคินกำลังพูดถึงวิทยานิพนธ์ปริญญาโท (ปี 2538) ของผม ที่ตอนหลัง "ฟ้าเดียวกัน" มาพิมพ์ให้ชื่อ "อ่านวัฒนธรรมชุมชน" (2548) แต่ตอนที่พูดถึงงานผมนั้น อาจารย์อคินท่านก็คงไม่ได้สนใจหรอกว่าผมทำวิทยานิพนธ์เรื่องอักษรไตในเวียดนามอยู่
 
ผมขอสารภาพว่าผมเฉยๆ กับงานเขียนเรื่องสลัมของอาจารย์อคิน เท่าที่รู้คือเป็นงานปริญญาเอกของท่าน ผมออกจะรู้สึกถึงกลิ่นอายแบบเจ้าอาณานิคมไปศึกษาคนพื้นเมืองในประเทศอาณานิคมด้วยซ้ำ เมื่อผมเข้ามาทำงานเรียนที่ธรรมศาสตร์น่ะ อาจารย์อคินออกจากธรรมศาสตร์ไปแล้ว ท่านออกไปตั้งแต่ปีแรกๆ ที่ผมมาเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์แล้วล่ะ แต่ชื่อท่านยังอยู่ที่รายชื่ออาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
 
อาจารย์อคินทิ้งมรดกไว้อย่างหนึ่งที่มันตกทอดมาสู่ผมโดยที่ท่านเองก็คงไม่สนใจหรอก ที่จริงมันก็ไม่ใช่มรดกของท่านหรอก เพราะมันเป็นครุภัณฑ์ คือโต๊ะทำงานไม้ ที่ตกทอดจากอาจารย์อคิน ไปยังอีกท่านที่เมื่อท่านนี้ย้ายไป พอผมเข้ามาทำงานหลังจบปริญญาโท โต๊ะตัวนั้นผมก็รับมาใช้ต่อ แล้วก็ยังใช้มาจนปัจจุบันนั่นแหละ
 
หนังสืออาจารย์อคินที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุด และทำให้ผม "ตาสว่าง" แล้วอย่างเป็นระบบในวิธีอ่านแบบของผมเองมานานแล้ว คือหนังสือที่เคยแปลกันในชื่อว่า "สังคมไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์" (2527 ต้นฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ปี 1969) ขณะนี้มี pdf ให้อ่านฟรีแล้ว (http://www.openbase.in.th/files/tbpj105.pdf) และมีสำนวนแปลใหม่ออกมาแล้ว (http://socanth.tu.ac.th/outreach/publication/saipin-tr-2560/)
 
ผมได้ยินหรือรู้มาจากไหนสักแห่งว่าอาจารย์อคินเขียนหนังสือเล่มนี้สมัยเรียนปริญญาโทใบที่สอง คือท่านไปเรียนปริญญาโทใบแรกในทางกฎหมาย ด้วยเพราะภาระในตระกูลแกคาดหวังแกอย่างนั้น แต่ภายหลังท่านย้ายไปเรียนมานุษยวิทยา แล้วใช้วิธีการทางกฎหมายประกอบกับมานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์ทำวิทยานิพนธ์ พูดอีกอย่างคือ นี่ก็ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ที่ใช้ฟิวว้งฟิวเวิร์คหรือเก็บข้อมูลภาคสนามอะไรที่ท่านมาคาดหวังคนรุ่นใหม่สักหน่อย แต่ก็เป็นงานที่มีค่ามากต่อวงวิชาการและความรู้ประวัติศาสตร์สังคมไทยกรุงเทพฯ
 
ที่เป็นงานที่มีค่าเพราะหนังสือเล่มนี้ช่วยให้เข้าใจโครงสร้างสังคมไทย หนังสือชี้ว่า สังคมไทยมีระบบระเบียบที่เคร่งครัด เข้มงวด เต็มไปด้วยลำดับชั้น และที่สำคัญคือ ช่วยให้เข้าใจว่า ใครที่เป็นกษัตริย์น่ะ คือคนที่คุมกำลังมากที่สุด แล้วระบบการสืบสันตติวงศ์น่ะ ที่ต้องเปลี่ยนในช่วงเดียวกับการเปลี่ยนระบอบการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เพื่อช่วยให้การสืบราชสมบัติราบรื่นขึ้นหลังการยกเลิกระบบไพร่นั่นแหละ แต่ผมก็ไม่คิดว่านั่นจะเป็นวัตถุประสงค์ที่อาจารย์อคินตั้งใจจะเผิดเผยให้เห็นไว้ตั้งแต่แรกหรอก
 
ผมไม่ได้มีส่วนร่วมงานกับอาจารย์อคินเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท งานช่วงนั้นอาจารย์ไปทำที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมจึงรู้จักท่านในบทบาทนี้เพียงผิวเผิน ภายหลังเมื่ออาจารย์เกษียณ ก็ได้ข่าวว่ามาทำงานที่สำนักงานทรัพย์สินฯ จัดการเรื่องพื้นที่ของคนจนในกรุงเทพฯ ผมก็ห่างๆ เพราะไม่ได้ทำเรื่องนี้อีกเช่นกัน
 
ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งเหลือง-แดง อาจารย์อคินหอบโครงการและรายชื่อ NGOs ผู้สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วงก่อนล้อมปราบคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ เข้าไปเสนอโครงการปฏิรูปประเทศไทยกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เข้าใจว่าไปคุยกันที่ราบ 11 ที่ผมรู้เพราะไปให้ข้อมูลงานวิจัยเรื่องคนเสื้อแดงที่ขณะนั้นผมเพิ่งเริ่มต้นทำ ในการประชุมของหน่วยงานหนึ่ง พร้อมกับที่อาจารย์อคินไปเสนอข้อมูลอีกมุมที่ที่ประชุมเดียวกัน แน่นอนว่าผมมีมุมมองที่ต่างไปจากอาจารย์อคินและสนับสนุนคนละแนวทางกับอาจารย์อคิน
 
จากนั้น ผมก็พอจะรู้ว่าอาจารย์อคินน่าจะเริ่มจำหน้า ชื่อ และทัศนะผมได้บ้างแล้วล่ะ แต่คราวนี้ท่านไม่ว่าผมไม่ลงฟิวด์ ไม่เก็บข้อมูลสนามแล้วล่ะ แต่ท่านไม่เห็นด้วยกับทัศนะทางการเมืองของผมอย่างรับไม่ได้ที่จะให้ผมร่วมงานด้วย ซึ่งผมก็คาดไว้อยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างนั้น เพียงแต่ก็อยากให้รู้ชัดๆ ว่าอะไรที่คิดว่าตนเองเข้าใจน่ะ เป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
 
งานวิชาการเล่มสุดท้ายที่สำคัญของอาจารย์อคินคือ "วัฒนธรรมคือความหมาย" (2551) ซึ่งเป็นการทบทวนงานเขียนของคลิฟเฟิร์ด เกิร์ซ (Clifford Geertz) ตั้งแต่งานยุคแรกๆ ถึงงานยุคหลัง ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างเพลิดเพลิน แต่ที่ลุ้นที่สุดคืออยากรู้ว่าท่านจะเขียนถึงบทที่ว่าด้วย "ความหมาย" หรือเกิร์ซยุคหลังจากที่เขาได้รับอิทธิพลของวรรณกรรมมากขึ้นแล้วอย่างไร
 
แล้วก็เป็นไปดังคาดไว้ อาจารย์อคินดูจะไม่ค่อย "อิน" กับงานของเกิร์ซยุคหลังนัก อ่านไปๆ ท่านคงเห็นเงาของนักเรียนมานุษยวิทยาที่เคยเดินตามหลังท่านมาเมื่อหลายปีก่อน ผมไม่โทษหรือดูเบาท่านหรอก เพราะมันคงประหลาดมากที่ในบั้นปลายชีวิต อาจารย์อคินผู้เคยทำงานในขนบแบบปฏิฐานนิยมมาโดยตลอด จะหันกลับมาให้ความสำคัญกับการตีความความหมายและวรรณกรรม เพียงแต่ผมก็ต้องคอยเตือนนักเรียนรุ่นหลังๆ ว่า หากจะใช้หนังสือเล่มนี้ ก็ใช้อย่างระมัดระวังว่ามันมีข้อจำกัดอยู่ที่ไหน เพราะผมมั่นใจว่า อาจารย์อคินไม่ได้อินนักกับสิ่งที่เรียกว่า "ความหมาย" ที่ติดอยู่บนชื่อหนังสือเล่มนี้เองนักหรอก
 
ใครสักคนที่ทำงานอย่างจริงจัง ทุ่มเทชีวิตให้กับสาธารณชนอย่างหนักหน่วงอย่างอาจารย์อคิน รพีพัฒน์ ก็จะต้องเป็นที่จดจำไปอีกนานแสนนาน เพียงแต่ผมคงไม่สามารถจำคนหลายคนได้แต่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ความอาลัยอย่างกระอักกระอ่วนที่ผมมีต่ออาจารย์อคินคงจะยังอยู่ต่อไปอีกนาน พร้อมๆ กับที่ผมจะระลึกถึงคุณูปการที่อาจารย์ส่งผ่านมายังคนรุ่นหลังรวมทั้งผม ผ่านการสร้างวิชามานุษยวิทยาในไทย และการฝากผลงานสำคัญๆ อย่างการศึกษาโครงสร้างสังคมไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง